สาเหตุสำคัญที่ผู้ใช้รถส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคือต้องการประหยัดค่าน้ำมัน และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่คำถามคือรถอีวีปล่อยมลพิษน้อยกว่าจริงหรือ?
สถาบันวิจัยแห่งชาติอาร์กอนน์ (Argonne National Laboratory) ในนครชิคาโกของสหรัฐอเมริกาพยายามหาคำตอบของประเด็นนี้ด้วยการคิดค้น “สูตร” (model) การวัดค่ามลพิษตลอดทั้งกระบวนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่การใช้วัตถุดิบต่าง ๆ ในแบตเตอรี่ไปจนถึงจำนวนการใช้พลาสติกหรืออลูมิเนียมในตัวรถ
สำนักข่าว Reuters ได้ใช้สูตรดังกล่าวมาคำนวณหาค่าการปล่อยมลพิษตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ของรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model 3 (เทสล่า โมเดล 3) พบผลลัพธ์ว่า ผู้ใช้รถยนต์ในสหรัฐอเมริกาจะต้องขับขี่รถพลังไฟฟ้ารุ่นนี้เกินกว่า 21,725 กม. จึงจะถึง “จุดคุ้มทุน” หรือจุดที่ปริมาณการปล่อยมลพิษน้อยกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งเท่ากับการใช้งานตามปกติเป็นเวลา 1 ปี
รู้จักสูตร GREET สำหรับวัดค่ามลพิษ
คำว่า GREET ย่อมาจาก Greenhouse Gases, Regulated Emissions and Energy Use in Technologies ซึ่งเป็นสูตรที่หน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA) ของสหรัฐอเมริกาใช้เพื่อออกร่างกฎหมายกำกับดูแลการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
จาร็อด เคลลี่ หัวหน้าทีมนักวิเคราะห์ของอาร์กอนน์ กล่าวว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้นทำให้เกิดคาร์บอนมากกว่ารถเครื่องยนต์สันดาป ส่วนใหญ่มาจากการสกัดแร่และกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงเซลส์พลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
แต่ปริมาณคาร์บอนของรถยนต์ไฟฟ้าที่มากกว่ารถยนต์ทั่วไปนั้นจะถูกชดเชยตามระยะทางการใช้งานเนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าไม่มีการปล่อยมลพิษไอเสีย แต่ “จุดคุ้มทุน” มีการแปรผันขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ในรถอีวีและอัตราบริโภคน้ำมันของรถยนต์ทั่วไป นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ถูกนำมาใช้ชาร์จไฟอีกด้วย
จุดคุ้มทุนในด้านการปล่อยมลพิษที่ 21,725 กม. ที่เรานำเสนอข้างต้นเป็นการเปรียบเทียบกันระหว่างรถไฟฟ้า Tesla Model 3 ที่ใช้แบตเตอรี่ 54 กิโลวัตต์ชั่วโมงเทียบกับ Toyota Corolla ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินมีอัตรากินน้ำมัน 14 กม.ต่อลิตร โดยมีตัวแปรคือการผลิตกระแสไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาซึ่ง 23% ผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปล่อยมลพิษสูง
แต่ถ้ารถยนต์ Tesla คันเดียวกันนี้ถูกใช้งานในนอร์เวย์ซึ่งกระแสไฟฟ้าเกือบ 100% ผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะพบว่าจุดคุ้มทุนเดียวกันนั้นอยู่ที่เพียง 13,518 กม. เท่านั้นหรือเทียบเท่าการใช้งานราว 6-7 เดือน
และถ้าหากนำไปเทียบกับการผลิตกระแสไฟฟ้าในจีนหรือโปแลนด์ที่ได้จากโรงงานถ่านหิน 100% จะพบว่าจุดคุ้มทุนจะอยู่ที่การใช้งานถึง 126,000 กม. เลยทีเดียว
Reuters รายงานด้วยว่า การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดกลางสักคันจะทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 8.1 ล้านกรัมก่อนที่จะถูกส่งถึงมือลูกค้า ขณะที่รถเครื่องยนต์สันดาปทำให้เกิดมลพิษกว่า 5.5 ล้านกรัม
หากใช้งานเกิน 1 ทศวรรษ รับรองว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแน่นอน
ไมเคิล หวาง นักวิจัยอาวุโสและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยระบบพลังงานของอาร์กอนน์ กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว หากใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าและรถเครื่องยนต์สันดาปนาน 12 ปีเท่ากัน ฝ่ายแรกจะปล่อยมลพิษน้อยกว่าอย่างชัดเจน
หวาง กล่าวย้ำว่าถึงแม้จะชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วยไฟฟ้าที่ได้จากโรงงานถ่านหินไปตลอดอายุขัยของรถยนต์ แต่เมื่อถัวเฉลี่ยการปล่อยมลพิษตลอด 12 ปีแล้วจะอยู่ที่ 4.1 ล้านกรัมต่อปี ขณะที่รถเครื่องยนต์สันดาปจะปล่อยมลพิษ 4.6 ล้านกรัมต่อปี
การคำนวณจุดคุ้มทุนของ Model 3 โดยใช้สูตร GREET ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับสถาบันวิจัยตลาดชื่อดังอย่าง IHS Markit ที่พบว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะปล่อยมลพิษน้อยกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปก็ต่อเมื่อใช้งานเป็นระยะทาง 24,000 – 32,000 กม. ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ
วีเจย์ สุบรามาเนียน ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับดูแลคาร์บอนไดออกไซด์ของ IHS Markit ชี้ว่า การคำนวณค่ามลพิษดังกล่าวถือเป็นเรื่องดีเพราะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในระยะยาวที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
แต่ยังมีอีกหลายสถาบันไม่เชื่อมั่นในรถอีวี
เดเมียน เอิร์นส์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยลีแอจ์ในเบลเยี่ยมเคยเปิดเผยผลการวิจัยในปี 2019 ไว้ว่า รถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปจะต้องถูกใช้งานเกือบ 700,000 กม.ถึงจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่ารถเครื่องยนต์เบนซินที่มีขนาดตัวถังเท่ากัน
ถึงแม้ในปี 2020 เอิร์นส์จะลดระยะทางดังกล่าวให้เหลือ 67,000 – 151,000 กม. แต่ก็ถือว่าเป็นระยะทางที่สูงอยู่ โดยเขาใช้โมเดลการคำนวณแตกต่างจากอาร์กอนน์ในอเมริกา
ขณะที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกันซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำมันมากกว่า 600 แห่งระบุอย่างมีนัยสำคัญว่า “ผลการศึกษามากมายชี้ให้เห็นว่าระบบขับเคลื่อนทางเลือกในปัจจุบันปล่อยมลพิษก๊าซเรือนกระจกไม่แตกต่างกันเลยในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์โดยรวม”