ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยเดินทางมาถึงไตรมาสสุดท้ายอย่างเป็นทางการแล้ว ท่ามกลางผลกระทบที่มากมายที่เกิดขึ้นจากช่วงต้นปี นำทีมโดย COVID-19 ที่เขย่าภาพรวมของธุรกิจไปทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการเองก็ต้องเดินหน้าปรับแผนงานและเป้าหมายการจำหน่ายรถยนต์ของตัวเองลงมาอย่างต่อเนื่อง
จากการประเมินสถานการณ์ตลาดที่เท่ากับปีที่ผ่านมา 1 ล้านคัน มาจนถึงวันที่ทุกคนประเมินตัวเลขต่ำสุดที่ติดลบ 40% หรือมียอดจำหน่าย 6 แสนคันในปีนี้ แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นมาเล็กน้อย ก็มีการพยากรณ์กันอีกครั้งว่าตลาดรถยนต์ในประเทศไทยน่าจะหดตัวอยู่ที่ระดับ 30% หรือมียอดจำหน่ายที่ 7 แสนคันได้
เมื่อดูตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ที่นับถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 นั้น มีปริมาณการขายสะสมอยู่ที่ 448,006 คัน หรือหดตัวลดลงเหลือ 32.9% แต่ถ้าหากมองเฉพาะเดือนสิงหาคมก็หดตัวน้อยมากเพียง 12.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนคาดหวังว่าตลาดรถยนต์ในปีนี้น่าจะกลับมามีทิศทางที่ดีกว่าการคาดการณ์
เพราะโดยปกติแล้ว ตลาดรถยนต์ไตรมาสสุดท้ายนั้นถือเป็นฤดูขายอย่างจริงจังที่มียอดจำหน่ายสูงสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่น ๆ อีกทั้งยังมีการจัดงานแสดงรถยนต์ที่มียอดขายจำนวนมากทุกปี แถมในปีนี้ ยังมีงานที่เลื่อนมาจัดกันในช่วงปลายเดือนตุลาคมอีกงานเสียด้วย เรียกว่ามีปัจจัยที่เป็นบวกมารวมตัวกันอย่างคึกคัก
แต่แม้ว่า AutoFun Thailand จะอยากให้ตลาดรถยนต์กลับมาพลิกฟื้นให้มียอดจำหน่ายที่ลดลงน้อยที่สุดเพียงใด แต่ก็ขอบอกเลยว่าไม่ง่ายอย่างที่คิดหากจะติดปีกให้อุตสาหกรรมยานยนต์กลับมาบินสูง เพราะเอาจริง ๆ ค่ายรถเองก็กำลังเฝ้าประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในหลาย ๆ ประเด็นที่น่าสนใจเหมือนกัน
ยังหวั่นโควิด-19 ระลอกสอง - จบมาตรการพักชำระหนี้
ภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศไทยที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งนั้นเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าได้อย่างเข้มแข็ง เป็นหนึ่งในที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งทำให้รัฐบาลเองก็มีการผ่อนปรนให้กับหน่วยงานภาคธุรกิจต่าง ๆ กลับมาเดินหน้าทำธุรกิจได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่รายแรกในประเทศไทย สถานการณ์ความเสี่ยงจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการที่ประเทศไทยเริ่มกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้ยังไม่มีความสบายใจได้ 100% ว่าการควบคุมโรคของประเทศไทยจะสามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยมไปได้เหมือนช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หากสถานการณ์กลับสู่ภาวะเลวร้ายอีกครั้งหนึ่ง เกิดพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในประเทศไทย อันนำไปสู่การที่เราอาจจะต้องปิดประเทศ ออกมาตรการควบคุมอันเข้มงวด และแน่นอนว่าจะต้องส่งผลกระทบกับธุรกิจในภาพรวมอย่างแน่นอน หากต้องกลับไปปิดประเทศกันอย่างเคร่งครัดอีกครั้งหนึ่งในอนาคต
นอกจากนี้ อีกเรื่องที่เป็นปัจจัยที่หลายฝ่ายยังกังวลกันอยู่ก็คือการประกาศมาตรการพักชำระหนี้ที่กำลังจะหมดอายุลงในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ว่าจะส่งผลกระทบต่อปัญหาหนี้เสียตามมาหรือไม่ และจะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งได้หรือไม่ ซึ่งยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบอยู่
ขณะที่ค่ายรถเองนั้น แม้จะมีแผนงานมากมายสำหรับช่วงเวลาที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่น่าจะได้เห็นกันอย่างน้อยแน่ ๆ อีก 4-5 รุ่นในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงแผนการทำตลาดอัดโปรโมชั่นมากมาย แต่ก็น่าจะเป็นช่วงที่พวกเขานั้นลังเลและไม่สามารถทุ่มเทสรรพกำลังได้อย่างเต็มที่เหมือนที่ผ่านมา
เช็คความพร้อมผู้บริโภค - ความต้องการของตลาดอีกครั้ง
ถ้าลงไปดูในรายละเอียดของยอดการจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ จะพบว่ามีตัวเลขที่น่าสนใจมากมายหลายประการ ที่พอจะฉายให้เห็นภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการคาดการณ์สถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่อุตสาหกรรมตกอย่างรุนแรง
จากยอดขายที่หดตัวลงมา 32.9% ในช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคม หากลงไปดูในรายละเอียดก็จะพบว่า ตลาดรถยนต์นั่งนั้น หดตัวรุนแรงมากกว่า โดยมีการหดตัวถึง 40.7% ขณะที่ตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวไปเพียง 28.1% และหากดูย่อยลงไปถึงตลาดรถปิกอัพก็จะพบว่าหดตัวน้อยลงไปอีก โดยมีการหดตัวที่ 27.5% เท่านั้น
นั่นก็หมายความว่าการฟื้นตัวของตลาดในช่วงสามเดือนหลังจากการปิดประเทศจากปัญหาโรคระบาดนั้น ตลาดรถปิกอัพนั้นมีบทบาทอย่างมากในการฟื้นตัว ซึ่งผู้บริหารค่ายรถหลายคนเคยให้ความเห็นตรงกันแล้วว่า เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ตลาดรถเชิงพาณิชย์มักจะฟื้นตัวก่อน เนื่องจากผู้บริโภคต้องนำไปทำมาหากิน
ขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งนั้นยังไม่ได้เป็นตลาดที่จำเป็นมากนัก แม้ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่มีราคาถูกจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นก็ตาม จากการที่ผู้บริโภคหลายคนเลือกที่จะใช้งานรถยนต์มากกว่าการใช้บริการขนส่งสาธารณะ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ แต่เมื่อหักลบกับความต้องการในการเก็บเงินไว้ก่อน ทำให้ตลาดยังหดตัวต่อไป
ถ้าวัดจากตัวเลขยอดขายตอนนี้ บอกเลยว่าโอกาสที่จะไปถึงเป้าหมาย 6 แสนคันในปีนี้ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพราะดูตัวเลขยอดจำหน่ายรายเดือนที่เพิ่มขึ้นมาก็ยังสามารถไปกันได้ แต่หากมองเป้าหมายไปที่ 7 แสนคันจริง ๆ ก็ต้องบอกว่ามีปัจจัยมากมายที่อาจจะทำให้ตัวเลขไปไม่ถึงฝั่งฝัน โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภคนั่นเอง
เช็คลิสต์รถใหม่ กระบะ-เก๋ง มีให้เลือกพอสมควร
ถ้าถามว่ามีรถอะไรที่เตรียมตัวจะเปิดตัวกันบ้างในช่วงที่เหลือของปีนี้ เราเคยทำบทความเกี่ยวกับรถใหม่ที่จะเปิดตัวไปแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่ยังไม่ชัดเจน แน่นอนว่าค่ายรถบางค่ายอาจจะเลื่อนการเปิดตัวรถออกไปก่อน หรือถ้ายังมีปัญหาเรื่องการเคลียร์สต็อกรุ่นเดิมไม่เสร็จสิ้น ก็คงยากที่จะเปิดตัวรถรุ่นใหม่เข้ามาได้
เดิมทีนั้น ในไตรมาสสุดท้ายจะต้องมีรถกระบะรุ่นใหม่ล่าสุดเปิดตัวออกมาท้าชิงตลาดในประเทศไทย และมีการยืนยันออกมาแล้ว 1 รุ่นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ขณะที่อีกรุ่นนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะเอาอย่างไร แม้จะมีการอัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายรุ่นปัจจุบันแล้ว ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมาจากค่ายว่าจะทำอะไรต่อ
กลุ่มตลาดรถยนต์ดัดแปลงบนพื้นฐานรถกระบะ ก็อาจจะมีเซอร์ไพร์สกันได้ในช่วงต้นเดือนหน้าเช่นเดียวกัน รวมถึงกลุ่มยานยนต์พลังงานทางเลือก ที่มีรถเอนกประสงค์เอสยูวี ที่มาพร้อมระบบปลั๊กอิน ไฮบริด ที่จะเปิดตัว 2 รุ่นในประเทศ ก็มีการยืนยันการเปิดตัวรุ่นแรกในปลายเดือนนี้ ส่วนอีกรุ่นก็ยังแทงกั๊กอยู่ว่าจะมาทันปีนี้หรือไม่
ไล่ไปที่ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ที่หลายคนรอคอยรถยนต์อีโคคาร์ แฮชท์แบ็ครุ่นใหม่ล่าสุดนั้น ดูเหมือนว่าข่าวคราวจะดูเงียบเหงาไปสักหน่อย แต่เท่าที่เราเช็คมาล่าสุดนั้น ก็ไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาดกับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงปีนี้อย่างแน่นอน แต่ก็ช้าเกินไปกว่าที่จะเรียกยอดจำหน่ายเป็นกอบเป็นกำกู้หน้าตลาดรถยนต์นั่งได้
จะเห็นว่าในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ ไม่ได้มีสินค้าอะไรที่จะมาเรียกยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำกันสักเท่าไรนัก ถ้าเทียบกับตัวสินค้าที่เปิดตัวไปในช่วงก่อนหน้านี้ ก็ยังน่าสนใจกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น หากหวังว่ารถยนต์รุ่นใหม่ ๆ จะช่วยผลักดันตลาดในช่วงที่เหลือของปีได้ ก็คงต้องบอกว่าเสียใจด้วยกับเรื่องนี้่จริง ๆ
GolF ก็ว่า... ปีนี้เป็นปีที่ตลาดเหนื่อยที่สุดจริง ๆ
ผมเคยสอบถามผู้บริหารหลายคนเกี่ยวกับสถานการณ์ในปีนี้ บางคนก็ยังทำใจดีสู้เสือบอกว่าตลาดมันยากลำบาก แต่ก็ต้องสู้กันต่อไป แต่หลายคนเลยที่ยอมรับว่าปีนี้เหนื่อยหนักมากกว่าที่ผ่านมา เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมันเกิดขึ้นรอบโลก ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างตามมา และแน่นอนว่าทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่
จะเปิดตัวสินค้าใหม่อย่างใหญ่โตเหมือนแต่ก่อนก็ทำไม่ได้ จะทุ่มงบประมาณจัดโปรโมชั่นแคมเปญกันอย่างรุนแรง ก็ไม่แน่ใจว่าผู้บริโภคนั้นจะยอมควักกระเป๋ากันหรือไม่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร แม้จะมีเงินอยู่ในกระเป๋า แต่ถ้าไม่เกิดความจำเป็นหรือความมั่นใจจริง ๆ ผู้บริโภคยุคนี้ควักกระเป๋ายากขึ้นอย่างชัดเจน
เพราะฉะนั้นก็ไม่แปลกใจอะไร ที่บางทีก็ดูเหมือนผู้ผลิตเองก็ดูเนือย ๆ ไปบ้าง จากปัญหาหลาย ๆ อย่าง งบก็โดนตัด สินค้าบางตัวก็โดนเลื่อน แถมการแข่งขันก็รุนแรงซะเหลือเกินจนบางทีก็รู้สึกไม่คุ้มค่าที่จะแข่งขัน ขณะที่ฟากผู้บริโภคนั้นหรอ ทุ่มเทขนาดไหนก็ตาม ท้ายสุดก็ซื้อยากขึ้นเหมือนกันด้วยสถานการณ์ในภาพรวมบีบบังคับ
เอาเป็นว่าปีนี้เหนื่อยกันไปให้สุดปี ปีหน้าเป็นไงว่ากันอีกทีละกัน...