นานาประเทศเริ่มวางแผนที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มตัวภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี แต่นั่นจะทำได้จริงหรือ?
สหภาพยุโรปมีแผนที่จะเปลี่ยนรถบนท้องถนนให้กลายเป็นรถยนต์เครื่องยนต์ไฟฟ้าจำนวน 30 ล้านคันภายในปี 2030 ถ้าหากเราพิจารณาจากกระแสโลกเราจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นไปทุกวัน จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่มีเพิ่มมากขึ้นตลอด แผนของอนาคตนี้ดูเป็นไปได้สูงเลยทีเดียว
แต่ไม่ใช่ทุกฝ่ายที่จะคิดเช่นนี้ เพราะถ้าหากรถยนต์บนท้องถนนยุโรปส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้า นั่นหมายความว่าจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม ระบบสาธารณูปโภค รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นผลจากการที่รถยนต์เครื่องสันดาปครองตลาดมาเกือบ 100 ปี
อนาคตอันใกล้ แต่แท้จริงแล้วยังห่างไกลอีกมาก
ทางสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งยุโรป (European Automobile Manufacturers’ Association (ACEA)) ได้ออกมาแถลงว่า ในปัจจุบัน จากจำนวนรถยนต์ในยุโรปปัจจุบันจำนวน 243 ล้านคัน มีเพียง 615,000 คันเท่านั้นที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า นั่นหมายความว่าถ้าสหภาพจะทำตามแผนเพิ่มจำนวนรถไฟฟ้าเป็น 30 ล้านคัน จะคิดเป็นตัวเลขออกมาได้ถึง 4,778% หรือเกือบ 50 เท่าตัว ในระยะเวลา 9 ปี
อีกทั้งทางสมาคมยังได้เตือนอีกด้วยว่า ถ้าหากรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มจำนวนเป็น 30 ล้านคันจริง จุดชาร์จไฟของรถเหล่านี้ก็ต้องเพิ่มจาก 200,000 จุดในปัจจุบัน ให้กลายเป็น 3 ล้านจุดโดยประมาณ และนั่นคิดเป็น 15 เท่าเลยทีเดียว
ทางอธิบดีสมาคม นาย Eric-Mark Huitema ได้กล่าวไว้ว่า แผนของสหภาพยุโรปนี้ “น่าเสียดายที่ยังห่างไกลกับความเป็นจริงในตอนนี้” และ “สภาวะในปัจจุบันยังไม่พร้อมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด”
รถราคายังแพงไป จุดชาร์จไฟก็ไม่พร้อม
ส่วนหนึ่งที่ทำให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ก็เพราะราคาของมันที่สูงนั่นเอง แม้ว่าในการซื้อจริง ราคาอาจจะเป็นที่ยอมรับได้ของคนจำนวนมาก แต่เราต้องไม่ลืมว่าราคานี้เป็นราคาที่เกิดจากการสนับสนุนของภาครัฐในการจ่ายเงินให้กับผู้ซื้อ เพื่อดึงดูดความสนใจ
แน่นอนว่าในประเด็นนี้จะถูกแก้ไขในอนาคต แม้แต่ในประเทศไทยเอง เมื่อ 3 ปีก่อน ก็ไม่มีรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาถูก เข้าถึงง่าย จนกระทั่งการมาของ MG ZS EV (เอ็มจี แซดเอส อีวี) และเมื่อเร็ว ๆ นี้ MG EP (เอ็มจี อีพี) ผู้คนจำนวนมากจึงคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาได้เร็วเทียบเท่ากับแผนที่รัฐบาลนานาประเทศวางเอาไว้ แต่บางทีการวางแผนดังกล่าวนี้ก็เป็นเหมือนการบังคับให้ผู้ผลิตพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ราคาถูกลง ประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้ออกมาให้เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน
แต่ภาครัฐของประเทศต่าง ๆ เองก็ต้องไม่ลืมว่า การตั้งเป้าหมายบนกระดาษนั้นทำได้ง่าย แต่การทำจริงจะต้องมีการซัพพอร์ทในจุดต่าง ๆ มากมาย ส่วนสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คงหนีไม่พ้นจุดชาร์จไฟ ซึ่งก็มีความพยายามที่จะสร้างให้แพร่หลายมากขึ้น เมื่อรวมกับการที่บริษัทต่าง ๆ พัฒนาเทคโนโลยีให้การชาร์จไฟสามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสู่รถยนต์ไฟฟ้าก็ดูเป็นไปได้ขึ้นไปอีก
ถ้าหากเรามองเพียงแค่เช่นนี้ เราก็จะลืมไปว่า ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาลอย ๆ และการสร้างพลังงานจากโรงไฟฟ้าก็เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาขั้นถัดมา
นอกเหนือจากประเด็นโครงสร้างการจ่ายไฟและการผลิตไฟฟ้า อีกสิ่งที่ต้องคำนึงคือการที่ผู้คนที่ไม่มีปัจจัยเอื้ออำนวยในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะใช้รถยนต์เครื่องสันดาปต่อไปแล้วไม่ซื้อรถใหม่ ทางสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ยุโรปเองก็ตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ เนื่องด้วยเทรนด์ปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของรถยนต์บนท้องถนนยุโรปก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ
จนบางครั้ง ผู้เขียนก็คิดว่า ถ้าขนาดผู้ผลิตยังไม่ต้องการที่จะผลิตสินค้าเพื่อมาขายในจำนวนมากขึ้น แผนที่จะสร้างอะไรบางอย่าง มันก็คงจะเร็วไปจริง ๆ
แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป?
แผนการบังคับให้ยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์เครื่องสันดาป และเปลี่ยนไปใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของยุโรป จะเป็นสิ่งนำร่องที่นานาประเทศจับตาและนำไปใช้ต่ออย่างแน่นอน เช่นญี่ปุ่นที่กำลังวางแผนคล้ายกันอยู่ในตอนนี้ และถ้าหากแผนดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ หรือความล้มเหลว ยุโรปเองก็จะต้องเป็นผู้รับผลในภูมิภาคแรก
บางที ถ้าเกิดการวางแผนนั้นดีพอ และเทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจริง การเปลี่ยนการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในระยะเวลา 9 ปี ก็ไม่ใช่เรื่องเกินฝัน แต่ตราบใดที่โลกยังไม่ถึงปี 2030 เราก็คงไม่สามารถฟันธงได้จริงหรอกครับ ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างที่ภาครัฐบางประเทศเขาวางไว้จริงหรือเปล่า
บางที สักวันหนึ่ง ผู้คนที่มั่นใจว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะต้องกลายมาเป็นบรรทัดฐานแน่นอน ไม่ใช่ข้อยกเว้นอีกต่อไป ก็จะดีใจเพราะตัวเองเดาถูก ในทางกลับกัน ผู้คนที่ไม่เชื่อ ก็อาจจะสามารถบอกว่าตนเองนั้นคิดเอาไว้ไม่มีผิด ก็เป็นได้ครับ