การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ท่ามกลางปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสที่ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ในปี 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกันอย่างเร่งด่วน ซึ่งก็รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตรถยนต์ต่างก็เริ่มรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีมากขึ้น และเริ่มประเมินภาพรวมว่าตลาดจะกลับมาบวกกันในช่วงต้นปี ก่อนที่จะโดนตลบหลังด้วยปัญหามากมายที่ทำให้ตลาดไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีนัก
ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยเองก็ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหาต่าง ๆ ทำให้ต้องกลับเข้าสู่ภาวะประคองตัวกันอีกครั้ง และนี่คือ 5 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปีนี้ ที่จะส่งผลกับภาพรวมของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยไปในอนาคต ซึ่งต้องมาจับตาดูกันอีกครั้ง
หนึ่ง การพลาดเป้าหมายการจำหน่าย 8 แสนคัน
หลังจากประสบปัญหาเรื่องการทำตลาดในปี 2563 ที่ผ่านมา ค่ายรถทุกค่ายต่างก็หมายมั่นปั้นมือว่าจะสามารถสร้างยอดจำหน่ายมาได้อีกครั้งในปีนี้ และมีการตั้งเป้าหมายการจำหน่ายเอาไว้สูงถึง 8 แสนคัน อันเป็นผลมาจากความเชื่อที่ว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้หลังการคลายล็อกดาวน์
แต่ก็อย่างที่รู้กันอยู่ว่า สถานการณ์ของโควิด-19 ในประเทศไทยในปีนี้มีความตึงเครียดขึ้นมาอีกหลายครั้ง รวมถึงมีการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ตลาดรวมนั้นไม่เป็นไปตามคาด ยอดจำหน่ายรถยนต์จนถึงเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ราว 6.68 แสนคันเท่านั้น ดูยังไงก็ไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้
มีการประเมินว่าตัวเลขยอดจำหน่ายสุดท้ายสำหรับปีนี้ น่าจะทำได้ดีสุดที่ประมาณ 7.5-7.6 แสนคันเท่านั้น ซึ่งถือว่าผิดไปจากเป้าหมายที่วางเอาไว้พอสมควร และเหมือนกับการกลับไปสู่จุดเดิมที่ต้องลุ้นให้ตลาดกลับมาเติบโตกันอีกครั้งในปี 2565 ที่ทิศทางเองก็ยังไม่มีความชัดเจนอยู่
สอง การผลิตที่ชะงักงันจากโควิด-19 และชิ้นส่วนขาดแคลน
ส่วนหนึ่งของยอดจำหน่ายที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายนั้น มาจากการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยที่ไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ทั้งจากปัญหาเรื่องโรงงานผลิตที่ต้องหยุดสายการผลิตลงไป จากการที่พนักงานในสายการผลิตติดเชื้อโควิด-19 กันหลายต่อหลายครั้งกระจายกันไปทั่ว
รวมไปถึงการขาดแคลนชิ้นส่วนสำหรับการผลิตขาดแคลน ที่ไม่ได้มีแค่ปัญหาเรื่องของชิปเซมิคอนดัคเตอร์เท่านั้น แต่ยังมีชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์อีกมากมาย รวมถึงปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ที่ทำให้การผลิตในโรงงานทั้งหมดไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่
ปัญหาทั้งหมดดูเหมือนจะคลี่คลายขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หลังจากการจัดการปัญหาโควิด-19 ด้วยมาตรการที่เข้มงวดกว่าเดิม รวมถึงการจัดการเรื่องการขาดแคลนชิ้นส่วนได้ดีมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่ไม่จบอย่างเด็ดขาด และพร้อมที่จะปะทุขึ้นมาได้อีกครั้งทุกเมื่อทุกเวลา
สาม จุดเริ่มต้นของการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า
ในปี 2564 น่าจะเป็นอีกปีที่มีการเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยนโยบายทางภาครัฐที่ประกาศออกมาในช่วงปลายปี ที่จะส่งผลให้การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยสามารถทำได้ง่ายขึ้นและเสียภาษีที่ลดน้อยลง
แม้นโยบายดังกล่าวจะอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อนำเสนอและประกาศใช้งานจริง ซึ่งก็คาดว่าน่าจะเป็นในช่วงปี 2565 เป็นต้นไป แต่การที่ภาครัฐออกมารับลูกเอกชนในการเสนอให้ลดภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 100% นั้น ก็น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเดินหน้าอุตสาหกรรมบีอีวีรูปแบบต่าง ๆ
นอกจากนี้ ในระหว่างปีจะเห็นการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบของผู้ประกอบการมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็น ORA Good Cat (ออร่า กู๊ดแคท) Volvo XC40 Pure Electric (วอลโว่ เอ็กซ์ซี40 เพียว อีเลคทริค) หรือแม้แต่ The EQS+ by Mercedes-Benz (ดิ อีคิสเอส บาย เมอร์เซเดส-เบนซ์) ก็ทำให้ตลาดมีความคึกคักเช่นกัน
สี่ เทคโนโลยีการขับขี่ยุคใหม่ มุ่งสู่โลกอนาคต
แน่นอนว่าการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ในประเทศไทยที่ผ่านมา ค่ายรถต่างก็นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมายมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2564 ที่ผ่านมา ก็มีการแนะนำเทคโนโลยีแปลกใหม่ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของระบบใหม่ ๆ ที่จะตามมาอีก
ไม่ว่าจะเป็นระบบรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถใช้งานได้อย่างยาวไกลมากขึ้นจากการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ในรอบปีที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสามารถวิ่งได้เกิน 400 กิโลเมตรต่อการชาร์จ ไปจนกระทั่งถึง 700 กิโลเมตร ก็มีนำเสนอให้ใช้งานกันได้แล้ว แถมยังมีการขึ้นสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอีกด้วย
ขณะเดียวกัน การนำเสนอเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ ได้มีการนำเสนอระบบออโต้ไพลอต เลเวลส 2+ เป็นครั้งแรกในตลาดประเทศไทย ในรถเอนกประสงค์อย่าง Haval H6 HEV (ฮาวาล เอช6 เอชอีวี) ที่มีการเปิดตัวครั้งแรกของโลกในประเทศไทย น่าสนใจว่าปีหน้าจะมีอะไรมาเพิ่มอีก
ห้า แบรนด์รถยนต์ใหม่และการทดสอบตลาดอย่างจริงจัง
การเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ของ Great Wall Motors (เกรทวอลล์มอเตอร์) ที่นำแบรนด์หลักอย่าง Haval (ฮาวาล) และ ORA (ออร่า) มาเปิดตัวทำตลาดในประเทศไทย หลังการเข้าซื้อกิจการโรงงานของจีเอ็มเดิม หรือการกลับมาอีกครั้งของแบรนด์ในตำนานอย่าง Lotus (โลตัส) ในประเทศไทย
แสดงให้เห็นได้ว่า ค่ายรถยนต์หลายค่ายนั้นยังมองว่าตลาดประเทศไทยเป็นตลาดที่ยังมีช่องทางให้เติบโตได้อยู่ และยังเป็นตลาดที่มีโอกาส แม้ว่าหากไปดูจริง ๆ จะเห็นว่าตลาดรถยนต์ในประเทศไทยถูกยึดเอาไว้ด้วยผู้ประกอบการเพียงไม่กี่แบรนด์ แต่ก็ดูเหมือนหัวกระไดจะยังไม่แห้ง
จึงไม่ต้องแปลกใจที่ตลอดทั้งปี เราจะเห็นแบรนด์รถแปลก ๆ ที่ส่งรถเข้ามาทำการทดสอบ หรือมีข่าวว่าจะกลับมาทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์จีนอย่าง Changan (ฉางอัน) Geely (จีลี่) Chery (เฌอรี่) แบรนด์เพื่อนบ้านอย่าง Proton (โปรตอน) หรือแม้แต่ Volkswagen (โฟล์กสวาเกน) ก็ตาม
เป็นปีแห่งการปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจ
ถ้าหากให้เรา AutuFun Thailand สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในรอบปี 2564 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ก็น่าจะเป็นคำว่าการปรับตัวเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ภายใต้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าที่คาดการณ์เอาไว้
แน่นอนว่ามีหลายปัจจัยที่คาดการณ์ได้ยากทั้งเรื่องของไวรัสที่ระบาดอย่างต่อเนื่องและมีสายพันธุ์ใหม่ ๆ มา ผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วน ซึ่งหลาย ๆ ค่ายก็แสดงให้เห็นแล้วว่า หากมีการวางแผนและการรับมือที่ดีเพียงพอ พวกเขาก็สามารถประคองตัวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากมาได้แบบไม่ติดลบ
เพราะฉะนั้น ปีถัด ๆ ไปจากนี้ มีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจให้ติดตาม การแข่งขันนั้นจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ ด้วยสินค้ารูปแบบเดิม ๆ หรือต้องรับมือกับการท้าทายจากคู่แข่งรายใหม่ ที่มาพร้อมความสดใสและนวัตกรรมที่เหนือชั้น เราจะเดินหน้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบกันอย่างไร และเราพร้อมหรือไม่
ปี 2565 น่าจะเป็นอีกปีที่สนุกสนานเลยทีเดียว!!!