ค่ายรถยนต์เบอร์หนึ่งของโลกอย่าง Toyota (โตโยต้า) ตกเป็นข่าวลือว่าเตรียมที่จะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าตัวถังขนาดกลางเท่ากับ Toyota Corolla (โตโยต้า โคโรลล่า) ลุยประเทศจีนในปี 2565 แต่สิ่งที่สร้างความฮือฮามากกว่าคือพันธมิตรที่ชื่อ BYD (บีวายดี)
เพราะมีข่าวลือที่หนักแน่นยืนยันว่าการพัฒนารถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศจีนของโตโยต้าจะเป็นการจับมือร่วมกับหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่อย่างบีวายดี ที่นอกจากจะเชี่ยวชาญเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว พวกเขายังผลิตแบตเตอรี่ด้วยตัวเองได้
ผลงานที่เป็นเอกอุของบีวายดีก็คือ Blade battery ที่ขึ้นชื่อเรื่องของต้นทุนการผลิตที่เหนือกว่าแบตเตอรี่รูปแบบอื่น ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในความน่าประทับใจที่ทำให้ทั้ง 2 ค่าย ตกลงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาร่วมกันตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาในโครงการต่าง ๆ
การร่วมมือของโตโยต้าและบีวายดีในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่นั้น ถูกคาดหวังว่าจะเน้นไปที่การคุมต้นทุนการผลิตของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ซึ่งเป็นปัญหาหลักอีกข้อที่ทำให้ค่ายรถยักษ์ใหญ่ไม่สามารถบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้
มีข่าวลือเพิ่มเติมอีกว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่โตโยต้าเล็งว่าจะทำการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจีน จะมาพร้อมขนาดของรถยนต์ขนาดกลางอย่างโคโรลล่า แต่จะมีห้องโดยสารด้านหลังที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และกำหนดจะเปิดตัวในเดือนเมษายน 2565 ที่จะถึง
ซึ่งจะทำให้พวกเขาทำตลาดประเทศอื่น ๆ ตามมาได้อีกหลายแห่งเลย...
โตโยต้าและโครงการร่วมมือกับบีวายดี
- ทำไมพวกเขาไม่ใช้ Toyota bZ4X ทำตลาด
- ความคาดหวังจาก BYD
- ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความร่วมมือครั้งนี้
ทำไมถึงไม่เปิดตัว bZ4X ไปเลยล่ะ
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน แม้จะมีขนาดที่ใหญ่โตมหาศาล แต่ตลาดหลัก ๆ กลับอยู่ที่รถยนต์ไฟฟ้าระดับเริ่มต้นที่มีราคาจำหน่ายไม่แพงมาก อย่างรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุด Wuling MINI EV (หวู่หลิง มินิ อีวี) ก็มีราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ไม่แพง
ด้วยราคาเปิดที่ 4,500 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.5 แสนบาท) ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าทรวดทรงน่ารักมาพร้อมความสามารถในการจับจองเป็นเจ้าของเพื่อใช้งานได้จริง แม้จะไม่ได้เต็มเปี่ยมไปด้วบนวัตกรรมหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมายในรถ
หากโตโยต้าเลือกใช้บริการของ Toyota bZ4X (โตโยต้า บีแซด4เอ็กซ์) รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยีล้นคัน แน่นอนว่าการทำราคาแข่งขันในตลาดแมสจะทำได้ยากลำบาก ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายและความคุ้มค่าในการลงทุน
ในทางตรงกันข้าม หากพวกเขาเลือกหาพันธมิตรที่มีความพร้อมมากกว่า และมีเทคโนโลยีที่สามารถช่วยจัดการปัญหาเรื่องต้นทุนในการผลิตให้คลี่คลายลงไปได้ ก็ดูจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากกว่าในการเจาะตลาดประเทศจีนที่มีความแข็งแกร่ง
แน่นอนว่าโตโยต้าคงไม่ได้เล็งเป้าหมายลงไปแข่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าระดับมินิอย่างแน่นอน แต่ราคาจำหน่ายของรถนั้นน่าจะต้องถูกกว่ารถไฟฟ้าระดับพรีเมียมอย่าง Tesla Model Y (เทสล่า โมเดล วาย) หรือแม้แต่ Nio ES6 (นีโอ อีเอส6) อย่างแน่นอน
และ Blade battery คือคำตอบในครั้งนี้
หากไม่ได้ต้องการเน้นเรื่องเทคโนโลยีมากมาย แต่ต้องการควบคุมต้นทุนในรถยนต์ไฟฟ้าสักรุ่น การเลือกใช้แบตเตอรี่ให้มีความเหมาะสมอาจจะเป็นทางแก้ที่ดี และผู้ที่กุมคำตอบนี้อยู่ในมือก็คือบีวายดี ที่เปิดตัวเบลด แบตเตอรี่ออกมาในปี 2563 ที่ผ่านมา
การพัฒนาเบลด แบตเตอรี่คือการหวนกลับไปสู่เทตโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่บบแอลเอฟพี ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่ามีความสามารถในการเก็บไฟฟ้าได้ต่ำกว่าแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออนหรือโซลิดสเตท ที่ค่ายรถหลายรายเลือกใช้งานกันอยู่ตอนนี้
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติที่มีของแอลเอฟพีก็คือราคาที่ถูกกว่าอย่างชัดเจน อายุการใช้งานและรอบชาร์จไฟที่มากกว่า มีความร้อนที่น้อยกว่า และยังไม่ได้ใช้แร่หายากอย่างโคบอลต์และนิกเกิล ทำให้ค่ายรถหลายค่ายเริ่มกลับมาใช้งานแบตเตอรี่รูปแบบนี้
บีวายดีทำการพัฒนาการใช้งานแบตเตอรี่รูปแบบดังกล่าวให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ความสามารถในการลดขนาดและความหนาของแบตเตอรี่ เพื่อลดพื้นที่การจัดวางในตัวรถ รวมถึงยังออกแบบมาให้ลดน้ำหนักของแบตเตอรี่ลงไปได้อีก
นอกจากนี้ โครงสร้างของเซลล์แบตเตอรี่จะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของแบตเตอรี่แพ็คไปในตัว ช่วยทั้งการลดน้ำหนักและการเพิ่มความหนาแน่นของประจุไฟฟ้า ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับโตโยต้า ระหว่างรอเทคโนโลยีรูปแบบอื่น ๆ
และอาจจะทำให้โตโยต้าเปิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้ไวขึ้นอีกด้วย...