รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV: Electric Vehicle) นัั้น ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นหัวใจหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกในอนาคตอันใกล้ จะสังเกตได้ว่าค่ายรถเกือบทั้งหมดได้หันมามุ่งเน้นการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของรถต้นแบบและรถที่ทำตลาดจริง
สำหรับประเทศไทยนั้น เราเองก็มีความพยายามที่จะมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในมุมของผู้ประกอบการที่เริ่มต้นจากรถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐ ก็ออกมาสนับสนุนโครงการการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายอันสูงสุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐบาลเองต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค ซึ่งก็ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตรถยนต์ในการเปิดสายการผลิตในประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องมีองค์ประกอบที่เหมาะสม
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีโครงข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ การตอบรับของตลาดโดยลูกค้าจะต้องยอมรับและยอมซื้อมากในระดับหนึ่ง รวมถึงอาจจะต้องหาตลาดส่งออกเพื่อมาเตรียมความพร้อมให้กับผู้ผลิตในการเปิดสายการผลิตในประเทศ
MG (เอ็มจี) ผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไท ได้จัดสัมมนา "New Generation of Automotive" โดยได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงสร้างของอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงโรดแมพจากภาครัฐในการผลักดันยอดการผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ถึง 7.5 แสนคันภายใน 10 ปี
กระทรวงอุตฯ กางโรดแมพส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานในงานสัมมนาเปิดเผยว่า ภาครัฐให้ความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดมลพิษในระยะยาว ซึ่งประเด็นนี้ ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือกขึ้นมา
ทั้งนี้ หากดูจากยอดขายรถยนต์ทั่วโลกกว่า 1,200 ล้านคัน ย่อมก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศที่มากขึ้น ประเทศต่าง ๆ จึงมีการออกมาตรการที่เข้มงวดในเรื่องระบบท่อไอเสีย ก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรถยนต์ไฮบริด รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ 100%
รวมถึงได้มีการออกนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ประเภทเหล่านี้ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียออกนโยบายการเงินให้ผู้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้าสูงสุดกว่า 2 แสนบาทต่อคัน และการสนับสนุนให้ตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ทำให้ในปี 2018 มีจำนวนแท่นชาร์จไฟกว่า 4.5 แสนแห่ง มากที่สุดในสหรัฐอเมริกา
"สำหรับประเทศไทย ในปีที่ผ่านมา เรามีการผลิตรถยนต์อยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก และอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ถือเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้ปี 2030 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย"
รัฐบาลเองประเมินว่าการผลิตรถยนต์ไทยในปีนั้นจะอยู่ที่ 2.5 ล้านคัน ทำให้ต้องมีการผลิตรถไฟฟ้าถึง 7.5 แสนคัน โดยเแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ ประกอบไปด้วย ระยะสั้น (2020-2022) ผลิตรถสำหรับรถราชการ รถสาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ 6 หมื่น - 1.1 แสนคันในระยะเริ่มต้น
จากนั้นในระยะกลาง (2021-2025) จะผลักดันอีโค อีวี หรือรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวน 1-2.5 แสนคัน พร้อม ๆ กับการผลักดันสมาร์ท ซิตี้ บัส จำนวน 3 แสนคัน และในระยะยาว (2026-2030) จะเดินหน้าผลักดันให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 7.5 แสนคันตามแผนงานที่วางไว้
รวมไปถึงจะเร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย และจะเร่งตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะให้ตั้งภายในรัศมี 50-70 กิโลเมตร เพื่อให้ครอบคลุมการเดินทางระยะไกล ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐและภาคเอกชนมีการส่งเสริมในเรื่องนี้
MG เล็งเพิ่มรถใหม่-สถานีชาร์จ ร่วมผลักดันตลาดโต
จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด กล่าวว่า เอ็มจีถือเป็นผู้จุดประกายให้เกิดกระแสยานยนต์ไฟฟ้าในสังคมไทยด้วยการเปิดตัว MG ZS EV (เอ็มจี แซดเอส อีวี) ด้วยแนวคิดที่สามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย ดูแลรักษาได้ง่าย ใช้งานได้ง่าย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับพอสมควร
สำหรับในปีนี้ เอ็มจีก็มีแผนที่จะนะเข้ารถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดเข้ามาทำตลาดเพิ่มเติมในช่วงสิ้นปีนี้ โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการเปิดเผยแล้วว่า รถที่จะนำเข้ามาทำตลาดก็คือเอสยูวี ปลั๊กอิน ไฮบริดอย่าง MG eHS (เอ็มจี อีเอชเอส) ที่มาพร้อมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่หลากหลายและล้ำสมัย
"ในปีนี้ เอ็มจีได้เดินหน้าสร้างระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องด้วยการลงทุนติดตั้งจุดชาร์จในรูปแบบ DC โดยภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีจุดชาร์จจำนวน 100 แห่งในโชว์รูมและศูนย์บริการเอ็มจีทั่วประเทศ และวางแผนในการขยายจุดชาร์จเพิ่มอีก 1 เท่าตัวภายในปีหน้า"
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมสนับสนุนเต็มรูปแบบ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ระบุว่าที่ผ่านมามีผู้ยื่นแสดงความจำนงค์ในส่วนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 16 บริษัท รวม 26 โครงการ โดยมียอดการผลิตรวมกันกว่า 5.6 แสนคัน และอยู่ระหว่างการพิจารณาในส่วนของสามล้อไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติม
สำหรับการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวงที่รับผิดชอบกรุงเทพมหานคร นนทบุรีและสมุทรปราการ ระบุว่า กฟน. มีสถานีอัดประจุไฟฟ้า 10 จุด จำนวน 15 แท่นชาร์จในปัจจุบัน และมีแผนการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพิ่มขึ้นอีก 118 จุด รวมเป็น 128 จุด ภายในปี พ.ศ. 2565
ส่วนการไฟฟ้าภูมิภาคที่ดูแลพื้นที่ 74 จังหวัด ในปัจจุบันมีให้บริการอยู่ 11 แห่ง และยังมีแผนในการขยายร่วมกับสถานีบริการน้ำมันบางจาก เพิ่มอีก 62 จุด แบ่งเป็นในบางจาก 56 จุด และส่วนพื้นที่ของ กฟภ. อีก 6 จุด โดยจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2564 ตามแผนงานที่วางไว้
ขณะที่แผนระยะถัดไป ระหว่างปี 2564-2565 จะดำเนินการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าอีก 64 จุด ทำให้ในปี 2565 กฟภ. จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมด 137 จุด ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร) ซึ่งจะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานทั่วประเทศมากขึ้น
สถาบันยานยนต์ระบุว่าพวกเขาก็มีความพร้อมในการเตรียมการทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า ที่ศูนย์ทดสอบแห่งใหม่ที่จะสร้างเสร็จในช่วงปลายปีนี้ โดยได้รับอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการทดสอบมาแล้ว 5 ชิ้น และจะเพิ่มอีก 4 ชิ้นในปีงบประมาณหน้า ซึ่งจะทำให้มีอุปกรณ์ทดสอบที่เพียงพอในอนาคต
Opinion: หมดยุคไก่กับไข่ของรถยนต์ไฟฟ้า
ถ้าเปนคนที่ติดตามข่าวของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมาอย่างยาวนานพอ จะรู้สึกว่าที่ผ่านมารถยนต์กลุ่มนี้นั้นไม่โตอย่างเต็มที่อย่างที่มันควรจะเป็น ก็เพราะว่าความคิดแบบไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน ระหว่างภาครัฐ คนขายรถและคนซื้อ ที่ฉุดให้ความกล้าของผู้บริโภคไม่เปลี่ยนไปสู่การตัดสินใจ
ผู้พัฒนาสถานีชาร์จไฟก็ถามว่าจะทำไปทำไม ทำไปก็ไม่มีคนมาใช้ คนขายรถก็บอกว่า เอารถเข้ามาก็ขายยาก เพราะไม่มีที่ให้ผู้ขับขี่ชาร์จไฟระหว่างทาง ลูกค้าเองเล่า จะกล้าตัดสินใจซื้อไหม เมื่อซื้อมาแล้วดูไม่มีอนาคตเลย แถมจ่ายเงินก็แพงแต่ใช้งานได้ไม่เต็มที่ ก็ซื้ออีโคคาร์ไปก่อนดีกว่า
ผมเองมีโอกาสได้ไปคุยกับลูกค้ารถหลาย ๆ คัน ที่นำรถเข้ามาชาร์จไฟพร้อมกันที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) ก็พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่รอบ ๆ สถานีชาร์จไฟ และแน่นอนว่าพวกเขาต้องปรับพฤติกรรมในการใช้งานเยอะมาก เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานรถยนต์เหล่านี้
อย่าลืมว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้นไม่เหมือนกับปลั๊กอินไฮบริด การชาร์จไฟเพื่อให้อุ่นใจว่าเพียงพอต่อการใช้งานนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก และการชาร์จไฟแต่ละครั้ง ต่อให้ใช้เครื่องชาร์จไฟระดับ 50 kW ก็ยังต้องใช้เวลาหลักชั่วโมง เพราะฉะนั้นความพร้อมของสถานีชาร์จจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก
ก็ถือเป็นเรื่องดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเริ่มหันมาคุยในทิศทางเดียวกัน ค่ายรถเริ่มกล้าเอาเข้ามาทำตลาด หน่วยงานรัฐพร้อมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกันมากขึ้น และที่สำคัญคือมีการสนับสนุนผลักดันเพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตใหญ่ในอนาคตที่มีความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม
ถ้าทำให้ผู้บริโภคมั่นใจ เดี๋ยวพวกเขาก็มีซื้อและเห็นรถวิ่งอยู่เต็มถนนเองล่ะ!!!