สถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีรถไฟที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่แทนที่สถานีรถไฟหัวลำโพง หลังจากผ่านการก่อสร้างมา 8 ปี ขณะนี้ใกล้เสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้ใช้บริการกันในปีหน้า
เดินทางแบบไร้รอยต่อ น้ำ บก อากาศ
สถานีรถไฟกลางบางซื่อ เมื่อเปิดใช้งาน จะเป็นศูนย์รวมการเดินทางที่เชื่อมต่อระบบรถไฟเข้ากับระบบขนส่งอื่น ๆ ที่มีใช้ในประเทศไทย
หลังจากลงระบบรถไฟทั้งทางไกลและความเร็วสูงที่เชื่อมต่อทั้ง 4 ภาค เราสามารถเดินทางต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งแน่นอนว่าสามารถใช้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ ในเมืองได้อย่างสะดวก
สถานีกลางบางซื่อ มี 24 ชานชาลา เป็นรถไฟชานเมือง 4 ชานชาลา รถไฟทางไกล 8 ชานชาลา รถไฟความเร็วสูง 10 ชานชาลา และรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ 2 ชานชาลา
นอกเหนือจากการเชื่อมต่อในระบบรถไฟฟ้าแล้ว หากเรานั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปท่าเรือบางโพ ไปขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยาได้ เป็นการเชื่อมต่อทางน้ำ
อีกทั้งยังจะถูกทำเป็นจุดเชื่อมต่อสถานี Airport Link ที่สามารถเดินทางไปยังสนามบินทั้งสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา จึงทำให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปทางอากาศได้เช่นกัน
ถ้าหากระบบขนส่งสาธารณะเป็นสิ่งที่ท่านไม่ชอบ สถานีกลางบางซื่อก็อยู่ติดทางด่วนศรีรัชสำหรับการเดินทางด้วยรถส่วนบุคคล ซึ่งสามารถเดินทางต่อไปยังโครงข่ายทางด่วนเส้นต่าง ๆ ได้อีกด้วย
เชื่อมต่อได้มากขนาดนี้ พื้นที่ก็ต้องกว้างขวางรองรับ
|
|
สถานีหัวลำโพง |
สถานีกลางบางซื่อ |
พื้นที่ |
120 ไร่ |
2,475 ไร่ |
ชานชะลา |
14 ชานชะลา |
24 ชานชะลา |
รองรับผู้โดยสาร |
60,000 คน - เที่ยว/วัน |
624,000 คน - เที่ยว/วัน |
การเชื่อมต่อรถไฟฟ้า |
สายสีน้ำเงิน |
สายสีน้ำเงิน
สายสีเขียว
สายสีม่วง
|
การเชื่อมต่อสนามบิน |
ดอนเมือง |
ดอนเมือง
สุวรรณภูมิ
อู่ตะเภา
|
การที่สถานีรถไฟกลางบางซื่อจะรองรับผู้โดยสารต่อวัน 624,000 เที่ยว จึงต้องมีพื้นที่ที่สามารถรองรับได้
สถานีกลางบางซื่อตั้งอยู่ในพื้นที่ที่กว้างขวาง มีพื้นที่โดยรอบ 2,475 ไร่ ซึ่งแน่นอนว่าการขยับขยายในอนาคตก็ยังทำได้อีก ปัญหาหลักของสถานีหัวลำโพงในปัจจุบันคือการที่พื้นที่โดยรอบนั้นถูกล้อมรอบเอาไว้ด้วยสิ่งก่อสร้างอื่น
พื้นที่ใช้สอย 274,192 ตารางเมตร ถูกแบ่งออกเป็น 4 ชั้น ซึ่งมีจุดประสงค์ในการใช้แตกต่างกันไป
- ชั้นใต้ดิน เป็นลานจอดรถ 1,700 คัน
- ชั้น 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว พื้นที่พักคอยผู้โดยสาร เขตร้านค้า พื้นที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และจุดเชื่อมต่อรถโดยสาร ขสมก. และ บขส.
- ชั้นที่ 2 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) มี 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล มี 8 ชานชาลา
- ชั้นที่ 3 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมภูมิภาค มีทั้งหมด 10 ชานชาลา แบ่งเป็นรถไฟสายใต้ 4 ชานชาลา รถไฟสายเหนือ และสายอีสาน รวม 6 ชานชาลา
การประดับตกแต่ง
นอกเหนือจากพื้นที่ใช้ประโยชน์แล้ว ยังมีลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ขนาด 186,030 ตารางเมตร และบึงน้ำขนาด 14,000 ตารางเมตร และมีลานน้ำพุประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
อีกทั้ง ผนังกระจกทางเข้าสถานี ยังมีนาฬิกาหน้าปัดเลข ๙ ซึ่งนอกเหนือจากการใช้บอกเวลาแล้ว ยังเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
487 ไร่ ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
สถานีกลางบางซื่อใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 34,142 ล้านบาท ผลลัพธ์ที่ได้คือสถานีรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ล้มแชมป์เก่าอย่าง KL Sentral ในกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียไปได้
แน่นอนว่าในต่างประเทศมีการตั้งสถานีรถไฟกลางเช่นนี้อยู่ในแทบทุกประเทศ สถานีรถไฟกลางเป็นส่วนสำคัญของระบบขนส่งสาธารณะ เป็นศูนย์กลางการเดินทาง จุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวและการทำธุรกิจ
สถานีรถไฟหัวลำโพงเดิมตอบสนองโจทย์นี้ได้ แต่เมื่อความต้องการในการใช้งานขยับขยายมากยิ่งขึ้น และการขยับขยายนั้นทำไม่ได้ การสร้างศูนย์กลางการเดินทางใหม่จึงเป็นทางออกที่แน่นอนที่สุด