Suzuki (ซูซูกิ) ประเมินภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปี 2564 พบว่าตลาดรวมน่าจะอยู่ที่ 8.4 แสนคัน หรือเติบโต 5% จากยอดขายปีที่ผ่านมา เตรียมส่ง 2021 New Suzuki Swift (ซูซูกิ สวิฟท์) ใหม่ลงตลาดต้นเดือนกุมภาพันธ์ กระตุ้นยอดบริษัทเติบโต 17.5% ฟันยอดขาย 3 หมื่นคัน
วัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2564 ว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจยังเติบโตไม่เต็มที่ มีความเปราะบางในด้านความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนและภาคธุรกิจ
ประกอบกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่เติบโตไม่เต็มที่ เนื่องจากยังมีมาตรการควบคุมการเดินทางของประชาชน แต่ก็มีปัจจัยบวกที่มีความหวังในเรื่องของวัคซีน ทำให้ประชาชนคลายความกังวลเรื่องการใช้จ่ายลงไปมาก จะทำให้เกิดการใช้จ่ายเท่าที่มีความจำเป็นที่จะเกิดขึ้นในปีนี้
"การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐก็เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้สามารถผ่านช่วงนี้ไปได้ ทำให้เรามั่นใจว่าตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปีนี้น่าจะเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมียอดจำหน่ายรวม 8.4 แสนคัน ขณะซูซูกิตั้งเป้าหมายการขายปีนี้เติบโต 17.5% หรือมียอดจำหน่าย 3 หมื่นคัน"
ไฮไลท์ของปีนี้จะอยู่ที่การเปิดตัวเวอร์ชั่นปี 2021 ของรถยนต์ยอดนิยมอย่างซูซูกิ สวิฟท์ ที่ตั้งเป้าหมายการขายในปีนี้ 1.2 หมื่นคัน ขณะเดียวกัน ก็จะต้องรักษาระดับการขายของปีที่ผ่านมาในโมเดลอื่น ๆ รวมไปถึงแผนการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายอีก 10 สาขา ก่อนเดือนมีนาคม 2565
COVID-19 ทำตลาดรถยนต์เปลี่ยนโฉม
สำหรับภาพรวมของตลาดรถยนต์รวมในปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของตลาด อาทิ การที่ประชาชนเลี่ยงการใช้งานรถสาธารณะหันไปใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น ขณะเดียวกัน การเลือกซื้อรถก็จะเลือกซื้อตามความเหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ออนไลน์แพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นมาก็เข้ามาทดแทนการที่ลูกค้าเข้ามาที่โชว์รูม รวมถึงการแสดงโรดโชว์ที่ลดน้อยลงไป ทำให้มีกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาจากออนไลน์แพลตฟอร์ม ซึ่งลูกค้าบางส่วน ไม่เคยมาที่โชว์รูมเลยในการซื้อรถยนต์ ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น
"ความเคยชินในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผู้บริโภคมีการปรับตัว อย่างไรก็ตาม หากมีสถานการณ์อื่น ๆ มาเพิ่ม เช่น การระบาดระลอก 3 หรือวัคซีนที่เตรียมไว้ไม่ได้ผล ก็อาจจะทำให้ตลาดซบเซากว่าที่คาดการณ์ แต่หากทุกอย่างเป็นไปได้ดี ก็มีโอกาสที่ตลาดจะกลับมาเติบโตเหนือกว่าการคาดการณ์เช่นกัน"
ภาพรวมตลาดรถยนต์ปี 2563
ซูซูกิระบุว่าตลาดรถยนต์ในประเทศไทยในปี 2563 พบว่ามียอดจำหน่ายรวม 793,021 คัน หดตัวที่ 21.29% ซึ่งเป็นยอดจำหน่ายที่เติบโตขึ้นจากการคาดการณ์ว่าตลาดรวมอาจจะหดตัวถึง 40-50% ซึ่งการหดตัวน้อยลงเป็นผลมาจากการควคุมโควิด-19 ได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจ
ในส่วนของซูซูกินั้น แม้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาทางด้านสถาบันการงานต่อเนื่องมาจากปี 2562 และต่อด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส แต่ด้วยการจัดการที่ดี ทำให้สามารถทำยอดจำหน่ายได้ที่ 25,528 คัน เติบโตจากปีที่ผ่านมา 7% ซึ่งเหนือกว่าการคาดการณ์ของบริษัท
"ในช่วงโควิดนั้นมีการคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์จะได้รับผลกระทบมากกว่า แต่เราสามารถรักษายอดการขายเอาไว้ได้ และเติบโตเป็น 1 ใน 3 ค่ายรถในประเทศไทยที่ไม่หดตัวในปีที่ผ่านมา เป็นผลของการตอบรับที่ยอดเยี่ยมของ Suzuki Celerio (ซูซูกิ เซเลริโอ) ที่เติบโต 195.18% รวมถึงรถใหม่อย่าง Suzuki XL7 (ซูซูกิ เอ็กซ์แอล7)"
ซูซูกิ เซเลริโอ พระเอกแห่งปีของค่าย
Suzuki Celerio นั้นดูเหมือนเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนักสำหรับซูซูกิในช่วงที่ผ่านมา รถยนต์นั่งขนาดเล็กในโครงการอีโคคาร์ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร อาจจะดูเหมือนเล็กไปและไม่น่าใช้งาน แต่เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน กลับกลายเป็นว่ายอดขายเติบโตเกือบ 200% ในปีที่ผ่านมา
วัลลภอธิบายว่าเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อรถมาเพื่อการใช้งาน มองหารถยนต์ที่ราคาเหมาะสม สามารถผ่อนได้แบบไม่มีผลกระทบอะไรมาก ซึ่งซูซูกิ เซเลริโอ เป็นสินค้าที่เหมาะสมและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีในช่วงที่ผ่านมา
"ถ้าดูราคาของรถที่อยู่ที่ 3.28-4.37 แสนบาท เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ที่ 4.2-6.9 แสนบาท ราคาห่างกันเป็นแสน หากวางเงินดาวน์ 20% ผ่อนยาวถึง 84 เดือน เซเลริโอจะผ่อนเพียงเดือนละ 3,900 บาท ขณะที่รถของคู่แข่งจะอยู่ที่เดือนละมากกว่า 5,000 บาท ทำให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้น"
ตัวรถมาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน 1.0 ลิตร ที่ให้กำลังสูงสุด 68 แรงม้าที่ 6,200 รอบต่อนาที พร้อมด้วยแรงบิดสูงสุด 90 นิวตัน-เมตรที่ 3,500 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังมีทั้งแบบเกียร์ธรรมดาและเกียร์อัตโนมัติ อัตราการกินน้ำมันทำได้มากกว่า 23 กิโลเมตร/ลิตร มีให้เลือกทั้งหมด 4 สี
สำหรับในปีนี้ ซูซูกิยังไม่ได้ประกาศว่าจะมีความเคลื่อนไหวใดใดกับเซเลริโอหรือไม่ นอกจากการประกาศปรับราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้น 1 หมื่นบาทในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็คาดว่าจะต้องมีการพัฒนารุ่นพิเศษสำหรับรถยนต์ที่ขายดีเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคตอย่างแน่นอน
ซูซูกิ เอ็กซ์แอล7 ดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการครอสโอเวอร์
แม้ซูซูกิจะทำตลาดรถยนต์มินิ เอ็มพีวี 7 ที่นั่งอย่าง Suzuki Ertiga (ซูซูกิ เออร์ทิก้า) มาอย่างยาวนาน แต่การเปิดตัวเวอร์ชั่นครอสโอเวอร์อย่างซูซูกิ เอ็กซ์แอล7 นั้น สร้างความแตกต่างให้กับบริษัทอย่างมาก ด้วยยอดจองในปีที่ผ่านมา 3,518 คัน ส่งมอบไปได้แล้ว 2,560 คัน และมีแบ็กออเดอร์ถึง 2 เดือน
นอกเหนือจากรูปร่างหน้าตาที่ได้รับการพัฒนามาอย่างแข็งแกร่งบึกบึนแล้ว ต้องยอมรับว่าอีกปัจจัยที่ทำให้รถคันนี้ฮอตขึ้นมาก็คือราคาจำหน่ายที่วางไว้ 7.79 แสนบาท ถูกกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกันทุกยี่ห้อ ซึ่งทำให้ลูกค้าสามารถเลือกจับจ่ายได้อย่างสะดวกสบายกระเป๋า และเห็นรถวิ่งกันอย่างคึกคัก
เอ็กซ์แอล7 มาพร้อมเครื่องยนต์ K15B เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1,462 ซีซี. จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ รีดกำลังสูงสุด 105 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที พร้อมแรงบิดสูงสุด 138 นิวตันเมตรที่ 4,400 รอบต่อนาที พร้อมอุปกรณ์มากมายและระบบความปลอดภัยที่ผู้บริโภคบอกว่าเพียงพอต่อการใช้งาน