Mitsubishi (มิตซูบิชิ) ระบุตลาดอาเซียนจะขึ้นแท่นตลาดใหญ่ที่สุดของแบรนด์เหนือสหรัฐอเมริกา-ญี่ปุ่น ตามแผนการทำตลาดทั่วโลกใหม่ ส่งผลเร่งลงทุนในฐานการผลิตหลายแห่งในอาเซียน พร้อมยันยังไม่ได้ตัดสินใจโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชี้ทุกประเทศล้วนแข่งขัน วอนรัฐออกมาตรการกระตุ้นการตัดสินใจ
โมะริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากกระแสข่าวที่มิตซูบิชิแสดงความสนใจที่จะลงทุนเพิ่มในอินโดนีเซียเพื่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้น อยากให้ทำความเข้าใจว่าตลาดอาเซียนกำลังจะกลายเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากของแบรนด์ในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตที่ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งของมิตซูบิชิ ขณะที่ยอดจำหน่ายของรถยนต์ในภูมิภาคนี้ก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในอนาคต จะมียอดจำหน่ายมากกว่าในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศญี่ปุ่น จึงทำให้ต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ
"นอกเหนือจากการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องแล้ว เรายังมีโรงงานที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมถึงมีการประกอบรถยนต์ในมาเลเซีย และก่อนหน้านี้ ก็มีแผนงานที่จะขยายไลน์การผลิตรถยนต์ในประเทศเมียนมาร์ แต่ติดสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้ต้องเลื่อนแผนงานทั้งหมดไปก่อน"
ชกกิกล่าวว่าประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ด้วยกำลังการผลิตถึง 4.22 แสนคันต่อปี ตามมาด้วยโรงงานที่อินโดนีเซียประมาณ 2 แสนคัน ขณะที่ฟิลิปปินส์และเวียดนามมีกำลังผลิต 5 หมื่นและ 1 หมื่นคัน ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในประเทศ
ทุกแห่งยังแข่งเพื่อผลิตรถไฟฟ้า - วอนรัฐออกมาตรการหนุน
ชกกิกล่าวว่า ตลาดอาเซียนที่กำลังจะก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นเพื่อทดแทนการลดความสำคัญของตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา ก็จำเป็นที่จะต้องเน้นการทำตลาดรถยนต์รุ่นใหม่ ที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นทิศทางของอนาคต ก็ยังอยู่ระหว่างการศึกษาทั้งหมด
"ความคืบหน้าของเรา คือประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดแห่งแรกของโลกต่อจากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดรถไฟฟ้า ทุกที่ก็แข่งกันอยู่ ซึ่งหากรัฐบาลต้องการให้เกิดโครงการดังกล่าวขึ้นมา ก็อยากให้มีมาตรการสนับสนุนที่มีความชัดเจน โดยเฉพาะการขยายโครงสร้างพื้นฐานสำหรับลูกค้า"
ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ระบุว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มีความเหมาะสมกับตลาด และเชื่อมั่นว่าปลั๊กอินไฮบริดมีความเหมาะสมกว่า ซึ่งนอกเหนือจากการเปิดสายการผลิตแล้ว สิ่งที่เป็นข้อดีสำหรับประเทศไทยก็คือการที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะต้องตามเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และสามารถส่งออกไปฐานผลิตอื่น ๆ ได้
มิตซูบิชิเพิ่งฉลองการผลิตครบรอบ 6 ล้านคันในประเทศไทยไปในช่วงที่ผ่านมา พร้อม ๆ กับการฉลองการเปิดบริษัทในประเทศไทยครบ 60 ปี โดยรถยนต์ที่ผลิตที่โรงงานนั้น เป็นการผลิตสำหรับตลาดในประเทศราว 1.7 ล้านคัน และอีก 4.4 ล้านคัน เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกไปมากกว่า 120 ประเทศทั่วโลก
ขณะเดียวกัน มิตซูบิประกาศว่าพวกเขาได้ลงทุนในโรงงานในประเทศไทยด้วยงบประมาณสะสมกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุด ได้มีการลงทุนในโรงงานสีแห่งใหม่ ด้วยงบประมาณ 7 พันล้านบาท โดยถือเป็นโครงการการลงทุนระยะยาว 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2656 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบครบวงจร
60 ปีแห่งความสำเร็จของมิตซูบิชิ ประเทศไทย
หากนับย้อนอดีตไปในปี 2504 เมื่อเอ็ม.เอ็ม.ซี. สิทธิผลก่อตั้งขึ้้นในประเทศไทย พวกเขาอาจจะไม่ได้คาดคิดว่าสักวันหนึ่งจะประกาศความยิ่งใหญ่ด้วยการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการผลิตของรถยนต์แบรนด์มิตซูบิชิทั่วโลก ด้วยโรงงานแบบเดี่ยว ๆ ที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
การเปิดโรงงานผลิตรถยนต์แห่วแรกในปี 2507 นั้น โรงงานที่มีกำลังการผลิตเพียงเดือนละ 59 คัน จะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างยอดการผลิตที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยพวกเขาเริ่มฉลองการผลิตรถยนต์ครบ 1 ล้านคันในปี 2546 และเมื่อฮิตล้านแรกได้ ล้านต่อ ๆ ไปก็ตามมาเรื่อย ๆ ในเกือบจะทุก ๆ 3 ปีก็ว่าได้
ยอดการผลิตรถยนต์สะสมของมิตซูบิชิ ประเทศไทย ที่ผ่านหลัก 6 ล้านคันไปในต้นปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของฐานการผลิต ที่ผลิตรถยนต์ รถกระบะและรถยนต์ดัดแปลง รวมไปถึงรถยนต์เอนกประสงค์ ที่ทั้งทำตลาดในประเทศและเน้นการส่งออกปริมาณมหาศาลสร้างรายได้มากมาย
ถ้าเทียบกับฐานการผลิตอื่น ๆ ในภูมิภาคแล้ว ประเทศไทยผลิตรถยนต์มากถึง 5 รุ่นในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย Mitsubishi Triton, Mitsubishi Pajero Sport, Mitsubishi Mirage, Mitsubishi Attrage และน้องใหม่ล่าสุดที่สร้างความภูมิใจอย่างมากกับเอสยูวี พลังปลั๊กอินไฮบริดอย่าง Mitsubishi Outlander PHEV
เมื่อเปรียบเทียบกับอินโดนีเซียที่ทำการผลิตแค่ Mitsubishi Xpander และ Mitsubishi Xpander Cross หรือเวียดนาม-ฟิลิปปินส์ ที่เน้นการผลิตเพื่อทำตลาดในประเทศเป็นหลัก ต้องบอกว่าภาษีของการลงทุนเพิ่มเติมหรือขยายการผลิตไปยังรถรูปแบบต่าง ๆ ของประเทศไทย ก็ถือว่าไม่น้อยหน้าใครหน้าไหน
ถ้ามีแรงหนุนส่งเสริมอีกสักนิด รับรองกวาดเรียบทุกรุ่นแน่นอน!!!