Toyota C-HR (โตโยต้า ซี-เอชอาร์) ถือว่าเป็นรถคอมแพ็คครอสโอเวอร์ที่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการถ่ายทอดรถคอนเส็ปท์มายังรถที่ผลิตจริงได้ดีคันหนึ่ง
C-HR อาจถือว่าเป็นหนึ่งในครั้งที่โตโยต้า “เอาจริง” ในด้านดีไซน์ และยังส่งต่อไปยังโตโยต้ารุ่นต่อ ๆ ไปอีกด้วย
C-HR concept ในปี 2014
เปิดตัว C-HR concept ในปี 2014
Toyota C-HR เริ่มต้นในปี 2014 จากการเปิดตัวรถต้นแบบ C-HR concept ที่ Paris Motor Show ผู้คนต่างไม่เชื่อมั่นว่ารถคันนี้จะสามารถผลิตจำหน่ายจริงได้ ด้วยความที่เป็นรถคอมแพ็คครอสโอเวอร์ทรงคูเป้และมี 2 ประตู
โตโยต้าเปิดตัว C-HR concept มาเพื่อถามแก่ผู้คนว่าจะมีพื้นที่ในตลาดเพียงพอให้กับรถคันนี้ไหม แต่ในตอนนั้น เส้นทางของการทำให้รถต้นแบบให้กลายเป็นรถที่ผลิตจริงเพิ่งจะเริ่มขึ้น…
C-HR concept ในปี 2015 มีประตูเพิ่มมาอีก 2 บาน
เพิ่มประตูมา 2 บาน
ถัดมาในปี 2015 ณ Frankfurt Motor Show โตโยต้าลองจัดแสดง C-HR concept อีกครั้ง แต่เป็นเวอร์ชั่น 4 ประตู ซึ่งในตอนนั้นได้ผลตอบรับอย่างดี อาจเพราะในตอนนั้น รถรุ่นอื่นของโตโยต้าต่างมีดีไซน์ที่ใกล้เคียงกับรถต้นแบบแล้ว สังเกตได้จากไฟหน้าที่ดูคล้ายกัน
ทำให้ C-HR concept ไม่ได้ดูแปลกแยกอีกแล้ว
รู้จัก C-HR
C-HR ย่อมาจาก Compact High Rider หรือ Coupe High Rider มีการออกแบบที่ฉีกจากรูปแบบเดิม ๆ ของโตโยต้า ด้านหน้ามีเส้นสายที่ซับซ้อน กันชนด้านหน้าที่รวมกับช่องดักลมด้านล่าง(ที่มาของหน้าบึ้ง?)
ช่องลมด้านซ้าย-ขวาพร้อมไฟเดย์ไลท์ และกระจังหน้าด้านบนที่เป็นเส้นเดียวกับไฟหน้าที่มีโลโก้ของแบรนด์ติดอยู่
ถ้าเราลองมาสังเกตที่เส้นสายด้านข้าง เราจะเห็นเส้นสายที่เหมือนรถแฮทช์แบ็คมากกว่าเอสยูวี บวกกับอัตราส่วนของกระจกที่ดูแคบกว่ารถทั่วไป
เส้นกระจกด้านหลังที่ลาดเอียงจนรู้สึกว่าเป็นรถสปอร์ตมากกว่าครอสโอเวอร์ พื้นที่กระจกด้านข้างที่สั้น ทำให้เสา C ดูใหญ่เหมือนรถคูเป้ แต่ใครจะสนใจในเรื่องทัศนวิสัยในเมื่อตอนนั้นมันยังเป็นรถต้นแบบอยู่
C-HR concept ในเวอร์ชั่นปี 2015 : คูเป้ 4 ประตู
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า C-HR concept ในเวอร์ชั่นปี 2015 จะเป็นคูเป้ 4 ประตู (ถ้านับประตูท้ายด้วยก็ 5 ประตู) จากดีไซน์ด้านข้างเราอาจสังเกตยากว่ามันมีประตูหลังอยู่ด้วย เพราะมันได้กลมกลืนไปกับเส้นสายของตัวรถไปแล้ว
แต่หลายคนก็อาจจะยังคิดว่านั่นเป็นเพราะมันเป็นรถต้นแบบ แต่พอมาเวอร์ชั่นผลิตจริงกลับไม่ละทิ้งดีไซน์นี้ออกไป อาจเปลี่ยนไปแค่พื้นที่ของกระจกหลังที่มีเพิ่มขึ้นและเส้นสายที่ดุดันน้อยลงจากรถต้นแบบ ทำให้ผู้คนสนใจ C-HR มากเลยทีเดียว
C-HR เวอร์ชั่นผลิตจริง ปี 2016
เปิดตัวเวอร์ชั่นจำหน่ายจริง : ต่างจากเดิมเล็กน้อย
เพียงไม่กี่เดือนหลังจาก Frankfurt Motor Show ปี 2015 โตโยต้าได้เปิดตัว C-HR เวอร์ชั่นผลิตจริงในงาน Geneva Motor Show ในปี 2016 ในครั้งนี้ผู้คนจึงหายสงสัยแล้วว่ารถต้นแบบคันนั้นพอขายจริงจะหน้าตาเป็นอย่างไร
ด้านหน้ามีดีไซน์ดุดันไม่ต่างจากตัวต้นแบบ ช่องดักลมด้านล่างรูปปากคว่ำ ช่องด้านข้างก็ยังคงอยู่ พร้อมไฟรูปวงกลมที่น่าจะเป็นไฟตัดหมอกมากกว่าไฟเดย์ไลท์ ตัวรถโดยรวมก็ยังเป็นเส้นตวัดไปมาไปต่างจากต้นแบบเท่าไหร่นัก
ส่วนที่ต่างจากรถต้นแบบคงจะเป็นสัดส่วนของหน้าต่างที่มีมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการยืดส่วนของหลังคาเพื่อรองรับสรีระของคนตัวสูงได้ดีขึ้น ประตูหลังยังถูกทำให้กว้างและสูงขึ้นอีกด้วย แต่มือจับประตูด้านหลังนั้นคงไม่ตอบโจทย์เด็กที่จะต้องเปิดประตูบานนี้เท่าไหร่
ด้านหลัง ทางโตโยต้ายังคงเก็บทรงท้ายลาดไว้อย่างครบถ้วน ทั้งสปอยเลอร์หลังและเหลี่ยมสันด้านใต้กระจกหลัง แม้ว่ารายละเอียดเหล่านี้ทำให้รถนั้นดูน่ามองมากขึ้น แต่ก็ทำให้ผู้โดยสารด้านหลังลำบากอยู่เหมือนกัน
ในขณะนั้น ถือว่า C-HR เป็นหนึ่งรุ่นที่เริ่มเข้ามาอุดช่องว่างของตลาดครอสโอเวอร์ในเซกเมนต์นี้ ในขณะที่กว่าแบรนด์อื่นจะตามมาต้องใช้เวลาอีกหลายปี
ภายในของ Toyota C-HR
นี่อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่มีเจเนอเรชั่นถัดไป?
แม้ C-HR จะมีราคาที่จับต้องได้ และดีไซน์ที่สวยงาม แต่ด้วยการตกแต่งภายในที่มีพลาสติกแข็งอยู่หลายจุด แต่ก็ยังถือว่าดีแล้วในเซกเมนต์นี้ อีกอย่างที่เราต้องคำนึงถึงก็คือทัศนวิสัย ขณะขับรถอาจมีจุดบอดที่เสา C อยู่บ้าง แต่หากเรานั่งเบาะแถวหลังจะรู้สึกค่อนข้างอึดอัด แม้บางคนจะบอกว่าแผงประตูที่สูงจะช่วยบังแสงแดดของเมืองไทยได้ก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม : เปิดข้อมูล 2023 Toyota C-HR เจนใหม่ใช้ขุมพลังไฮบริด เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร
Toyota เอาจริงได้ โดยไม่ต้องไปซื้อ Lexus
Toyota C-HR อาจเป็นผลผลิตเพียงไม่กี่ครั้งที่โตโยต้าไม่ได้ผลิตรถเพื่อการใช้งานที่ทนทานและไว้ใจได้เพียงอย่างเดียว และยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โตโยต้ายุคใหม่มีดีไซน์ที่หวือหวามากขึ้น รวมถึงแพลทฟอร์มของรถที่เพิ่มประสิทธิภาพของการขับขี่อย่าง TNGA
ทำให้บางทีก็อาจคิดได้ว่า การที่โตโยต้าทำแต่รถกลาง ๆ ไม่โดดเด่นกว่าคู่แข่ง เน้นทนทาน เป็นการเพลย์เซฟมากเกินไปหรือเปล่า เพราะเวลาเอาจริงก็ทำได้ดีนี่หน่า…
อ่านเพิ่มเติม : ถ้า Toyota bZ Small Crossover คืออนาคตของ Toyota Corolla Cross/CH-R ?