โรงงาน Great Wall Motor (เกรท วอลล์ มอเตอร์) ที่จังหวัดระยองในประเทศไทย เตรียมลงทุนเครื่องจักรสำหรับการผลิตรถกระบะเพิ่มเติมในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ เพื่อเปิดตัวรถปิกอัพอย่าง GWM Canon (จีดับบลิวเอ็ม แคนนอน) ในประเทศไทยช่วงปี 2565
ในปัจจุบันโรงงานของเกรทวอลล์ที่ซื้อกิจการมาจากเจนเนอรัล มอเตอร์ส และได้ทำการปรับสายการผลิตจนเปิดผลิตได้ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และผลิต Haval H6 HEV (ฮาวาล เอช6 เอชอีวี) และ Haval Jolion HEV (ฮาวาล โจไลอ้อน เอชอีวี) อยู่ 2 รุ่นในปัจจุบัน
ทั้งนี้ มีรายงานว่าเกรทวอลล์ฯ เตรียมเปิดสายการผลิตรถกระบะรุ่นดังกล่าวในประเทศไทยในปีหน้า โดยอยู่ระหว่างการสั่งเครื่องจักรเพื่อติดตั้งในโรงงานแห่งเดียวกัน แต่แยกสายการผลิตของปิกอัพและเอสยูวีออกจากกัน โดยจะมีการติดตั้งกันในช่วงวันหยุดปีใหม่นี้
โรงงานของเกรทวอลล์นั้นเป็นโรงงานอัจฉริยะที่ทันสมัยและมีการนำเทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักรใหม่ ๆ มาใช้มากมาย รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการผลิต เช่น การผลิตเอสยูวีทั้ง 2 รุ่นก็ใช้ไลน์การผลิตเดียวกัน หรือการใช้หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในการผลิตเพิ่ม
จีดับบลิวเอ็ม แคนนอน น่าจะเป็นสินค้ารุ่นที่ 5 ที่เปิดตัวในประเทศไทย หลังจากที่พวกเขาเปิดตัวมาแล้ว 3 รุ่น รวมถึง ORA Good Cat (ออร่า กู๊ดแคท) และจะเปิดตัว Haval H6 PHEV (ฮาวาล เอช6 พีเอชอีวี) รุ่นใหม่ล่าสุดในประเทศไทยครั้งแรกของโลกในสัปดาห์หน้า
ลุ้นปิกอัพไฟฟ้าหรือปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรกของประเทศไทย
แน่นอนว่าในตลาดประเทศจีน GWM Canon หรือที่รู้จักกันในชื่อ Poer (โปเออร์) นั้นทำตลาดด้วยเครื่องยนต์ที่หลากหลาย ทั้งเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ รวมไปถึงเครื่องยนต์ไฟฟ้าแบบรุ่นที่เคยเอามาโชว์โฉมในประเทศไทย ในงานมอเตอร์โชว์ครั้งล่าสุดที่ผ่านมานั้น
นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่าพวกเขาซุ่มทำการพัฒนาเครื่องยนต์เบนซิน วี6 ที่มีทั้งรุ่นมาตรฐานและติดตั้งระบบไมล์ดไฮบริดที่ให้สมรรถนะที่โดดเด่น คำถามคือหากรถรุ่นนี้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยจริง ๆ แล้ว เกรทวอลล์จะเลือกเครื่องยนต์รุ่นใดเข้ามาทำตลาดกันแน่
จะเป็นเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบชาร์จ 4 สูบ 2.0 ลิตร ให้กำลัง 217 แรงม้า และมีแรงบิด 380 นิวตันเมตร จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด ขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือจะเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 204 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 300 นิวตันเมตร และวิ่งได้ไกลกว่า 400 กิโลเมตร
หรือจะเลือกใช้เครื่องตัวใหม่ ขนาด 3.0 ลิตร ที่ให้ความดุดันด้วยพละกำลัง 348 แรงม้า และมีแรงบิดเริ่มต้นที่ 500 นิวตันเมตรที่รอบเครื่องยนต์ต่ำเพียง 1,500 รอบต่อนาที และสามารถพัฒนาแรงบิดเพิ่มได้ในรุ่นไฮบริดเต็มระบบที่จะเพิ่มแรงบิดให้สูงถึง 750 นิวตันเมตร
แม้จะยังยากที่จะคาดเดาว่าเกรทวอลล์จะเอาอะไรมาแข่งในตลาดปิกอัพในไทยที่เน้นเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก แต่ผู้บริหารของค่ายนี้ก็มีการยืนยันอย่างหนักแน่นมาโดยตลอดว่าพวกเขาอยากจะเป็นผู้นำตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย จึงต้องจับตาดูกันต่อ
โรงงานของเกรทวอลล์พร้อมแล้วหรือไม่
โรงงานในประเทศไทยน่าจะเป็นโรงงานที่ปรับเปลี่ยนแบรนด์มาแล้วพร้อมสำหรับการผลิตว่องไวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยการใช้เวลาหลังจากส่งมอบจากจีเอ็มถึงวันเริ่มต้นสายการผลิตรถคันแรกเพียง 8 เดือนเท่านั้น จากปกติที่โรงงานทั่วไปจะต้องใช้ 12-18 เดือน
ตัวเลขของกำลังการผลิตในโรงงานนี้อาจจะยังไม่ชัดเจน แต่หลัก ๆ ก็คือแบ่งสายการทำงานออกเป็น 4 ส่วน ประกอไปด้วยแผนกปั้มโลหะสำหรับชิ้นส่วนขนาดใหญ่ ที่ปัจจุบันใช้หุ่นยนต์ในการทำงาน ร่วมกับระบบการเปลี่ยนแม่พิมพ์แบบอัตโนมัติสำหรับไลน์ผลิต
บอดี้ ช็อปที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 3 หมื่นตารางเมตร รองรับการผลิตได้ถึง 1.2 แสนคันต่อปี โดยเฟสแรกจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตเอสยูวีและปิกอัพ 8 หมื่นคัน ก่อนที่จะมีการลงทุนเพิ่มอีก 4 หมื่นคันในอนาคต การทำงานจะใช้หุ่นยนต์มากถึง 52 ตัว
ฝ่ายพ่นสีนั้นจะอยู่บนพื้นที่ 3.9 หมื่นตารางเมตร รองรับการผลิตได้เท่ากับแผนกตัวถัง และใช้กระบวนการผลิตมากถึง 10 ขั้นตอน มีโปรแกรมเลือกสีได้ 24 สี ขณะที่โรงงานประกอบพื้นที่ 6.3 หมื่นตารางเมตร มาพร้อมแขนกล 17 ตัวและอุปกร์อัจฉริยะต่าง ๆ มากมาย
เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า GWM นั้นเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการผลิตรถกระบะพวงมาลัยขวาในประเทศไทยเอาไว้ตั้งแต่เฟสแรกของการผลิตอยู่แล้ว โอกาสที่ลูกค้าชาวไทยจะได้สัมผัสกับรถกระบะคันดุดันจากค่ายนี้ก็ไม่น่าจะต้องรอกันนานกว่าปี 2565 นี่แล้วล่ะ