หากท่านรู้สึกว่าแบรนด์รถยนต์ในประเทศไทยมีแต่แบรนด์เดิม ๆ ที่คุ้นหน้าคุ้นตา จนอยากให้มียี่ห้ออื่น ๆ มาขายกันบ้าง แต่จำกันได้หรือไม่ว่า ในอดีตเคยมีถึง 9 แบรนด์ที่เคยมาทำตลาดในเมืองไทยแต่ก็หายหน้าหายตาไปตามกาลเวลา
วันนี้เราได้รวบรวม 9 แบรนด์รถในอดีต ซึ่งเคยเข้ามาขายในไทย แล้วก็กลับบ้านเกิดไปเรียบร้อย แต่ยังคงเป็นที่พูดถึงกันอยู่ในปัจจุบัน
Chevrolet
ใคร ๆ ก็รู้จัก Chevrolet (เชฟโรเลต) เป็นแน่นอน เพราะเขาก็ทำตลาดมานานเช่นกัน ถือเป็นแบรนด์แรก ๆ ในไทยเลยก็ว่าได้ แต่ก็ได้หายจากประเทศไทยไปแล้ว ถือเป็น “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ของทั้งลูกค้าและพนักงานทั้งองค์กร
โดยก่อนจะไปก็ได้มีการเอารถออกมาลดราคามากกว่าครึ่งจนยังพอเห็นบนท้องถนนได้บ้าง และรับประกันว่าจะดูแลลูกค้าและมอบบริการหลังการขายอย่างต่อเนื่องไปอีก 10 ปี
Opel
ผู้มาก่อน Chevrolet ก็ต้อง Opel (โอเปิล) เดิมทีค่ายนี้เคยอยู่ภายใต้ชายคาของ General Motors ก่อนจะถูกเปลี่ยนมือให้นายทุนจากฝรั่งเศส อย่าง Groupe PSA แต่ก็ต้องจบไม่สวยเพราะค่าบำรุงรักษาแพงมาก
ถึงแม้จะเป็นรถที่สมรรถนะยอดเยี่ยม ราคาประหยัดแค่ไหนก็ยังไม่สามารถชนะใจคนไทยได้เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในส่วนของการบำรุงรักษา
Alfa Romeo
ค่ายรถเก่าแก่ของอิตาลี Alfa Romeo (อัลฟ่า โรมีโอ) เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เคยได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุค 60 และ 70 และในยุค 2000 มีความโดดเด่นทั้งในเทคโนโลยี การดีไซน์ และความคลาสสิก สำหรับเมืองไทยมีจำหน่ายหลากหลายรุ่นจากหลากผู้จำหน่าย รุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ Alfa Romeo 156 ซึ่งเป็นหนึ่งในรถบ้านที่สวยที่สุด ที่เคยขายในไทย มาประกอบในประเทศเพื่อแข่งกับรถแบรนด์หรูอื่น ๆ
แต่เนื่องจากความจุกจิกของตัวรถ ก็ทำให้แบรนด์นี้ต้องพับเสื่อกลับอิตาลี่ไปในปี 2005 ปกติไทยเพรสทีจ ออตโต้เซลล์ที่เคยเป็นผู้จำหน่าย ตอนนี้จะจำหน่ายแต่แบรนด์ Fiat อย่างเดียว แต่ยังรับซ่อมรถ Alfa Romeo อยู่
Daewoo Fantasy
Daewoo
ค่ายรถเกาหลีผู้มาก่อนกาล Daewoo บุกตลาดไทยมาก่อน Hyundai (ฮุนได) และ KIA (เกีย) หลายปีราว ๆ 2537 แถมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม General Motors โดยนำเทคโนโลยีมาพัฒนาและติดตรา Daewoo ก่อนที่จะปิดแบรนด์ไปตั้งแต่ปี 2011
สำหรับไทยจะมีหลายรุ่นที่นำมาจำหน่าย เช่น Daweoo Lanos, Fantasy, Nexia, Ceilo, Espero แต่ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจ และทิศทางของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่ารวดเร็วทำให้ Daewoo ยอมแพ้และเก็บของกลับบ้านไปในปี 2542
Renault
แบรนด์รถยนต์จากแดนน้ำหอม Renault (เรโนลต์) ที่ยังชายดีในบ้านของตัวเอง สำหรับเมืองไทยแบรนด์นี้ในยุค 80 มีผู้จำหน่ายรายหนึ่งเคยขายรุ่น 20 TS 5 ประตู พอมาถึงยุคเรโนลต์ประเทศไทย ได้าจำหน่ายทั้งรุ่น R9, R19, R21, รุ่น Espace MPV อเนกประสงค์
แต่ก็เจ๊งไปเพราะรถจุกจิกและศูนย์บริการไม่ดี ถ้ารถมีความหรูหราราคาแพงก็อาจรับได้ แต่รถอย่าง Renault 19 และ 21 นั้นก็เป็นรถธรรมดาทั่วไป ที่ราคาค่าซ่อมเกินกว่า BMW (บีเอ็มดับเบิ้ลยู) เสียอีก และยิ่งเมื่อเจอวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 ก็ยิ่งทำให้จากไปได้เร็วขึ้น
Saab
รถยนต์สัญชาติสวีเดนกับสโลแกน "เทคโนโลยีจากอากาศยาน" Saab (ซาบ) เป็นแบรนด์ที่ปิดตัวในตลาดโลกเมื่อปี 2011 แต่ในประเทศไทยนั้นปิดตัวไปก่อนตั้งแต่กลางยุค 2000 แล้ว
เป็นรถยนต์ที่เอกลักษณ์และดีไซน์มาจากเทคโนโลยีอากาศยานมาไว้ในรถยนต์ทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่น 900, 9000 จนถึงรุ่นสุดท้าย 9-3, 9-5 หากท่านยังจำกันได้เมื่อปี 2544 มีอุบัติเหตุรถตกทางด่วนที่บริเวณทางลงถนนพระราม 6 ที่สูงกว่า 12 เมตร แต่คนกลับไม่เป็นอะไรเลย ทราบภายหลังว่าเป็น Saab 900S Draken คูเป้ ที่เสียหายแบบซ่อมไม่ได้เลย
แต่ทั้งหมดก็ไม่สามารถสู้กับรถแบรนด์หรูค่ายหลักได้ จึงประกาศขอยุติเส้นทางบนอุตสาหกรรมยานยนต์ เหลือไว้เพียงส่วนที่ผลิตยุทโธปกรณ์เท่านั้น
Citroën
แบรนด์ลูกของ Peugeot (เปอโยต์) Citroën (ซีตรอง) เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในอดีต มาพร้อมเทคโนโลยีสุดล้ำ ช่วงล่างระบบ Hydropneumatic ให้ทั้งความนุ่มนวลและเกาะถนน ระบบกันสะเทือนแบบ Active จนเป็นหนึ่งในรถยนต์หรูแบรนด์รอง ก่อนการมาของ BMW และ Lexus (เลกซัส)
มาพร้อมรุ่นยอดฮิตมากมาย เช่น DS, CX, BX และ Xantia แต่ด้วยความล้ำของรถค่ายนี้ก็ถือได้ว่าเป็นภัยเช่นกันเนื่องจากระบบกลไกต่าง ๆ เมื่อเกิดปัญหาต้องใช้ช่างผู้เชี่ยวชาญ จึงติดเรื่องของการบำรุงรักษาและความจุกจิกที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ
Skoda
ท่านอาจไม่ทราบ หรือลืมว่าแบรนด์ Skoda (สโกด้า) นั้น จำหน่ายในประเทศไทยครั้งแรกพร้อม ๆ กับ Saab ตั้งแต่ยุค 60 ในต้นยุค 2000 นำรถซึ่งใช้พื้นฐานของ Volkswagen เข้ามา ชูความคุ้มค่าและความสวยงาม
แต่มีปัญหาเมื่อการดำเนินการของบริษัทนั้นมีความบกพร่อง ทำให้รถจำนวนมากไม่สามารถจดทะเบียนได้ กว่าจะเคลียร์กันเสร็จ ชื่อของแบรนด์ก็เสียไปแล้ว ปัจจุบันยังมีมือสองให้เห็นอยู่บ้าง
Ssangyong
จริง ๆ จะเรียกว่า Ssangyong (ซันยอง) หายไปก็ไม่ได้ เพราะว่าจริง ๆ แล้วปัจจุบันก็ยังขายกันอยู่บ้าง ในรุ่น Stavic Turismo, Tivoli, Korando และ Rexton W แต่ก็ได้แค่ประมาณเดือนละคันเท่านั้น หลังจากที่ Ssangyong ล้มละลาย ประเทศไทยก็ไม่ได้ข่าวรถหลายปี
แม้ว่ารถตู้และรถ SUV จะมีความอเนกประสงค์ แต่คุณภาพของตัวรถก็ดูจะเป็นรองแบรนด์รถยนต์เจ้าตลาดพอสมควร
จริง ๆ รถยนต์เหล่านี้ ก็ยังคงพอหามือสองได้อยู่บ้างสำหรับผู้ที่ต้องการสะสมในราคาถูก แต่หากจะนำออกมาวิ่งจริงก็จะไม่ค่อยแนะนำเนื่องจากอะไหล่จะหายากกันเอามาก และต้องใช้บริการอู่ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้นดูให้