- ลงทุนเพิ่มผลิตแบตเตอรี่งบ 2 พันล้านบาท
- เตรียมแผนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าปี 2566
- ลุ้นรุ่นแรกอาจเป็น MG ZS EV
เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ MG (เอ็มจี) ที่เดินหน้าทำตลาดรถเอสยูวีไฟฟ้าอย่าง MG ZS EV (เอ็มจี แซดเอส อีวี) และรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง MG EP (เอ็มจี อีพี) ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
แม้ตัวเลขยอดจำหน่ายจะไม่ได้มากนัก เมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายรวมของบริษัท แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำตลาดของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งคำสัญญาว่าต้องการที่จะผลิตรถไฟฟ้าในโรงงานประเทศไทยตามเป้าหมายที่วางเอาไว้
ล่าสุด ในงานแถลงข่าวประจำปี จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยความคืบหน้าของแผนงานการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเร็ววันนี้
ถือเป็นการก้าวหน้าอย่างว่องไว ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย...
ลงทุนแบตเตอรี่เพิ่ม เริ่มผลิตรถไฟฟ้าในปี 2566
จางระบุว่าในปี 2565 นี้ โรงงานของเอ็มจีในประเทศไทย จะมีการลงทุนเพิ่มด้วยงบประมาณกว่า 2 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ จากเดิมที่ผลิตอยู่จำนวนหนึ่งสำหรับการประกอบ MG HS PHEV (เอ็มจี เอชเอช พีเอชอีวี)
การลงทุนนี้จะเป็นการรองรับการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมถึงการสนับสนุนแผนการเดินหน้าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยหากไม่มีอะไรผิดพลาด น่าจะเริ่มต้นเปิดสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2566 นี้
"สิ่งที่เราจะทำก็คือการสร้างอีโคซิสเต็มสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่ไม่ได้มองเรื่องการผลิตหรือการจำหน่าย แต่ต้องมองการใช้งานรอบด้าน รวมไปถึงเรื่องของการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ที่เราคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น แต่ยังไม่ถึงเวลาเท่านั้น แต่เราจะต้องเตรียมพร้อม"
ยังไม่ยืนยัน แต่คาดว่า MG ZS EV มีลุ้นที่สุด
รถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 รุ่นที่ทำตลาดอยู่ในประเทศไทย เป็นการนำเข้าจากประเทศจีน ด้วยข้อตกลงพิเศษที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ทำให้สามารถทำราคาจำหน่ายได้อย่างน่าสนใจ และเอ็มจีก็มีแผนเปิดตัวเอสยูวีไฟฟ้าอย่างแซดเอส อีวี รุ่นใหม่ในช่วงเดือนมีนาคม
อย่างไรก็ตาม รถยนต์คันดังกล่าวจะยังเป็นการนำเข้ามาทำตลาดเหมือนเดิม รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าอีกรุ่นที่อาจจะนำเข้ามาทำตลาดในปีนี้เป็นรุ่นที่ 3 อย่าง MG Ei5 (เอ็มจี อีไอ5) ก็จะเป็นการนำเข้าแบบสำเร็จรูป ก่อนเปิดสายการผลิตในปี 2566 ตามแผน
จางไม่ได้ระบุว่าจะเป็นรถรุ่นใดกันแน่ที่นำมาผลิตเป็นรุ่นแรก แต่หากดูจากยอดขายและความนิยมแล้ว ก็ไม่น่าจะพลาดไปจากแซดเอส อีวี ไปอย่างแน่นอน ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ เขาระบุว่า "จะเป็นการผลิตที่ใช้ชิ้นส่วนในภูมิภาคจำนวนมาก" อีกด้วยนะ
เพิ่มกำลังการผลิต MG รองรับการส่งออกอาเซียน
แน่นอนว่าการตั้งเป้าหมายเพื่อใช้ชิ้นส่วนในภูมิภาคให้มากที่สุด น่าจะเป็นหลักฐานว่าเอ็มจีมีความมุ่งหมายที่จะส่งออกรถยนต์รุ่นที่ผลิตไปจำหน่ายในอาเซียนในอนาคต หลังจากที่เริ่มส่งออก MG ZS และ MG HS ไปยังอินโดนีเซียและเวียดนามในปี 2564
จางระบุว่าในปีนี้ โรงงานในประเทศไทยจะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้พร้อมรับการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีเป้าหมายจะส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียเพิ่มเติม รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณาการส่งออกรถยนต์เล็กอย่าง MG5 (เอ็มจี5) เพิ่มในอนาคต
ทั้งนี้ มีการระบุตัวเลขสัดส่วนการส่งออกจากโรงงานของเอ็มจีในปัจจุบัน ว่ามีการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 10% ของการผลิตทั้งหมด แต่หากมองเป็นจำนวนคันก็ยังไม่มากมายอยู่ที่หลักพันคันเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นเป้าหมายหลักที่น่าสนใจของแบรนด์
ชี้ตลาดรถยนต์ไทยปีนี้เติบโต ท้าทายยอดขาย MG 5 หมื่นคัน
จางได้กล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีนี้ ว่าน่าจะเติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์น่าจะเติบโตขึ้นเล็กน้อย หรือมียอดจำหน่ายรวม 8-8.5 แสนคันในปีนี้ ตามปัจจัยด้านสินค้าเป็นสำคัญ
"ความต่างกันของการประเมินเป้าหมายยอดขายในปีนี้ ปัจจัยหลักจะมาจากการนำเสนอสินค้าของผู้ผลิตรถยนต์ว่าจะโดนใจผู้บริโภคหรือไม่ จะทำให้ผู้บริโภคสนใจและเลือกซื้อรถยนต์ได้หรือเปล่า ซึ่งเอ็มจีก็มีเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขายของบริษัทในปีนี้"
สำหรับในปี 2564 ที่ผ่านมา เอ็มจีมียอดจำหน่ายราว 3.2 หมื่นคัน พลาดจากเป้าหมาย 4.2 หมื่นคัน เป็นผลมาจากการผลิตที่ลดน้อยลงจากชิปเซตขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายการขายไม่น้อยกว่าเดิม และท้าทายตัวเองที่ยอดขาย 5 หมื่นคัน
หวั่นมาตรการหนุนอีวีส่งผลกระทบเศรษฐกิจ
กับคำถามที่ว่ารัฐบาลต้องการที่จะอุดหนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จางระบุว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก การที่รัฐบาลจะนำเงินงบประมาณส่วนไหนมาอุดหนุนให้ประชาชนเลือกใช้งานรถเหล่านี้
"จริงอยู่ที่การใช้มาตรการอุดหนุนจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็ต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อการใช้งบประมาณของประเทศในภาวะที่กำลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งต้องรอดูนโยบายทั้งหมดกันอีกครั้ง"
ทั้งนี้ เอ็มจีมียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าปีละประมาณ 1,000 คันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และมองว่าหากรัฐบาลจะลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าตามที่มีกระแสข่าวมานั้นก็เป็นเรื่องดีที่ผู้บริโภคจะมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมในที่สุด