ตลาดรถยนต์นั่งแบบครอสโอเวอร์ เป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศไทยและในตลาดโลก ด้วยความเอนกประสงค์ในการใช้งานที่เหนือกว่ารถยนต์นั่งทั่วไป แต่มีราคาจำหน่ายในระดับเดียวกัน ทำให้ตลาดรถยนต์นั่งระดับกลางได้รับผลกระทบอย่างมาก
ผู้ประกอบการหลายรายก็มองเรื่องนี้อยู่เช่นกัน และพวกเขาก็ทำการแนะนำสินค้าในกลุ่มนี้ พร้อมทำการปรับราคาให้อยู่เหนือกว่ารถยนต์กลุ่มซี-เซกเมนต์นิดหน่อย โดยโตโยต้า (Toyota) ถือเป็นผู้นำในกลุ่มแรก ๆ ที่เปิดตัวโตโยต้า ซี-เอชอาร์ (Toyota C-HR) ในระดับราคาทะลุ 1 ล้านบาท
แม้จะมีการปรับโฉมในรุ่นที่ผ่านมาแล้ว แต่พวกเขาก็ยังทำราคาจำหน่ายใน 4 รุ่นย่อยของ New 2019 Toyota C-HR เอาไว้ที่เท่าเดิม ทำให้ราคาจำหน่ายของรถรุ่นนี้อยู่ที่ 9.79 แสนบาทไปจนถึง 1.159 ล้านบาท โดยมีทางเลือกเครื่องยนต์เบนซินและไฮบริดให้เลือกได้
ขณะที่นิสสันที่ไม่มีอะไรต้องห่วงกับตลาดรถยนต์นั่งขนาดกลาง พวกเขาส่ง All-New 2020 Nissan Kicks (2020 นิสสัน คิกส์) เข้ามาลุยตลาดแบบกะกวาดเรียบในทุกเซกเมนต์ ด้วยการตั้งราคาจำหน่ายไล่ไปตั้งแต่ 8.89 แสนบาทไปถึง 1.049 ล้านบาทใน 4 รุ่นย่อย
รถยนต์ที่เปิดตัวที่แรกของโลกในประเทศไทยอีกครั้ง มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ครั้งแรกในเซกเมนต์ ด้วยระบบขับเคลื่อนที่เรียกว่าอี-พาวเวอร์ ซึ่งเป็นระบบไฮบริดอีกรูปแบบหนึ่ง และนิสสันไม่มีทางเลือกอื่นให้กับลูกค้า ถ้าอยากได้รถคันนี้ก็ต้องใช้ระบบขับเคลื่อนนี้เท่านั้น
ขอพาไปดูรถ 2 รุ่นนี้ในทุกมิติ เพื่อดูว่าผู้อยู่ก่อนและผู้ท้าชิงนั้น ใครที่น่าสนใจกว่ากันกันแน่
ภายนอกออกแบบคนละสไตล์
โตโยต้า ซี-เอชอาร์ คือผู้นำด้านการออกแบบรถยนต์ครอสโอเวอร์ยุคใหม่ ด้วยเส้นสายเฉียบคม มาพร้อมตัวถังขนาดใหญ่กว่า แต่เตี้ยกว่าเล็กน้อยเพิ่มความเพรียวของตัวถัง พร้อมด้วยชุดไฟแบบแอลอีดีทั้งด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถเพิ่มความโฉบเฉี่ยวสวยงาม
กระจกบังลมหน้าเป็นแบบกันเสียงรบกวน สปอยเลอร์พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบแอลอีดีสว่างตา สาอากาศแบบครีบฉลาม พร้อมการตกแต่งรายละเอียดเล็กน้อยทั่วทั้งคัน เพื่อให้รถคันนี้มีความสปอร์ตมากที่สุด และเป็นการเริ่มต้นแนวทางการออกแบบยุคใหม่ของโตโยต้า
ขณะที่นิสสัน คิกส์ แม้จะมาด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ได้สปอร์ตเท่า แต่งานออกแบบยุคใหม่ของนิสสันก็ถือว่างามตา ด้วยกระจังหน้าสีดำเงาขนาดใหญ่ที่พัฒนาต่อยอดมาจากวี-โมชั่นอีกที ให้บรรยากาศที่ดูแข็งแรง บึกบึน แต่แฝงด้วยความทันสมัยในอุปกรณ์ติดรถอื่น ๆ
ระบบไฟทั้งคันของคิกส์ก็เป็นแอลอีดีเช่นเดียวกัน เพิ่มความสว่างในยามค่ำคืนอย่างชัดเจน หลังคาแบบลอยตัวทำให้รถดูโปร่งตายิ่งขึ้น เสาอากาศแบบครีบฉลามก็มีมาให้เรียบร้อย เรียกว่าในไลน์อุปกรณ์นั้นไม่ได้แพ้ชนะกันแบบขาดลอยเท่าใด
ความลงตัวในการออกแบบรถยนต์ทั้งคันนั้น คิกส์ดูจะสร้างความคุ้นชินให้กับเจ้าของรถรายใหม่ได้ง่ายกว่า แต่ดีไซน์ของซี-เอชอาร์นั้น เหมาะสำหรับคนที่ไม่ยึดติดกับกรอบในการเลือกใช้งานรถยนต์สักคัน และชอบความโดดเด่นบนถนนอย่างแท้จริง
ห้องโดยสารของคิกส์ที่สบายตากว่า
โดยภาพรวมของห้องโดยสารรถสองคันนี้ถือว่าไม่ได้แตกต่างกันมาก ทั้งความน่าใช้งาน อุปกรณ์ที่ติดตั้งมาให้ เบาะแถวหลังแบบพับแยกได้เพื่อให้เพิ่มขีดความสามารถในการใช้งาน รวมไปถึงการตกแต่งที่ให้บรรยากาศที่ดีในการเดินทางที่ไม่แพ้กัน
จุดที่นิสสัน คิกส์ น่าจะเหนือกว่าจริง ๆ ก็คือบรรยากาศในห้องโดยสารตอนหลังที่เป็นมิตรและเปิดกว้างมากกว่า ด้วยการออกแบบที่ธรรมดา หลังคาแบบลอยตัวเพิ่มพื้นที่การใช้สอย เรียกว่าสามารถเข้าไปนั่งได้แบบไม่รู้สึกอึดอัดแต่อย่างใด
ห้องโดยสารของคิกส์มาพร้อมเบาะหุ้มหนังสีทูโทนดำสลับส้ม เบาะที่นั่งทุกตำแหน่งยังปรับด้วยมืออยู่ แดชบอร์ดหน้าบุแบบนุ่ม ตกแต่งเพิ่มความหรูหราด้วยวัสดุผิวดำมัน มาพร้อมมาตรวัดดิจิตอลแบบสี ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ดูสวยงามลงตัวทุกตำแหน่ง
โตโยต้านั้น แม้จะทำห้องโดยสารที่ดูทันสมัยหรูหรามาให้กับซี-เอชอาร์ ด้วยการตั้งจอสัมผัสขนาดใหญ่ พวงมาลัยมัลติฟังชั่นส์ หน้าจอแสดงผลยุคใหม่ รวมถึงเบาะที่นั่งที่ดูสบายตัว แต่การเลือกใช้วัสดุในห้องโดยสารนั้นก็ยังถือว่าเป็นรองอยู่ ด้วยชิ้นพลาสติกที่มีให้เห็นในตำแหน่งทั่วไปในรถ
การออกแบบภายนอกให้มีความลู่ลมและมีการทำพื้นที่ตอนท้ายให้มีความลาดเอียงมากเป็นพิเศษ ประกอบกับรูปแบบของตัวถัง ส่งผลให้พื้นที่ห้องโดยสารตอนหลังโดนบีบ กระจกด้านหลังที่แคบ แน่นอนว่าย่อมก่อให้เกิดความอึดอัดสำหรับผู้โดยสารอย่างแน่นอน
เครื่องยนต์ไฮบริดที่คิดกันคนละแบบ
โตโยต้านั้นมาพร้อมกับเครื่องยนต์ไฮบริดที่พวกเราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว การทำงานหลักเป็นหน้าที่ของเครื่องยนต์ และใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการเสริมแรงของรถยนต์ให้มีสมรรถนะสูงขึ้น การส่งกำลังเป็นหน้าที่ของเกียร์อัตโนมัติอี-ซีวีทีแบบใหม่ ที่พัฒนาสำหรับเครื่องยนต์ไฮบริดเจนเนอเรชั่นนี้
กำลังสูงสุดของเครื่องยนต์ 122 แรงม้าคือการทำงานร่วมกันของเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งให้การตอบสนองที่ดีเยี่ยมทันใจ ด้วยฟีลลิ่งการขับขี่แบบที่เราคุ้นเคยกันดี ไม่ต้องปรับตัวอะไรมากก็สามารถใช้งานรถคันนี้ได้อย่างลื่นไหล
นิสสัน คิกส์ ก็มาพร้อมเครื่องยนต์ไฮบริดอีกรูปแบบหนึ่งที่อาจจะไม่คุ้นเคยกันมากนัก ด้วยเครื่องยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนตัวรถเพียงอย่างเดียว ติดตั้งเครื่องยนต์ขนาดเล็กเพื่อทำหน้าที่ในการปั่นกระแสไฟให้กับมอเตอร์ ทำให้ไม่ต้องเสียบปลั๊กชาร์จไฟบ้านนาน ๆ
มอเตอร์ไฟฟ้าสมรรถนะสูง ให้กำลัง 129 แรงม้า พร้อมฟีลลิ่งในการขับขี่แบบรถยนต์ไฟฟ้า คือกดแล้วมาตั้งแต่เหยียบคันเร่ง การควบคุมรถใช้แป้นคันเร่งแบบอี-เพดัล ซึ่งมีความแม่นยำในการควบคุมรถยนต์ไฮบริดของนิสสัน ให้เร่งและหยุดได้ในทุกสภาวะการขับขี่
จริง ๆ แล้วต้องถือว่ามีดีกันไปคนละแบบสำหรับระบบไฮบริดที่แต่ละฝ่ายเลือกนำมาใช้ ความเคยชินและการบำรุงรักษาในระยะยาวนั้น ยังไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ว่าใครเหนือกว่าใคร แต่ก็ถือเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ที่รักษ์โลกมากขึ้นทั้งคู่เลย
ตารางเปรียบเทียบรายละเอียดทางเทคนิค
ตารางเปรียบเทียบรายละเอียดทางเทคนิค |
|
Toyota C-HR 1.8 Hybrid High |
Nissan Kicks 1.2 e-Power VL |
ราคาจำหน่าย (ล้านบาท) |
1,159
|
1,049 |
มิติตัวถังกว้าง (มิลลิเมตร) |
1,795 |
1,760 |
มิติตัวถังยาว (มิลลิเมตร) |
4,360 |
4,290 |
มิติตัวถังสูง (มิลลิเมตร) |
1,565 |
1,615 |
ระยะฐานล้อ (มิลลิเมตร) |
2,640 |
2,615 |
การขับเคลื่อนรถยนต์ |
เครื่องยนต์เป็นหลัก มอเตอร์ไฟฟ้าหนุนการทำงานของเครื่องยนต์ |
มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลัก เครื่องยนต์ทำหน้าที่สร้ากระแสไฟฟ้า |
เครื่องยนต์ |
2ZR-FXE |
HR12DE |
ปริมาตรกระบอกสูบ (ซีซี.) |
1,798 |
1,198 |
กำลังสูงสุด (แรงม้า/รอบต่อนาที) |
98/5,200 |
79/6,000 |
|
แรงบิดสูงสุด (นิวตันเมตร/รอบต่อนาที) |
142/3,600 |
103/3,600-5,200 |
มอเตอร์ไฟฟ้า |
PMSM |
EM57 High Power |
กำลังสูงสุด (แรงม้า) |
72 |
129 |
แรงบิดสูงสุด (นิวตันเมตร) |
163 |
206 |
พละกำลังรวมสูงสุด (แรงม้า) |
122 |
129 |
แบตเตอรี่ |
นิกเกิล เมทัล ไฮไดรด์ |
ลิเธียม-ไอออน |
ระบบส่งกำลัง |
เกียร์อัตโนมัติ E-CVT |
แป้นคันเร่งแบบ One-Pedal |
ระบบบังคับเลี้ยว |
พวงมาลัยพาวเวอร์ไฟฟ้า EPS |
พวงมาลัยพาวเวอร์ไฟฟ้า EPAS |
ช่วงล่างด้านหน้า |
อิสระ แมคเฟอร์สัน สตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง |
แมคเฟอร์สัน สตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง |
ช่วงล่างด้านหลัง |
อิสระ ดับเบิล วิชโบน พร้อมเหล็กกันโคลง |
ทอร์ชั่น บีม คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง |
ระบบเบรกหน้า |
ดิสก์เบรก |
ดิสก์เบรกพร้อมครีบระบายความร้อน |
ระบบเบรกหลัง |
ดิสก์เบรก |
ดิสก์เบรก |
อัดอุปกรณ์ความปลอดภัยเต็มรูปแบบ
ด้วยการเป็นรถยนต์ที่ราคาค่าตัวเกิน 1 ล้านบาท ในรุ่นท็อปของโตโยต้า ซี-เอชอาร์และนิสสัน คิกส์ จึงเต็มไปด้วยระบบความปลอดภัยอย่างเหนือชั้น ที่ต่างฝ่ายต่างก็ขนมาใส่ในรถของตัวเองอย่างเต็มที่ เรียกว่าไม่ต้องไปคิดว่าจะทำอะไรเพิ่มเติมไปได้มากกว่านี้อีก
คิกส์นั้น ใส่ระบบป้องกันภัยก่อนการเกิดเหตุมาเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น ระบบเตือนการชนด้านหน้า ระบบเบรกอัตโนมัติ ระบบเตือนความเหนื่อยล้าขณะขับขี่ ระบบตรวจจับวัตถุรอบคัน ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผันและระบบเตือนมุมอับสายตา
รวมไปถึง ระบบเตือนรถตัดผ่านขณะถอยหลัง เทคโนโลยีช่วยลดอาการโยนตัวบนทางขรุขระ และเทคโนโลยีช่วยควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง ที่ทำงานร่วมกับระบบช่วยเหลือด้านการขับขี่อื่น ๆ และมาพร้อมกับถุงลมนิรภัยมากถึง 6 ตำแหน่ง
ขณะที่โตโยต้าก็มาพร้อมความปลอดภัยเต็มที่เช่นกัน รุ่นท็อปมาพร้อมกับถุงลมนิรภัย 7 ลูก ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันประกอบด้วย ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตาที่กระจกมองข้าง ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถตัดผ่านขณะถอยหลัง ระบบเตือนเมื่อผู้ขับขี่มีอาการเหนื่อยล้า
เสริมด้วย ระบบความปลอดภัยก่อนการชนและเบรกอัตโนมัติ ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน พร้อมหน่วงพวงมาลัยอัตโนมัติ รวมถึงระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ แบบแปรผัน ซึ่งเมื่อรวมกับระบบช่วยเหลือด้านการขับขี่อื่น ๆ ก็ถือว่าพร้อมลุยทุกถนนเช่นกัน