ปัญหาของผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทุกคนในประเทศไทยตอนนี้ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการชาร์จไฟฟ้าให้กับรถ ว่าจะไปเสียบไฟบ้านดี หรือไปชาร์จตามสถานีประจุไฟที่ให้บริการมากมาย ทั้งของรัฐบาลและเอกชน ซึ่งก็มีให้เลือกใช้กันอย่างหลากหลายพอสมควร
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสถานที่ชาร์จไฟแล้ว ก็ยังต้องกังวลในเรื่องของความเร็วในการปล่อยกระแสไฟเพื่อชาร์จรถอีก หลาย ๆ คนคงมีประสบการณ์ชาร์จรถทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง ได้กระแสไฟมายังไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เป็นเพราะผู้ให้บริการปล่อยกระแสไฟน้อยมาก
แน่นอนครับว่าปัญหานี้ผมก็ประสบเช่นเดียวกัน ตอนที่เอา Nissan Leaf (นิสสัน ลีฟ) มาทำการทดสอบ แม้ตัวรถจะมีระยะทางวิ่งเมื่อชาร์จเต็มมากกว่า 250 กิโลเมตรก็ตาม แต่โดยปกติ คนที่ใช้รถประมาณมากกว่า 100 กิโลเมตรทุกวันอย่างผม มีไฟให้ชาร์จไว้น่าจะปลอดภัยกว่า
นิสสัน ลีฟนั้นไม่ได้ให้สายไฟที่ชาร์จกับไฟบ้านมาด้วยสำหรับรถทดสอบ เพราะปัญหาในเรื่องของความพร้อมของกระแสไฟที่บ้าน หากไม่พร้อมจริงก็อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทางเดียวที่เราจะชาร์จมันได้ ก็คือการหาที่ชาร์จไฟสาธารณะ ซึ่งโชคดีมากที่แถวบ้านผมมีในห้างเลย
ปัญหาก็คือ การชาร์จไฟในห้างที่เปิดให้ชาร์จได้ 2 ชั่วโมงนั้น สามารถเติมไฟให้กับลีฟได้ราว ๆ 15% เท่านั้นเอง หมายถึงผมสามารถยืดระยะวิ่งออกไปได้อีกนิดหน่อย ทำให้ผมต้องคิดว่าจะทำอย่างไร เพราะยังต้องใช้รถอีกหลายวัน และต้องวิ่งไปนั่นนี่นู่นมากมายหลายอย่าง
EGAT คือทางออกที่น่าสนใจ
พอดีผมจำได้ว่ามีเพื่อนผมคนนึงทำงานการไฟฟ้า แต่จำไม่ได้ด้วยว่าทำการไฟฟ้าไหน แถมยังเบลอ ๆ จะโทรไปขอใช้สถานีชาร์จของการไฟฟ้านครหลวงแถวบ้าน แต่ปรากฎว่าเพื่อนผมอยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ EGAT ที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักกันดี โดยมีสำนักใหญ่อยู่ย่านบางกรวย
สอบถามได้ใจความว่า ถ้าจะชาร์จไฟแบบสะดวกที่สุดก็คงต้องหนีไม่พ้นที่ศูนย์การเรียนรู้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งเป็นที่รวมของสถานีชาร์จไฟฟ้าแรงสูง เปิดให้บริการกับรถยนต์ทั่วไป และที่สำคัญก็คือตอนนี้ชาร์จได้ฟรี เพราะถือเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ของอีแกตเช่นเดียวกัน
นั่งคำนวนระยะทางที่เหลือของรถสามารถวิ่งไปถึงอีแกต บางกรวย ได้สบาย ๆ แต่ปัญหาคือไปถึงแล้วถ้าชาร์จช้าหรือมีปัญหานี่ คงต้องถึงกับดรอปรถกันเลยทีเดียว แต่ไม่มีทางเลือกอื่น ก็เลยต้องขับรถมุ่งหน้าไปที่นั่น เปิด GPS มากันได้เลยครับ ระบุตำแหน่งเอาไว้อย่างชัดเจนไม่มีหลงทาง
นอกจากชาร์จไวแล้ว ยังมีให้ชาร์จเยอะด้วย
ขับมาถึงศูนย์การเรียนรู้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแล้ว กดกระจกบอกพี่ยามว่า 'ขอชาร์จไฟหน่อยครับ' พี่ยามจะถามกลับมาว่ามีบัตรไหมครับ ซึ่งหมายถึงบัตรสำหรับการชาร์จไฟนะครับ ถ้ามีก็ใช้ของตัวเอง ถ้าไม่มีก็บอกไป เดี๋ยวพี่ยามจะเดินตามมาเพื่อแตะบัตรให้ เรียกว่าพร้อมบริการอย่างเต็มที่
หลัก ๆ แล้วตู้ชาร์จไฟในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ถือว่าหลากหลายและมีความพร้อมมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีตู้ที่ผมเห็น 3 ตู้ ปล่อยกระแสไฟ 90, 50 และ 22 กิโลวัตต์ตามลำดับ หัวชาร์จมีให้เลือกครบทุกไทป์ไปยัง Chademo ซึ่งเป็นหัวชาร์จของลีฟ หรือ Type-II ของ MG ZS EV (เอ็มจี แซดเอส อีวี) ก็มี
ปกติแล้วที่ตู้ที่แรงสุด 90 kW นั้นจะใช้ในการชาร์จรถบัสไฟฟ้าเป็นหลัก แต่หากว่างอยู่ แซดเอส อีวี สามารถเข้าไปใช้บริการได้ ส่วนลีฟของผมนั้น ใช้ได้สองตู้ที่เหลือ เราก็เลยไปจ่อ ๆ ที่ตู้ 50 kW ที่มีพี่แซดเอส อีวี จอดใช้อยู่ก่อนหน้า และเราก็ได้ลองใช้สถานีชาร์จกันทุกแบบ
เจ้าหน้าที่สนใจ เรียนรู้ และพร้อมให้ความช่วยเหลือ
เอาจริง ๆ ต้องบอกว่าการเอานิสสัน ลีฟ ไปชาร์จ ทำให้ได้พบกับความน่ารักของเจ้าหน้าที่ในศูนย์แห่งนี้ เพราะว่าอย่างที่บอกว่าเราต้องไปต่อคิวรอพี่แซดเอส แต่ในตอนแรกก็เข้าใจว่ามันน่าจะชาร์จไฟพร้อมกันได้นี่หน่า ก็เลยพยายามที่จะเสียบที่ชาร์จแล้วแตะบัตรเพื่อชาร์จไฟให้ได้
ผลปรากฎว่าทำไม่ได้ เพราะระบบไม่ยอมชาร์จไฟ ในที่สุดก็เลยต้องรบกวนเจ้าหน้าที่ของศูนย์มาให้คำปรึกษา ลองแตะบัตรกันไปมา ปรากฎว่านิสสัน ลีฟ ชาร์จได้ แต่... มันไปตัดไปของที่ชาร์จเอ็มจีออกล่ะ แล้วที่สำคัญก็คือ ไม่สามารถกลับไปชาร์จให้พี่เขาได้เสียด้วย เรียกว่าชาร์จติดแล้วยาวเลย
ปาดเหงื่ออยู่สองที เตรียมตัวจะเดินไปขอโทษพี่เจ้าของเอ็มจี แต่พี่เขาก็น่ารักครับ อารมณ์เย็นเหมือนกับเข้าใจคนใช้งานรถไฟฟ้าด้วยกัน แถมเลื่อนไปชาร์จไฟต่อที่ตู้เล็ก และปล่อยให้นิสสัน ลีฟ ยึดตู้ชาร์จใหญ่ไป ท่ามกลางการเรียนรู้ซึ่งกันและกันของเจ้าหน้าที่และเจ้าของรถมือใหม่
ตรวจสอบสถานะการชาร์จผ่านแอพพลิเคชั่น
การตรวจสอบสถานะการชาร์จไฟก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย ผ่านแอพพลิเคชั่นของรถยนต์เองหรือแอพพลิเคชั่นของสถานีชาร์จ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการปล่อยกระแสไฟ ระยะเวลาที่ต้องชาร์จและอื่น ๆ อีกมากมาย หรือจะเดินมาดูที่รถ ถือบัตรมาแตะที่ตู้ ก็จะได้เห็นข้อมูลที่จำเป็นเหมือนกัน
ระบบการชาร์จของรถยนต์ไฟฟ้านั้นจะคล้าย ๆ กับระบบโทรศัพท์มือถือ คือหากแบตเตอรี่เหลือน้อยมาก การชาร์จไฟจะทำได้เร็ว คือชาร์จอย่างเต็มที่เท่าที่ตู้จะปล่อยไฟไหว และเมื่อแบตเตอรี่ชาร์ตถึงระยะประมาณ 80% ก็จะค่อย ๆ ลดการปล่อยไฟลง แต่ตู้ที่นี้ไม่ตัดนะครับ ชาร์จ 100% สบาย ๆ
ตอนที่นิสสัน ลีฟ เข้าไปครั้งแรกนั้น จากแบตเตอรี่ 65% ชาร์จถึง 100% ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อชาร์จไฟเต็มแล้ว ระบบจะตัดไฟเอง เพื่อให้ผู้ใช้รถท่านอื่นสามารถมาใช้บริการได้ต่อ ขณะที่การชาร์จอีกครั้งเมื่อแบตเตอรี่เหลือ 35% ก็ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้นที่สถานีแห่งนี้
EGAT ยังเดินหน้าเตรียมความพร้อมสถานีชาร์จ
การใช้สถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ฟรี 2 ครั้งที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสยืนคุยกับเจ้าหน้าที่หลายคน เกี่ยวกับคาวมต้องการของอีแกตในการเป็นผู้ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ในอนาคต ซึ่งพวกเขาอยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการนี้มาได้สักระยะ
สิ่งที่เจอถือเป็นประสบการณ์ก็คือการทำให้สถานีชาร์จสามารถให้บริการลูกค้าทุกคนได้อย่างหลากหลายที่สุด เพราะรถยนต์ไฟฟ้าหลาย ๆ รุ่นเริ่มเปิดตัวทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น บางครั้งหากเป็นรถยนต์รุ่นใหม่มาก ๆ ก็เป็นไปได้ที่สถานีชาร์จอาจจะต้องทำการอัพเดตเพื่อรู้จักกับรถเสียก่อน
นอกจากการเปิดให้บริการฟรีแล้ว ผู้ที่สนใจจะนำรถยนต์เข้ามาชาร์จ แต่ไม่อยากรบกวนเจ้าหน้าที่ให้เดินมาแตะบัตรให้ สามารถเข้าไปที่เวบไซต์ของ EGAT เพื่อทำการสมัครบัตรประจำตัวสำหรับผู้ใช้สถานีชาร์จไฟได้ฟรี เสียเวลากรอกข้อมูลประมาณ 5 นาที แล้วก็นั่งรอรับบัตรที่บ้านเฉย ๆ ได้เลย
แล้วรอชาร์จไฟ 2 ชั่วโมงทำอะไรดี
จริง ๆ แล้วนอกจากการชาร์จไฟให้กับรถไฟฟ้าแล้ว สถานีชาร์จดังกล่าวยังสามารถใช้กับรถยนต์ปลัํกอินไฮบริด (PHEV) ได้เช่นเดียวกัน โดยผมเห็นรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดหลาย ๆ คัน มาจอดเสียบปลั๊กชาร์จไฟ แล้วทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น แต่งหน้า ทานอาหาร เปิดคอมพิวเตอร์ทำงานกันก็มี
นอกเหนือจากเป็นศูนย์การเรียนรู้และสถานีชาร์จไฟแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งสามารถพาครอบครัวจูงลูกหลานมาเยี่ยมชมกันได้ โดยมีเจ้าหน้าที่นำชมกันอย่างละเอียดระหว่างรอชาร์จไฟ หรือจะตั้งใจมาก็ได้ พิพิธภัณฑ์นั้นปิดวันจันทร์
หรือหากเป็นสายแอคทีฟ เตรียมชุดวิ่งรองเท้ากีฬามาก็ได้ เพราะสวนรอบ ๆ ที่มีทางทะลุไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ก็น่าจะมีบรรยากาศที่ดีในการออกกำลังกาย แถมการออกแบบจัดการอาคารที่นี่เน้นเรื่องทิศทางลมอย่างดี เอาเป็นว่าถ้าไปเจอผมวิ่ง ๆ เดิน ๆ อยู่แถวนั้น ก็มาทักทายกันได้นะครับ
ส่วนใครอยากรู้ว่า Nissan Leaf นั้นใช้งานเป็นอย่างไร โปรดรอสักครู่...