ตลาดรถยนต์นั่งในประเทศไทยในปี 2563 นั้น แม้จะมีการคาดการณ์ออกมาว่าตลาดรวมน่าจะทำได้ที่ระดับ 2.251 แสนคัน หรือหดตัว 43.5% ซึ่งถือเป็นการหดตัวที่ต่อเนื่องรุนแรงกว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่หดตัวไปแล้ว 42% ทำให้มีการคาดการณ์ว่าเหล่าผู้ประกอบการในประเทศไทยจะหมดแรงแข่งขัน ท้อแท้กันไปเสียก่อน
เพราะจริง ๆ แล้ว ตลาดรถยนต์นั่งและรถประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รถยนต์เชิงพาณิชย์นั้น ได้รับผลกระทบจากการซบเซาของเศรษฐกิจ ที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากการแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่า ทำให้ตลาดในประเทศไทยและตลาดส่งออก ต่างก็ได้รับผลกระทบตามกันมาเป็นลูกโซ่ และก็ไม่แน่ใจว่าจะกลับสู่ภาวะปกติกันเมื่อใด
แต่เอาจริง ๆ แล้ว เราก็ยังเชื่อมั่นว่าค่ายรถคงไม่ยอมท้อแท้กันง่าย ๆ เพราะว่าการรักษาโมเมนตัมของตลาดเอาไว้ให้คงอยู่ถึงยามที่ตลาดกลับมาสดใสอีกครั้งเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ใครที่คิดจะถอดใจกันง่าย ๆ ก็อาจจะอาการหนักถึงขั้นต้องเก็บของกลับบ้านกันไปก่อน เพียงแต่การเลือกใช้และปล่อยอาวุธนั้นอาจจะต้องรัดกุมกันมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี
เมื่องานแสดงรถยนต์ทั้งหมดยังประกาศเดินหน้าจัดกันอีก 3 งานในปีนี้แบบไม่มีใครยอมหลบให้ใคร สถานการณ์ในประเทศก็มีตัวเลขที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในเดือนมิถุนายน ท่ามกลางความตึงเครียดของผู้ประกอบการทางด้านการเงินว่าจะปล่อยสินเชื่อดีหรือไม่ ถือเป็นความพยายามของผู้ขายที่ต้องเร่งเครื่องขายกันต่อไป แม้อะไร ๆ จะยังไม่เอื้ออำนวย
และแน่นอนว่าตัวแปรหลักอย่างค่ายรถทุกรายนั้น พวกเขามีความพร้อมที่จะเดินหน้าผลักดันตลาดอย่างแน่นอน ทั้งในเรื่องตัวสินค้าใหม่ที่จ่อเปิดตัวกันอีกหลายรุ่นในปีนี้ หรือแม้แต่แคมเปญ โปรโมชั่นต่าง ๆ ที่แน่นอนว่ายังจัดกันอย่างเต็มที่แบบไม่มีโอกาสให้หายใจหายคอ ซึ่งหากใครมีความต้องการและความสามารถที่จะซื้อรถในช่วงนี้ บอกเลยว่าเป็นโอกาสทองของคุณเลยนะ
ย้อนชมตลาดครึ่งปีแรก เจ็บหนักกันถ้วนหน้า
การมาถึงของไวรัสโคโรน่าในประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ และเริ่มทวีความรุนแรงในเดือนมีนาคม ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งเรื่องการผลิต การจำหน่ายและการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นตลาดนับตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมเป็นอย่างมาก อย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้ กว่ามอเตอร์โชว์จะจัดได้นั้น ยังเกิดอาการเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ลุ้นกันแทบตายว่าจะได้จัดไหม
ตลาดรวมทั้งหมดที่ทำไปได้ 328,604 คัน ตามการรายงานยอดจำหน่ายของโตโยต้า ที่หดตัวไป 37.3% นั้น หากไปดูในรายละเอียดการรานงานในแบบของโตโยต้า ที่มีการนำรถบาประเภทข้ามไปอยู่ในรถเชิงพาณิย์ ก็จะพบว่าแค่ส่วนของตลาดรถยนต์นั่งเพียว ๆ นั้น มีการหดตัวมากกว่าตลาดที่ 42% หรือมียอดขายรวมแค่ 119,716 คันเท่านั้น
ฮอนด้านั้นนำโด่งมาในตลาดรถยนต์นั่งตามการรายงานของโตโยต้า โดยพวกเขามียอดขายในช่วงครึ่งปีแรก 34,518 คัน หดตัวไป 29.4% อันนี้ไม่รวมยอดของ Honda CR-V ที่อยู่ในรถเชิงพาณิชย์อีก 6,808 คัน ขณะที่โตโยต้ามียอดขายไป 29,926 คัน หดตัวไป 50.4% อันนี้ก็ไนรวมยอดของ Toyota Fortuner อีก 6,643 คันเช่นเดียวกัน
ถ้าถามว่าในกลุ่มรถยนต์นั่งค่ายญี่ปุ่นนั้น ใครหดตัวน้อยที่สุด ถ้าให้ทายจะเดากันออกไหมว่าได้แก่ค่ายซูซูกิ ที่มียอดขายไป 9,783 คัน หดตัวไปเพียง 10.8% เท่านั้น เป็นผลมาจากยอดขายอันยอดเยี่ยมของ Suzuki Celerio ขณะที่ผู้ที่หดตัวมากที่สุดได้แก่ค่ายปีกบินมาสด้า ที่มียอดขายไปเพียง 10,605 คัน หรือหดตัวไป 58.9% นั่นเอง
และหากมองไปที่ค่ายรถฝั่งที่ไม่ใช่รถญี่ปุ่นกันบ้าง บีเอ็มดับเบิลยูนั้นสามารถประคองยอดขายได้ดี โดยมียอดขายไป 4,128 คัน หดตัวไป 24.6% ทำให้พวกเขาเป็นผู้นำตลาดรถยนต์หรูหราในครึ่งปีแรก โดยเอาชนะเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่มียอดขาย 3,981 คัน หดตัว 45.4% คนที่หดตัวเยอะที่สุดก็คงเป็นฮุนได ที่ในปีนี้พวกเขายังขายไม่ได้เลยแม้แต่คันเดียว
ตลาดรถยนต์นั่งครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร
กลับไปดูที่รายงานของโตโยต้าอย่างต่อเนื่อง จะพบว่าโตโยต้าประเมินภาพรวมตลาดรถยนต์นั่งในปีนี้เอาไว้ที่ 225,100 คัน จากตลาดรวมที่ประเมินไว้ 6.6 แสนคัน นั่นก็หมายความว่าโตโยต้าประเมินว่าตลาดรถยนต์นั่งจะหดตัวเพิ่มเติมเป็น 43.5% เมื่อถึงสิ้นปีนี้ เมื่อเทียบกับตลาดรวมที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเหลือหดตัว 34.5% เท่านั้น
ถ้าจะมีใครที่หนักหนากว่าตลาดก็คงจะเป็นตัวของโตโยต้าเอง ที่แม้พวกเขาจะมีสินค้าใหม่เอี่ยมอย่าง Toyota Corolla Cross ที่ผมไม่แน่ใจจริง ๆ ว่าโตโยต้านับยอดรถรุ่นนี้เป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์เชิงพาณิชย์ แต่สถานการณ์ในภาพรวมนั้นคงแย่จริง เพราะโตโยต้านั้นประเมินตัวเองหดตัวมากกว่าตลาดที่ 46.6% หรือมียอดขาย 6.28 หมื่นคันเท่านั้น
งานนี้ค่ายฮอนด้าเองที่ประกาศว่ายอดจำหน่ายตัวเองจะลดลงต่ำกว่า 1 แสนคันเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ ไปเหลือที่ 9.5 หมื่นคันหรือหดตัว 25% ตามการนับตัวเลขของฮอนด้าที่พวกเขาไม่มีรถเชิงพาณิชย์ โดยตัวความหวังอย่าง Honda City นั้นดูโดดเด่นและเป็นความหวังของหมู่บ้านในช่วงเวลาที่เหลือของปีเพื่อให้ทำได้ตามเป้าหมาย
ยังมีสินค้าใหม่ให้ลุ้นยอดขายกันไตรมาส 4
แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดออกมาแต่อย่างใด แต่ดูเหมือนว่าไตรมาส 3 ของปีนี้ จะไม่มีการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ ๆ ที่เป็นที่นิยมมาก ๆ ออกมา ด้วยเหตุผลหลายอย่าง หนึ่ง ยังไม่ถึงช่วงเวลาที่จำเป็นจะต้องเปิดตัวจริง ๆ สอง สถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวยให้เปิดตัวสินค้าใหม่ และประเด็นสุดท้าย ทุกค่ายต่างก็ต้องการเวลาจัดการปัญหาสต๊อกสินค้าของตัวเองกันบ้าง
ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีก รถยนต์ที่ยืนยันมาแล้วว่าจะเปิดตัวอย่างแน่นอนก็คือ Mitsubishi Outlander PHEV รถเอสยูวีพลังงานปลั๊กอินไฮบริดจากค่ายมิตซูบิชิ ที่ทั้งวิ่งทดสอบและเตรียมการประกอบมานานโข แต่ก็คงคาดหวังยอดขายมากระตุ้นตลาดเป็นกอบเป็นกำไม่ได้ และหวังว่าจะโดนโรคเลื่อนจาก 'ปีงบประมาณ' ที่ลากยาวไปถึงมีนาคมปีหน้าได้
สองค่ายยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้าและฮอนด้า ก็มีข่าวลือเรื่องการเปิดตัวสินค้าใหม่เหมือนกัน และพวกเขาก็ยืนยันจนถึงบัดนี้ ว่ารถยนต์รุ่นใหม่จะลงตลาดตามเวลาที่กำหนด ซึ่งตามที่เราเข้าใจก็คือในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เราน่าจะได้เห็น Honda City Hatchback และ Toyota Yaris ATIV รุ่นปรับโฉม มาเปิดตัวแข่งกันให้ตลาดคึกคักเพิ่มยอดขายในมอเตอร์ เอ็กซ์โป อย่างแน่นอน
การแข่งขันที่รุนแรงด้วยเงื่อนไขที่ดุเดือดขึ้น
สิ่งที่ค่ายรถทุกค่ายมักจะพูดเสมอเวลาที่เราถามถึงสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังก็คือ 'แม้ทุกอย่างจะดูดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน' และตราบใดที่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ก็หมายความว่าค่ายรถเองก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนแผนงานของพวกเขาได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ หรือแม้แต่การเปิดตัวรถใหม่ที่วางแผนกันมา ก็อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
สิ่งที่พอจะสร้างความหวังให้กับตลาดรถยนต์นั่งได้บ้างก็คงจะเป็นการหดตัวที่ลดลงในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะไม่มาก แต่ก็พอจะจุดไฟให้ได้ว่า ยังมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรถยนต์นั่งอยู่อย่างแน่นอน เพียงแต่การเข้าไปจับกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ อาจจะต้องมีความชัดเจนมากขึ้น ความต้องการของลูกค้าแม้จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของตลาด แต่ก็เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นเกินไปนัก
หากแยกสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้ออกจากสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ ก็มั่นใจว่าค่ายรถเองพร้อมเดินหน้ากันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวสินค้าใหม่ การเตรียมความพร้อมของศูนย์บริการ หรือแม้แต่การจัดแคมเปญโปรโมชั่นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ แม้หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าเป็นช่วงเวลาไม่เหมาะสม แต่บอกเลยว่าตลาดรถยนต์ไทยนั้น ขับเคลื่อนด้วยแคมเปญโปรโมชั่นอยู่แล้ว
ปัจจัยภายนอกที่ต้องจับตาเป็นอย่างมากก็คือเรื่องของสถานการณ์ COVID-19 เอง ที่แม้ประเทศไทยจะควบคุมได้เป็นอย่างดี แต่ในตลาดโลกก็ยังทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของหนี้เสียที่มีแนวโน้มพุ่งขึ้นสูง ทำให้ความตึงเครียดของผู้ประกอบการธุรกิจการเงินจะทวีเพิ่มขึ้นไปด้วย และแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่ออัตราการปล่อยสินเชื่อที่จะลดลงเช่นกันในช่วงที่เหลือของปี
ตลาดรถยนต์นั่งในปีนี้ กลายเป็นตลาดที่มีความชัดเจนมากขึ้น รถยนต์กลุ่มที่มีความคุ้มค่า ตอบสนองกับผู้คนในช่วงโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าแมสหรือเฉพาะกลุ่ม ก็จะมียอดขายที่หดตัวน้อยกว่าตลาด แต่กลุ่มที่กว้านจับลูกค้าแบบทั่วไป ก็คงเหนื่อยแน่นอนล่ะในปีนี้
แม้จะเป็นปีที่เหนื่อย แต่ก็หวังว่าจะได้เห็นการดิ้นรนที่สนุกสนานจากค่ายรถทุกรายนะ