Honda City (ฮอนด้า ซิตี้) อีโคคาร์รุ่นจี๊ดจากค่าย Honda (ฮอนด้า) ที่มาพร้อมยอดขายทะลุทะลวงในท้องตลาด ยืนหนึ่งด้านยอดขายและการตอบรับจากผู้บริโภคในประเทศไทย ด้วยเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เทอร์โบ ที่มีความแรงที่สนุกสนานในการขับขี่และอุปกรณ์ที่มากมายพอตัว
การเปิดตัวในประเทศไทยก่อนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เรียกเสียงฮือฮาให้กับประเทศเพื่อนบ้านเราที่ใช้รถรุ่นเดิมกันอยู่มาก โดยเฉพาะในมาเลเซีย ที่ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กแข่งกันรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหลังจากประเทศไทยเปิดตัวไปสักพัก ฮอนด้า มาเลเซีย ก็ประกาศเปิดตัวรถเช่นกัน
แต่ที่เรียกเสียงฮือฮามากกว่าก็คือ ฮอนด้า ซิตี้ เวอร์ชั่นมาเลเซียนั้น มาพร้อมเครื่องยนต์ไฮบริดครั้งแรกของโลก ซึ่งแน่นอนว่ามาทั้งสมรรถนะที่เหนือชั้น ราคาจำหน่ายที่เวอร์วัง และติดตั้งอุปกรณ์ที่เยอะแยะมากมายเต็มไปหมด จนทำให้ลูกค้าชาวไทยหลาย ๆ คนได้แต่มองตามพร้อมถอนหายใจ
ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าฮอนด้า ประเทศไทยเองก็อาจจะเอาด้วยกับเครื่องยนต์รุ่นดังกล่าว และอาจจะเพิ่มรุ่นท็อปของโฉมนี้กับเวอร์ชั่นไฮบริด และแม้จะยังไม่มีการตัดสินใจออกมาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ในความเห็นของ AutoFun Thailand นั้นกลับมองว่าเรื่องนี้นั้นไม่จำเป็นแม้แต่น้อย
ในบรรดาออพชั่นทั้งหมดที่ฮอนด้า ซิตี้ ควรพิจารณานำมาติดตั้งเพิ่มเติม เครื่องยนต์ไฮบริดนั้นเป็นอะไรที่เรามองว่าไม่จำเป็น ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่างที่เรากำลังจะกล่าวถึง ถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรตามมาในอนาคต ขอให้ฮอนด้าไปเพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแทนดีกว่า
สมรรถนะการขับขี่ที่คาดว่าไม่ต่างกันมาก
ถ้าคุณเปรียบเทียบสมรรถนะของรถคันนี้ หากมองแบบภาพรวม ๆ ก็ต้องบอกว่ามีดีกันไปคนละด้าน คันนึงให้แรงม้าที่ดีกว่า อีกคันนั้นให้แรงบิดที่ดีกว่า คันนึงมองภาพรวมยาว ๆ นั้นไม่แย่ ส่วนอีกคันก็คงเด่นเรื่องการออกตัวแบบรวดเร็ว ขึ้นกับว่าคุณจะเป็นสายแรงม้าหรือสายแรงบิดก็ว่ากันไป
เครื่องยนต์ i-MMD (Intelligent Multi-Mode Drive) ในเวอร์ชั่นมาเลเซีย ให้กำลังสูงสุดที่ 109 แรงม้า พร้อมด้วยแรงบิดสูงสุดมหาศาลถึง 253 นิวตันเมตร ขณะที่เครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบของเวอร์ชั่นไทยนั้น มาพร้อมกำลังสูงสุด 122 แรงม้า พร้อมแรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตร
แน่นอนว่าในช่วงของการออกตัวนั้น ฮอนด้า ซิตี้ มาเลเซียคงวิ่งทิ้งเวอร์ชั่นไทยไปแบบไม่เห็นฝุ่น แต่เมื่อมองการใช้งานกันแบบยาว ๆ แล้ว เครื่องยนต์เทอร์โบน่าจะทำความเร็วได้สูงกว่าและใช้งานได้ง่ายกว่า เพราะการทดสอบในประเทศไทยก็เห็นแล้วว่าเครื่องรุ่นนี้นั้นยอดเยี่ยมขนาดไหน
ค่าดูแลบำรุงรักษาที่น่าจะสบายใจกว่า
เครื่องยนต์ขนาดเล็กที่มาพร้อมเทอร์โบ กับ เครื่องยนต์ขนาดเล็กที่มาพร้อมระบบไฮบริดที่มีความซับซ้อนมากกว่า ถ้าลองคำนึงถึงการใช้งานไปและมีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเข้ามาเป็นปัจจัย หลาย ๆ คนคงพอมองภาพออกว่าเครื่องยนต์ไฮบริดนั้นจะมีความวุ่นวายกว่าขนาดไหน
จริงอยู่ที่หากการนำเข้ามาทำตลาด ฮอนด้าเองจะต้องมีการรับประกันระบบไฮบริดและแบตเตอรี่ให้กับผู้ใช้งานอย่างแน่นอน นานที่สุดแบบสุด ๆ เลยก็คงประมาณ 5-10 ปี แต่ถามว่าลูกค้ากลุ่มนี้นั้น ใช้รถกันนานขนาดไหน รถเล็กหลายคันที่เห็นในบ้านเรานี้ใช้กันสภาพเนี๊ยบ ๆ นานข้ามทศวรรษก็มีนะ
เพราะฉะนั้น หากต้องการความสบายในการใช้งานระยะยาวจริง ๆ ดูเหมือนว่าเครื่องยนต์เทอร์โบจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หรือถ้าต้องการความแปลก แตกต่าง ทางเลือกใหม่ เครื่องยนต์ดีเซล 1.5 ลิตร ขนาด 100 แรงม้า 200 นิวตันเมตรจากฮอนด้า อินเดีย ยังดูน่าคบหากว่าเป็นกองเลย
เอาเวลาไปคิดเรื่องอุปกรณ์ที่ควรเพิ่มเข้ามาดีกว่า
ฮอนด้า ซิตี้ เป็นรถยนต์นั่งในโครงการอีโคคาร์ของประเทศไทย ที่แม้จะไม่มีเงื่อนไขด้านราคาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่พวกเขาก็ต้องทำราคาจำหน่ายเพื่อแข่งกับคู่แข่งมากหน้าหลายตาทั้งอีโคคาร์และบี-เซกเมนต์ การคุมราคารถที่ 5.795-7.39 แสนบาท ทำให้อุปกรณ์หลายตัวนั้นหายไปจากรถ
ฮอนด้า ซิตี้ ในอินเดียนั้น มาพร้อมกับซันรูฟ ระบบรีโมตสตาร์ทและการเปิดหน้าต่างจากระยะไกล ขณะที่ระบบ Honda SENSING (ฮอนด้า เซนส์ซิ่ง) และระบบแสดงภาพมุมอับสายตา (LaneWatch) ติดตั้งมาให้ในรุ่นท็อปทั้งที่อินเดียและมาเลเซีย ขณะที่ในเมืองไทยนั้นมีแค่ชุดแต่งอาร์เอสมาให้
ด้วยยอดขายมหาศาลที่ฮอนด้า ซิตี้ ทำได้ แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ ที่แม้ว่าคู่แข่งหลายรายจะมีของเล่นเยอะกว่า ราคาถูกกว่า แต่พวกเขาก็ยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาเทียบชั้นฮอนด้าได้ คำถามคือเมื่อถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนเพิ่มอุปกรณ์ ลูกค้าในไทยจะได้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้หรือไม่
ยอดขายที่ยอดเยี่ยมของ Honda City ในประเทศไทย
ในช่วงเวลาของการเปิดตัวฮอนด้า ซิตี้นั้น หลาย ๆ คนตั้งคำถามว่ารถคันนี้จะทำยอดจำหน่ายได้ดีหรือไม่ เพราะราคาจำหน่ายที่เรียกได้ว่าแพงกว่าคู่แข่งที่เปิดตัวใกล้เคียงกันอย่าง Nissan Almera (นิสสัน อัลเมร่า) ที่ให้อุปกรณ์มามากกว่าเสียด้วย เมื่อเทียบรุ่นระดับราคาใกล้เคียงกันแบบรุ่นต่อรุ่น
แต่เมื่อเวลาผ่านไป นิสสันเองก็ประสบปัญหาด้านความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคหลายต่อหลายครั้ง ขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งอีโคคาร์และบี-เซกเมนต์ก็ไม่ได้มีใครเปิดตัวมาท้าชิงเป็นชิ้นเป็นอันก่อนการมาถึงของ Toyota Yaris ATIV (โตโยต้า ยาริส เอทีฟ) รุ่นปรับโฉม ฮอนด้าเลยโกยยอดขายแบบเป็นชิ้นเป็นอันมาโดยตลอด
8 เดือนแรกที่ผ่านมาของปีนี้ ฮอนด้า ซิตี้ โดยยอดขายรวมไปทั้งสิ้น 22,509 คัน มีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในเซกเมนต์นี้ถึง 36.2% โดยหากนับเฉพาะเดือนสิงหาคมล่าสุดนั้น พวกเขาทำยอดขายไปถึง 3,176 คัน เรียกว่ายอดขายเหนือกว่าคู่แข่งหลักพันคัน ทิ้งห่างแบบไม่ต้องสืบว่าใครจะเข้าวินในช่วงปลายปีนี้
เรียกว่าแกร่งตลอดทางรวดเดียวจบก็คงไม่ผิดอะไรนัก...