SsangYong ประกาศล้มละลาย คือเจ๊งเรียบร้อยแบบกู่ไม่กลับ?
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนครับ ว่าบริษัท SsangYong ประกาศล้มละลายนั้น เป็นการประกาศจากทางบริษัทแม่ที่เกาหลีใต้ ซึ่งถูกซื้อโดย Mahindra & Mahindra บริษัทผลิตรถยนต์จากอินเดีย ตั้งแต่ปี 2010
2020 SsangYong Korando จริง ๆ ก็ยังดูดีอยู่นะ
การประกาศล้มละลายครั้งนี้ ถ้าหากเราเป็นคนที่ติดตามข่าวสารรถยนต์มายาวนาน จะนึกถึงการประกาศเข้าสู่กระบวนการ Chapter 11 โดย General Motors เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว หลังจากเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2008
โดย SsangYong ได้ยื่นคำร้องสู่โปรแกรมการสนับสนุนของภาครัฐ ต่อบริษัทที่กำลังประสบปัญหา เพื่อทำการปรับโครงสร้างของบริษัทเสียใหม่ และนั่นแปลว่า SsangYong จะยังทำการจำหน่ายและผลิตรถยนต์อยู่ แต่ในระยะเวลา 3 เดือนนับจากนี้ SsangYong จะต้องหาข้อตกลงร่วมกับผู้ถือหุ้นและกลุ่มทุนให้ได้
2017 SsangYong Korando
ทางฝ่าย PR ของ SsangYong ประเทศเกาหลีใต้ ได้กล่าวว่าสาเหตุของการขาดทุนนั้นมาจากปัญหา Covid-19 แต่เราก็ได้รับข้อมูลมาว่า บริษัท SsangYong ไม่เคยทำกำไรได้เลยนับตั้งแต่ Mahindra ซื้อกิจการไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร? คำตอบก็คือ SsangYong ยังไม่ตายครับ ถ้าหากการปรับโครงสร้างเป็นไปได้ด้วยดี และมีบริษัทเข้ามาเทคกิจการไปทำต่อ SsangYong ก็จะยังขายรถยนต์ต่อไปได้ และตอนนี้ SsangYong ก็ยังขายรถยนต์อยู่นะครับ แต่จะขายอีกนานเท่าไหร่ก็ตอบไม่ได้
จุดเริ่มต้นของบริษัทที่ไม่เคยเป็นของตัวเอง?
รถยนต์ที่มีชื่อ “SsangYong” ในปัจจุบันนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทที่เกิดมาจากการควบรวมของ 2 บริษัทในเกาหลีใต้ คือ Ha Dong-hwan Motor Workshop และ Dongbang Motor Co กลายมาเป็น Ha Dong-hwan Motor Co. ในปี 1964
รถเมล์ของ Ha Dong-hwan Motor
ในภายหลัง Ha Dong-hwan Motor Co. ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Dong-a Motor ในปี 1977 ก่อนที่จะซื้อกิจการของ Keohwa Motor ที่ผลิตรถ Jeep เช่นกัน ในปี 1984
ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้มีความน่าสนใจ เพราะรถทั้งหมดที่ผลิตในช่วงนี้ไม่มีคันใดเลยที่แปะตรา SsangYong จนกระทั่งปี 1986 Dong-A Motor ได้ถูกซื้อกิจการโดย SsangYong Business Group บริษัทที่เป็น Chaebol หรือ บริษัทขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ที่ทำกิจการหลากหลายมาก เทียบเท่ากับ Mitsubishi Group ของญี่ปุ่น และ CP ของไทย
และนี่เป็นจุดที่ทำให้ถือกำเนิดชื่อของรถ SsangYong ขึ้นมาในปี 1986
SsangYong Korando รุ่นแรก
SsangYong ในช่วงแรกตั้งแต่ยุคของ Keowha Motor มาจนถึง Dong-A Motor และ Ssangyong ผลิตรถยนต์ Jeep ชื่อว่า Korando ซึ่งเป็นการรวมคำว่า “Korean Can Do” เอาไว้ด้วยกัน
แต่กว่าบริษัทจะได้ผลิตรถ Korando นั้น มีที่มาอยู่ว่า AMC ซึ่งจับมือกับบริษัท Shinjin Motors (ผู้ซึ่งจับมือกับ Toyota ในตลาดรถยนต์นั่งในช่วงยุค 1960 ถึง 1970) กำลังประสบปัญหาทางการเงินทั้งสองฝ่าย จน AMC ถอนตัวออกไปจากเกาหลีใต้
อีกทั้ง Shinjin Motors ได้ส่งรถ Jeep เหล่านี้ไปขายในประเทศ Libya ซึ่งเป็นการผิดสัญญาการห้ามการค้าขายกับรัฐ Libya จึงทำให้สัญญาการซื้อลิขสิทธิ์การผลิตนั้นถูกทำให้เป็นโมฆะ
ภาพจากภาพยนตร์ปี 2017 เรื่อง A Taxi Driver ซึ่งใช้ SsangYong Korando หลายคันมาก
Keowha Motor จึงได้ซื้อเครื่องมือการผลิตทุกอย่าง แต่ไม่ซื้อสิทธิ์ในการใช้ชื่อ เลยเปลี่ยนชื่อของรถเป็น Keowha Korando แล้วปรับดีไซน์เล็กน้อย อันเป็นต้นกำเนิดของ SsangYong Korando นี่เองครับ
SsangYong Korando (ในชื่อ Keowha และ Dong-A ก่อนปี 1988) เป็นรถที่นิยมใช้โดยกลุ่มข้าราชการในยุครัฐบาลทหาร Chun Doo-hwan ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินของ Isuzu วางจำหน่ายตั้งแต่ปี 1983 ถึง 1996
วุ่นวายได้ขนาดนี้ ถ้าเป็นบริษัทอื่นคงเจ๊งไปนานแล้ว
SsangYong เข้าไทยเมื่อไหร่?
หลังจากการปรับสู่ยุคประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ SsangYong ก็ได้ขยับขยายกิจการตามเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลายท่านอาจจะทราบดีว่า SsangYong ในช่วงสมัยแรกนี้ จับมือกับบริษัท Mercedes-Benz โดยได้รับเครื่องยนต์หลายตัวนำมาใส่กับรถที่ SsangYong พัฒนาขึ้นมา
ท่านผู้อ่านที่มีประสบการณ์บนโลกนี้เยอะเสียหน่อย ก็อาจจะจำได้ถึงรถยนต์ SUV ทรงเหลี่ยมเท่รุ่นหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่ามีชื่อเสียงในด้าน “ซื้อรถมาถอดเครื่อง” รถ SUV คันนั้นคือรถรุ่นแรกที่ SsangYong ส่งออกไปจำหน่ายอย่างแพร่หลายในตลาดทั่วโลก และนั่นรวมถึงตลาดประเทศไทยเอง
1995 SsangYong Musso ตลาดอังกฤษ
SsangYong Musso เปิดตัวในปี 1993 และเป็น SUV ของแท้ที่ใช้เครื่องยนต์จากบริษัท Mercedes-Benz ทั้งแบบเบนซิน และดีเซล โดยเป็นเครื่องยนต์ที่นำมาจาก Mercedes-Benz E-Class W124 รุ่นไมเนอร์เชนจ์ตัวสุดท้าย เป็นแบบ Double Overhead Camshaft และใช้หัวฉีด ทั้งเบนซิน 4 สูบ และ 6 สูบ
ในประเทศไทยเอง SsangYong Musso ได้ถูกเข้ามาวางจำหน่ายในกลางยุค 1990 โดยบริษัท ส.แสงยนต์ (Ssangyong กลายเป็น แสงยนต์ได้เนอะ!) และได้รับความนิยมมากในระดับหนึ่งทีเดียว แม้ว่าเมื่อมันแก่ตัวไป คนไทยจะสนใจมันเพื่อที่จะแยกส่วนเอาเครื่องยนต์มาใช้อย่างเดียว
SsangYong Chairman กับงาน Photoshop ระดับเทพ (นี่คือภาพจาก SsangYong เองนะครับ!)
ได้รับความนิยมขนาดไหน ท่านผู้อ่านหน้าใหม่อาจจะสงสัย คำตอบก็คือ SsangYong Musso ได้รับความนิยมในระดับที่เอามาประกอบในโรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ ของ Mercedes-Benz กันเลยทีเดียว!
ด้วยเหตุนี้เอง การที่เจ้าของรถยนต์ Musso หลายท่านนำเอาตรา Mercedes-Benz ไปแปะนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดมากมายครับ หลายตลาดก็ทำตลาดในชื่อ Mercedes-Benz Musso และถือว่าเป็น SUV รุ่นแรกของ Mercedes-Benz ก่อนการเปิดตัว Mercedes-Benz ML ในปี 1998
SsangYong MB100
นอกเหนือจาก SsangYong Musso อันเป็นรถที่คนไทยรู้จักในนาม SsangYong มากที่สุดแล้ว ในยุคเดียวกันนี้ SsangYong ประเทศไทย ยังได้ผลิตรถตู้ SsangYong MB100 หรือที่ในตลาดโลกเรียกว่า SsangYong Istana และนำเข้ารถยนต์ซีดานหรู SsangYong Chairman เข้ามาจำหน่ายในไทยด้วย แม้ว่าจะทำให้เกิดคำถามว่าจะซื้อไปทำไม ซื้อเบนซ์แท้ ๆ มือสองไม่ดีกว่าเหรอ?
SsangYong Chairman ใช้พื้นฐานจาก Mercedes-Benz W124
SsangYong ไม่เคยเป็นของตัวเองจริง ๆ การเทคโอเวอร์โดย Daewoo และ… SAIC Roewe?
ในปี 1997 หลังวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย SsangYong ได้ถูกขายไปให้กับบริษัท Daewoo Motors ผ่านการขายหุ้นมากกว่า 50% แต่ Daewoo Motors ไม่ได้ทำอะไรกับ SsangYong มาก เพราะก็ประสบปัญหาเองจนต้องขายหุ้นทิ้งไปในปี 2000
จนกระทั่งปี 2004 SsangYong ก็ได้ถูกเปลี่ยนมืออีกครั้งหนึ่งไปยังบริษัท SAIC Motor (Shanghai Automotive Industry Corporation) ผู้ซึ่งแน่นอนครับว่า เป็นบริษัทแม่ของ MG Motor ที่เรารู้จักกันดีนี่เอง!
2004 SsangYong Actyon
ในยุคดังกล่าวนี้ เป็นช่วงเดียวกับที่ SsangYong กำลังพัฒนารถที่คนไทยรู้จักกันดีอยู่หลายรุ่น หลังจากที่ SsangYong ยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์ Musso และ MB100 ในประเทศไทย พวกเขาก็ได้นำรถอีก 4 รุ่นเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ประกอบไปด้วย SsangYong Rexton SsangYong Kyron และ Ssangyong Actyon
ลุยน้ำท่วมได้ กับ SsangYong Kyron
ทั้งหมดนี้เป็นรถ SUV ที่ใช้เครื่องยนต์ของ Mercedes-Benz ที่มีลักษณะดีไซน์แตกต่างกันไป โดยรุ่น Rexton มีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นรถครอบครัวที่มีความกว้างขวางและความบึกบึน ในขณะที่ Kyron เป็นรถรุ่นรองลงมา ขนาดเล็ก ปราดเปรียว และโค้งมน มีความหวานนิด ๆ ส่วน Actyon นี้เป็นเหมือนกับ SsangYong Kyron Coupe ที่ใช้พื้นฐานเดียวกัน แต่ดีไซน์นั้นแตกต่างออกไปอย่างสุดขั้ว มีเส้นหลังคาลาดลงให้ความรู้สึกดุดันและสปอร์ต
แต่รุ่นที่เราอยากจะพูดถึงมากที่สุด ก็คือรถ SsangYong ที่คนไทยรู้จักกันมากที่สุดในยุคนี้ และเป็นรถที่คนทั้งโลกก็ให้ความสนใจด้วยเช่นกัน นั่นคือ SsangYong Stavic
หนูยักษ์!
SsangYong Stavic เป็นรถครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีดีไซน์โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นเสียจนสื่อหลายเจ้าให้การนิยามว่ามันคือรถที่มีดีไซน์แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดดเด่นเสียจนผู้ออกแบบ Ken Greenley ยังไม่กล้าเปิดเผยชื่อตัวเองเป็นเวลาหลายปี SsangYong บอกว่ารถ Stavic มีดีไซน์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรือยอร์ช
โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าดีไซน์นั้นเป็นเรื่องที่จับต้องได้ยาก วัดเป็นตัวเลขออกมาไม่ได้ และความคิดเห็นของคนเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ทั้งหมดที่กล่าวไปนั้นเป็นความคิดเห็นของสื่อยานยนต์ในยุคสมัยที่มันเปิดตัว
อย่าจ้องรูปนี้นาน เดี๋ยวเก็บไปฝันแล้วจะหาว่าบอริสไม่เตือน!
ความจริงแล้ว SsangYong Stavic นี้ก็เป็นรถที่มีความอเนกประสงค์ กว้างขวาง และยังมีที่นั่งถึง 11 ตำแหน่ง ใน 4 แถว จึงเป็นรถที่เหมาะมากสำหรับครอบครัวขนาดใหญ่ ใช้เครื่องยนต์ของ Mercedes-Benz เช่นเคย ทั้งแบบดีเซล 4 สูบ 5 สูบ และเบนซิน 6 สูบ ซึ่งก็มีประสิทธิภาพที่ใช้ได้ และเหมาะสมกับตัวรถ
ท่านทราบมาก่อนหรือไม่ว่า SsangYong เคยเป็นบริษัทลูกของ SAIC?
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ตั้งแต่ปี 2004 SsangYong ได้ถูกถือหุ้นมากกว่า 50% โดยบริษัท SAIC และนั่นทำให้เกิดการร่วมมือกันแปลก ๆ อยู่หลายครั้ง เช่น
Roewe 850 (SsangYong Chairman)
Roewe 850 เป็นรถยนต์ที่ SAIC ผลิตในเมืองจีน โดยการนำเอาดีไซน์ของ SsangYong Chairman มาทำ ใช้เครื่องยนต์ของ Mercedes-Benz ตัวเดิมที่ SsangYong ใช้มาตั้งแต่ยุคของ SsangYong Musso
นอกเหนือจากนี้ยังมีแผนที่จะนำ SsangYong Korando รุ่นปี 2010 มาติดตรา MG จำหน่ายในประเทศจีน ก่อนที่ SAIC จะขายหุ้นไปในปี 2009 จากปัญหาการขาดทุน อีกทั้งยังถูกกล่าวหาว่าขโมยเทคโนโลยีซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ลงทุนพัฒนาขึ้นโดย SsangYong อีกด้วย
เกือบได้เป็น MG แล้ว!
และเพิ่มความยุ่งเหยิงเข้าไปอีก คือการที่บริษัท Daewoo ที่ขายส่วนการผลิตรถยนต์ไปให้กับ General Motors แล้ว จึงเหลือเพียงผู้แทนจำหน่าย ก็ซื้อสิทธิ์ในการขาย SsangYong หลายรุ่นอีกครั้งในปี 2010
SsangYong ในยุคของ Mahindra เหมือนจะไปได้ แต่จบที่ล้มละลาย?
ในปี 2010 Mahindra & Mahindra ได้เข้ามาควบคุมกิจการของ SsangYong และได้ลงทุนไปกับการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ๆ อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ SsangYong ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์ของ Mercedes-Benz ในรถรุ่นใหม่อีกต่อไป ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเรื่องที่ดี หรือไม่ดีกันแน่?
2020 SsangYong Tivoli
ในประเทศไทยเอง ก็มีการจำหน่ายรถยนต์ SsangYong มาเรื่อย ๆ ทั้งในรุ่นของ Korando ที่เริ่มทำตลาดครั้งแรกในไทย และ Tivoli รวมไปถึง Stavic รุ่นใหม่ และ Rexton อีกด้วย ทั้งหมดเป็นการนำเข้าจากเกาหลีใต้ ถ้าหากถามถึงความสำเร็จ ก็อาจจะตอบได้ยาก ให้บอกว่าพอขายได้จะดีกว่า
ถึงกระนั้น ในตลาดโลก ยอดขายของ SsangYong ก็ดำเนินต่อไปได้ดีในระดับหนึ่ง ด้วยราคาจำหน่ายที่ถูก และรถยนต์ที่มีความน่าสนใจมากขึ้น แต่ไม่ได้โดดเด่น ไม่ว่าจะในทางที่ดี หรือไม่ดี อีกต่อไปแล้ว เป็นเพียงแค่รถราคาประหยัดในคลาส
Ssangyong Stavic Turismo
และเมื่อเทียบกับคู่แข่งร่วมชาติอย่าง Hyundai และ Kia Motors ก็ดูเหมือนว่า SsangYong จะเป็นได้แค่พระรองของเกาหลีใต้ ก็เพียงเท่านั้น
SsangYong ไม่เคยทำกำไรได้เลยมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ตั้งแต่ก่อน Mahindra เข้ามาเสียอีก ทุกครั้ง เป็นการลงเงินที่ไม่ได้ผลตอบแทนกลับมา นั่นเป็นเหมือนวงจรอุบาทว์ที่ทำให้ SsangYong ไม่มีงบประมาณกลับมาพัฒนารถให้เท่าเทียมกับคู่แข่งได้
Rendering 2021 SsangYong Korando EV
ถึงกระนั้น SsangYong ก็ยังมีความพยายามที่จะพัฒนาเทคโนโลยีไฟฟ้าให้โดดเด่น เป็นตัวชูโรงสร้างความทัดเทียมกับคู่แข่ง มีการประกาศว่าปีหน้าจะเปิดตัว SsangYong Korando EV เพื่อมาเป็นคู่แข่งกับ MG ZS EV
สรุป
SsangYong เป็นบริษัทรถยนต์ที่ ถ้าหากเรามองถึงขนาดของบริษัทแล้ว จำนวนพนักงานนั้นน้อยกว่า Hyundai Motor Group (ซึ่งรวมไปถึง Kia ด้วย) อยู่ประมาณ 60 เท่า และผลิตรถต่อปีจำนวนน้อยกว่าประมาณ 50 เท่าตัว แน่นอนว่างบประมาณของบริษัทนั้นไม่ได้มีมากเท่าคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ เป็นแบรนด์ที่มีขนาดเล็กมาก การสร้างชื่อมาได้จนถึงขนาดนี้นั้น เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายมาก ๆ
2018 SsangYong Rodius(Stavic) Turismo
เนื่องจากรถของ SsangYong แม้ว่าจะไม่ได้มีคุณภาพที่เทียบเท่ากับเจ้าตลาดได้ แต่ก็สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก และเป็นรถที่มีคุณภาพดีพอที่จะสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้กลับมาซื้อใหม่ได้
SsangYong Tivoli รถรุ่นล่าสุดที่เปิดตัวมา ก็มีความทนทานและคุ้มค่า อีกทั้งยังมีดีไซน์ที่สวยเด่น ดูดีใช้ได้เลยทีเดียว ที่ผ่านมา SsangYong สร้างผลงานเอาไว้ได้เกินกว่าทรัพยากรที่บริษัทมีมาก
2020 SsangYong Tivoli
แต่กระนั้น ความพยายามต่าง ๆ ก็คงไม่เพียงพอ
ในโลกที่การแข่งขัน รถแต่ละรุ่นมีความใกล้เคียงกัน บี้กันไม่ติด ถ้าหากคุณหลุดออกจากวงโคจรนี้ไปแม้แต่นิดเดียว คุณก็อาจจะแพ้ไปเลยทันที
เราหวังว่า SsangYong จะไม่ล้มหายตายจากไปเหมือนกับแบรนด์รถหลาย ๆ ค่ายที่หายไปก่อนหน้านี้ เราคิดว่า SsangYong ยังคงสามารถสร้างรถที่ตีตลาดที่ตนเองถนัดได้อยู่
แต่จะทำเช่นนั้นได้หรือไม่ ความหวังยังคงมีอยู่หรือเปล่า? หรือว่ามันจบแล้ว?