เป็นหนึ่งในแบรนด์รถยนต์ที่มียอดจำหน่ายเติบโตได้อย่างงดงามในช่วงของที่ผ่านมา เมื่อได้รถยนต์ตคันเล็กราคาโดนใจผู้บริโภคอย่าง Suzuki Celerio (ซูซูกิ เซเลริโอ) บุกตลาดมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้อาศัยสินค้าตัวเดียวในการทำตลาดประเทศไทย
ภายใต้การนำทัพของ วัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่อีกหลายรุ่น เช่น Suzuki XL7 (ซูซูกิ เอ็กซ์แอล7) ที่ทำยอดจำหน่ายได้ดีในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งสถานการณ์ของโควิด-19 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาการล็อกดาวน์ ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นเปลี่ยนไป ทำให้ทุกตนต้องเร่งปรับตัวกันอย่างต่อเนื่องมาตลอดทั้งปี
และนี่คือการปรับตัวของแบรนด์ซูซูกิที่แสนดุดันในปีนี้...
Q: ตลาดยังเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือไม่
A: ปีนี้เป็นปีที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมากตลอดทั้งปี ถ้าดูจากต้นปี เราไม่มีใครคิดเรื่องคลัสเตอร์ใหม่หรือการล็อกดาวน์ในช่วงตลอดทั้งปีนี้ จากตัวเลขต้นปีที่ทุกคนประเมินเอาไว้ที่ 8 แสนคัน ผมเชื่อว่าไม่มีใครมองว่าสถานการณ์จะเป็นแบบนี้
มาดูตัวเลขอัพเดตกันบ้าง ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดปิดไปที่ 5.96 แสนคัน หมายความว่าถ้าอยากไปให้ถึงเป้า จะต้องทำยอดกันมากขึ้น พฤศจิกายนอาจจะต้องได้ 7 หมื่นคัน ธันวาคมทำได้ 1.3-1.5 แสนคัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นไปได้ยากมาก
ถ้าคิดว่าจะต้องขายเฉลี่ยเดือนละ 1 แสนคันไปอีก 2 เดือน ถามว่าทำได้ไหม ได้ แต่ง่ายไหม ยากมากนะ อย่าลืมว่าเรามีเรื่องของการขาดแคลนเรื่องการผลิตรถยนต์ด้วย ทุกอย่างต้องคำนวนกันให้ดีหมด เพราะบางทีอาจจะไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้น
Q: ซูซูกิเองก็ต้องปรับลดยอดด้วยใช่ไหม
A: ตลาดรถยนต์ปีนี้เต็มที่เลยที่เราประเมินน่าจะปิดที่ 7.6 แสนคัน ซึ่งดูเหมือนทุกคนจะเข้ามาสนับสนุนให้อุตสาหกรรมนี้เติบโต ในส่วนของซูซูกิ 10 เดือนแรกของปีนี้เราทำยอดขายไป 16,763 คัน เทียบกับปีก่อนก็หดตัวไปประมาณ 15% ในช่วงเดียวกัน
เป้าหมายเราปีนี้ ที่เราตั้งเอาไว้ตอนต้นปีคือ 3 หมื่นคัน ถึงตอนนี้เราก็ยังไม่ได้ถอดใจจากตัวเลขนี้ ยังไงเราก็ต้องทำเต็มที่เพื่อให้ไปถึงตัวเลขนั้นหรือไม่ก็ต้องใกล้เคียงที่สุด ซึ่งเรายังมีงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป และงานท้องถิ่นอีกหลายงานให้โฟกัสในปีนี้
ถ้ามาดูตัวเลขยอดขายรายรุ่น Suzuki Swift (ซูซูกิ สวิฟท์) 5,789 คัน Suzuki Ertiga (ซูซูกิ เออร์ทิก้า) 534 คัน Suzuki Ciaz (ซูซูกิ เซียส) 1,928 คัน Suzuki Carry (ซูซูกิ แคร์รี่ 2,289 คัน) เซเลริโอเราขายไป 3,795 คัน และเอ็กซ์แอล7 ขายไปได้ 2,422 คันในปีนี้
Q: ยังไปได้ดีกับตลาดรถยนต์เพื่อการใช้งานจริง
A: เอาจริง ๆ ก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์นะครับ อย่างแคร์รี่หรือเซเลริโอ ผมมองว่าเป็นการซื้อรถที่เน้นไปที่การใช้งาน บางคนตกงานในช่วงที่ผ่านมา อยากได้รถไปทำธุรกิจต่อ คนเหล่านี้ซื้อรถไม่ยาก ทำให้ตลาดนี้ยังเติบโตได้ดีอยู่ในช่วงโควิด-19
แต่รถยนต์บางกลุ่มก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน เช่น สวิฟท์ ที่เราขายน้อยลง เพราะกลุ่มลูกค้ากลุ่มหนึ่งซื้อรถด้วยความรู้สึก พอมันไม่จำเป็นก็เลื่อนไปก่อนได้ หรืออย่างเอ็กซ์แอล7 ที่เน้นกลุ่มครอบครัว พอมาเจอล็อกดาวน์ไม่ได้ไปไหน ก็ไม่จำเป็น
จริง ๆ มันก็ไม่ได้มีแต่เรื่องของความจำเป็นในการใช้รถ แต่สถาบันการเงินก็มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นลูกจ้างประจำหรือภาคบริการ ซึ่งทุกคนโดนกันหมดทั้งตลาด แต่ต้องบอกว่าสถานการณ์ช่วงนี้เริ่มกลับมาดีขึ้นมากแล้ว
Q: เกรงว่าจะมีปัญหาคลัสเตอร์ใหม่อีกครั้งหรือไม่
A: เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครตอบได้ว่าจะเกิดหรือไม่ แต่หลังจากที่ประกาศคลายล็อกดาวน์ก็เหมือนสถานการณ์จะดีขึ้น พอคนตั้งใจว่าจะกลับบ้านปีใหม่ หลายคนก็กลับมาจองรถ ซื้อรถ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ขับรถกลับบ้านในช่วงเทศกาลปลายปีนี้
แต่สิ่งที่ดีกว่าปีก่อนแน่ ๆ ก็คือสถานการณ์ในปีนี้นั้นแตกต่างกันออกไป ปีก่อนเรายังไม่มีวัคซีนและไม่ได้ฉีดวัคซีนกันแพร่หลาย ปีนี้หลายคนคลายกังวลเรื่องนี้มากขึ้น แถมแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยในช่วงที่เหลือของก็เริ่มกลับมาคึกคักกันได้อีกครั้ง
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปก็เช่นเดียวกัน ลูกค้าเริ่มรู้แล้วว่าไม่จำเป็นต้องไปซื้อรถในงานหรือออกไปดีลเลอร์ก็สามารถได้แคมเปญ โปรโมชั่น เหมือนกัน ทำให้สามารถซื้อรถได้อย่างง่ายดาย ทำให้การเป็นเจ้าของรถนั้นง่ายขึ้นกว่าเดิมด้วย
Q: XL7 ดูเหมือนจะขายดีมากในตลาด 7 ที่นั่ง
A: จริง ๆ แล้วเรามีทั้งเออร์ทิก้าและเอ็กซ์แอล7 ก็เลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะโดนเอามาเปรียบเทียบกันเอง แต่เราก็พยายามแยกออกมาด้วยการใช้งาน ไลฟ์สไตล์และฟังชั่นส์ ซึ่งเรามองว่าเอ็กซ์แอล7 นั้นเหมาะสมด้วยราคาและความคุ้มค่าเหนือใครในตลาด
แน่นอนว่ากลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถ 7 ที่นั่ง อาจจะไม่ได้นั่ง 7 ที่นั่งด้วยซ้ำ ที่ผ่านมา เราก็มีผลในช่วงล็อกดาวน์ที่กลุ่มครอบครัวมองว่าไม่ได้รีบใช้รถ ไม่ต้องไปส่งลูกไปโรงเรียน ตลาดตรงนี้ก็มีผลบ้าง การแข่งขันมันก็อยู่ที่ความคุ้มค่าในการจับจ่ายเป็นหลัก
ผมมองไปที่การนำเสนอความคุ้มค่าในการใช้งานเป็นหลัก หลาย ๆ คนถามเราเรื่องอีวี เราบอกว่าเรามีสินค้า และคู่แข่งก็เข้ามาทางช่องว่างของตลาด แต่เรามองว่าความคุ้มค่าของการใช้งานรถแบบนี้ยังมีอยู่ ซึ่งเราก็เฝ้ารอความชัดเจนในเรื่องนี้อยู่นะ