2021 Mercedes-Benz S-Class (เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาส) โฉมใหม่ ไม่น่าพลาดที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยในรูปแบบของการผลิตในประเทศในปี 2564 ตามการยืนยันของ โรลันด์ โฟลเกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
AutoFun Thailand ได้พบปะกับท่านประธานในการไปเยือนโรงเรียนเยาววิทย์ จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่ทางบริษัทได้จัดทำมาอย่างต่อเนื่องนับสิบปี และมีโอกาสได้พูดคุยกันถึงเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ทั้งเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า การเข้าร่วมมอเตอร์เอ็กซ์โป และเรื่องรถยนต์ใหม่
แน่นอนว่ามีคำอธิบายเรื่องความล่าช้าในการขึ้นไลน์ประกอบรถยนต์นั่งและครอสโอเวอร์ขนาดเล็กอย่าง Mercedes-Benz A-Class (เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอ-คลาส) และ Mercedes-Benz GLA (เมอร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลเอ) ที่ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมอยู่นานพอสมควร แต่จะเกิดขึ้นแน่นอนในปีนี้
และแน่นอนว่าเมื่อเกิดการล่าช้าในการประกอบรถยนต์ที่โรงงานในประเทศไทยขึ้น ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่จะเปิดตัวตามมา แต่เมื่อถามโรลันด์ตรง ๆ ว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาส ใหม่นั้น จะประกอบในประเทศ เพื่อเปิดตัวทันภายในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ควรจะเป็นหรือไม่
"ทำไมจะต้องเลื่อนล่ะ ไม่เห็นจะมีเหตุผลเลย" นั่นคือคำตอบที่ชัดเจนพอที่จะบอกให้บรรดาแฟน ๆ รถรุ่นใหญ่ที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมายคันนี้พอจะได้ชื่นใจกันได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องมาลุ้นกันอยู่ดีว่า เมื่อมาประกอบในประเทศไทยแล้ว จะมีเครื่องยนต์และออพชั่นอะไรให้เลือกกันบ้าง
2021 Mercedes-Benz S-Class เมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ทันสมัยที่สุด
เอส-คลาสใหม่ ที่หลาย ๆ คนติติงในเรื่องของรูปร่างหน้าตาว่าลดความหรูหราอลังการลงจากรุ่นก่อนหน้า ด้วยความพยายามในการออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่ปราดเปรียวกว่าเดิม แต่เพิ่มความสะดวกสบายและความน่าใช้งานด้วยฟังชั่นส์ต่าง ๆ มากมาย เรียกได้ว่าเอาใจผู้บริหารที่หัวใจวัยรุ่นมากขึ้น
ถ้าคุณคิดว่าไม่ชอบมันล่ะก็ ตัวรถรุ่นเดิมก็จะยังมีจำหน่ายไปจนถึงปีหน้าอย่างแน่นอน ลองมาอ่านบทความทดสอบเจ้า Mercedes-Benz S560e (เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส560อี) รุ่นปัจจุบัน ท็อปออฟโมเดลเจ้าของค่าตัว 6.999 ล้านบาทดูก็ได้ แถมยังมีออพชั่นทางเลือกเครื่องยนต์ดีเซลให้เลือกต่างหาก
แต่ถ้าหากไม่ใจร้อนและอยากได้รับที่หน้าตาวัยรุ่นขึ้นกว่าเดิม ก็ไปรอลุ้นกันต่อว่าเวอร์ชั่นผลิตในไทยจะได้เครื่องยนต์ตัวไหนมาใช้บ้าง เพราะเครื่องยนต์ที่เปิดตัวมามีอย่างหลากหลาย แต่ในไทยถ้าให้เดาก็น่าจะเป็นเครื่องยนต์อีคิวบูสต์ 3.0 ลิตร เทอร์โบชาร์จ ให้กำลังสูงสุด 429 แรงม้า พร้อมแรงบิด 384 ฟุตปอนด์
ส่งกำลังด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติ 9 สปีด เป็นเครื่องยนต์หลักในการทำตลาด และแน่นอนว่าต้องมีเครื่องยนต์ดีเซลอีกสักหนึ่งรุ่นเป็นรุ่นขาย และก็น่าจะตกเป็นหน้าที่ของเอส350ดี เหมือนเช่นเคย ขณะที่เครื่องยนต์ไฮบริดนั้นน่าจะหายไปจากการทำตลาด เพราะมีเครื่องอีคิวบูสต์มาทำหน้าที่แทนแล้ว
ระบบความปลอดภัยมีมากมายหลายอย่าง แต่หวังว่าจะได้เห็นระบบ Pre-Safe Impulse Control ที่จะช่วยยกตัวถังรถขึ้นเล็กน้อยเมื่อตรวจจับว่าอาจมีการชนด้านข้าง ระบบ E-Active Body Control ปรับการทำงานของช่วงล่างแบบแปรผัน และถุงลมนิรภัยห้องโดยสารด้านหลังช่วยป้องกันผู้โดยสารเบาะหลัง
ทำไมเอ-คลาสและจีแอลเอถึงล่าช้า
โรลันด์ไม่ปฏิเสธที่เราถามว่าทำไมการเปิดสายการผลิตรถเล็กทั้ง 2 รุ่นถึงล่าช้ากว่ากำหนดการณ์ที่ควรจะเป็น เพราะจีแอลเอนั้นเปิดตัวในตลาดโลกมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และตามความเป็นจริงแล้ว ไม่น่าจะใช้เวลาเกิน 6 เดือนหลังจากนั้น สำหรับการขึ้นไลน์พวงมาลัยขวาสำหรับรถทั้ง 2 รุ่น
แน่นอนว่าการตัดสินใจให้ประเทศไทยนั้นทำการผลิตรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อพิจารณาจากไลน์ผลิตแล้ว การผลิตรถใหม่ในไลน์เดียวกันเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากและต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเข้ามาให้คำแนะนำ แต่ที่ผ่านมา ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้
"แน่นอนว่าผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้การผลิตรถรุ่นใหม่ล่าช้าไป การผลิตรถเอ-คลาสและจีแอลเอในสายการผลิตเดียวกันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีระดับสูง ทำให้ล่าช้ามาเล็กน้อย แต่ใครที่ถามถึงเอ-คลาส แฮชท์แบ็ค ขอบอกว่าเรายังไม่มีแผนงานสำหรับรถรุ่นนั้นในขณะนี้"
แต่ประเทศไทยผลิต AMG มากถึง 5 รุ่น
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้ทำการผลิตหรือจำหน่ายเอ-คลาสเวอร์ชั่นแฮชท์แบ็ค ฐานการผลิตในประเทศไทยก็ยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ที่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า เป็นค่ายรถหรูรายเดียวที่ทำการผลิตรถเวอร์ชั่นแรงอย่าง Mercedes-AMG (เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี) ที่โรงงานในประเทศไทย
ในปัจจุบันนั้น รถยนต์กลุ่มเอเอ็มจีมีส่วนแบ่งยอดขายของค่ายประมาณ 12-15% และเป็นยอดขายที่ไม่ตกไปตามการหดตัวของตลาด เป็นเพราะราคาจำหน่ายที่จับต้องได้ แม้จะเป็นรถยนต์สมรรถนะสูง เป็นผลมาจากการเปิดสายการผลิต ทำให้สามารถวางราคาจำหน่ายได้เหนือกว่าคู่แข่งที่เป็นรถนำเข้า
ในปัจจุบัน โรงงานเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ผลิตรถยนต์ในกลุ่มเอเอ็มจี 5 รุ่น ประกอบไปด้วย Mercedes-AMG C43 (เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี ซี43) เวอร์ชั่นซีดานและคูเป้ เจ้าของค่าตัว 4.31 ล้านบาทและ 4.14 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งราคารุ่นคูเป้นั้นถูกกว่าตอนนำเข้ามาอยู่ล้านกว่าบาท
Mercedes-AMG E53 (เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี ซี53) เวอร์ชั่นซีดาน ที่วางราคาจำหน่ายที่ 5.26 ล้านบาท Mercedes-AMG CLS53 (เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี53) เวอร์ชั่นคูเป้ ค่าตัว 5.35 ล้านบาท ราคาถูกลงกว่าตอนนำเข้า 1.7 ล้านบาท เรียกว่ามีความน่าใช้งานมากขึ้นอย่างมากมาย
ปิดท้ายกันที่เอสยูวีเพียงรุ่นเดียวของตัวแรงที่ผลิตในประเทศอย่าง Mercedes-AMG GLC43 Coupe (เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี จีแอลซี43 คูเป้) เจ้าของค่าตัว 4.99 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าการมีรถยนต์ตัวแรงที่หลากหลายในหลายเซกเมนต์ ก็สามารถเอาใจลูกค้าและตอบสนองความต้องการได้อย่างลงตัว