เมื่อไม่นานมานี้ จากการประชุมที่เมือง Glascow ประเทศสกอตแลนด์ ในการประชุม COP26 เพื่อทำแผนงานที่จะช่วยโลกจากภัยพิบัติด้านสภาพอากาศ โดยหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาคือการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
ภาครัฐจากหลายประเทศได้มีนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ ปธน. สหรัฐฯ โจ ไบเดน ตั้งเป้าหมายให้ครึ่งหนึ่งของรถที่ขายในสหรัฐฯ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2030 และในเป้าหมายปีเดียวกันนี้ ฝรั่งเศสและอังกฤษจะยุติการขายรถเครื่องยนต์สันดาปโดยสมบูรณ์
ส่วนนอร์เวย์ ที่มีเป้าหมายเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ภายในปี 2025 แต่คาดว่าจะบรรลุเป้าหมายก่อนกำหนดถึง 3 ปี และจะยุติการขายรถเครื่องยนต์สันดาปได้ภายในต้นปี 2022
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการการปฏิวัติรถยนต์ไฟฟ้า และไม่ใช่แค่พวกเขาต้องพลาดเสียงที่เครื่องยนต์คำราม ถึงแม้รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นองค์ประกอบหลักของกลยุทธ์เพื่อช่วยโลกของเรา แต่วิธีนี้ก็ไม่ได้สวยงามแบบที่เห็นในตอนแรก
ปัญหาหนึ่งที่เกิดเมื่อมีความต้องการของรถอีวีสูงขึ้น ได้แก่ ส่วนประกอบของลิเธียมและโคบอลต์สำหรับการทำแบตเตอรี่ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องด้วยการขุดเหมืองเพื่อแร่ดังกล่าวในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ชิลี แต่ก็ยังมีอีกปัญหาที่ใกล้ตัวเรามากกว่าด้านสิ่งแวดล้อม นั่นคือจะทำให้หลายพันคนต้องตกงาน
หลักการนี้มาจากบทความโดย Bloomberg ในชื่อ “การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าในมุมที่ไม่มีใครพูดถึง” โดยผู้เขียนแสดงให้เห็นว่า ยอดขายของรถอีวีที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากจะส่งผลต่อหลายภาคส่วนในอุตสาหกรรมรถยนต์
“ง่ายขึ้น” จึงทำให้ “น้อยลง”
“ความง่าย” คือหนึ่งในข้อดีสำคัญของรถอีวีเลยก็ว่าได้ เพราะรถอีวีมีชิ้นส่วนมอเตอร์ไฟฟ้าที่ไม่ซับซ้อนเท่าเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งเป็นผลดีต่อเจ้าของรถที่อาจทำให้การซ่อมบำรุงนั้นง่ายกว่า ไม่ต้องเข้าเช็คระยะบ่อยเหมือนแต่ก่อน
แต่ด้วย “ความง่าย” ของรถอีวีนั้น อาจทำให้งานของศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมรถลดลง ความต้องการแรงงานในสถานที่นั้นก็คงลดน้อยลงด้วย
นอกจากนั้นยังไม่รวมซัพพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วนอื่น ๆ ในเครื่องยนต์สันดาปอีกมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ผลิตในโรงงานผลิตรถยนต์โดยตรง แต่จะเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ที่ผลิตชิ้นส่วนเล็ก ๆ เช่น ท่อ ตัวยึด ไดชาร์จ หรือไส้กรอง
แม้รถอีวีจะยังใช้ซัพพลายเออร์เพื่อผลิตเบรค ยาง ช่วงล่าง วัสดุกันเสียง หรือลูกยาง แต่ก็ทำให้ซัพพลายเออร์อีกหลายเจ้าต้องลำบาก
ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมยายยนต์และอุปกรณ์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในสหรัฐฯ มีการจ้างงานอยู่เกือบ 5 ล้านคน และคิดเป็น 2.5% ของ GDP ในสหรัฐฯ แต่ในช่วงที่มีโรคระบาด COVID-19 ทำให้หลายพันคนว่างงาน และรวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์อีกด้วย
เด็ดดอกไม้สะเทิอนถึงดวงดาว
ถ้าการชาร์จรถอีวีของเราได้ที่บ้านก็เพียงพอ เนื่องจากเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ที่พัฒนามากขึ้น หมายความว่ารถอีวีส่วนใหญ่สามารถวิ่งได้ 480 กม.ขึ้นไป (300 ไมล์) เราอาจมีความจำเป็นในการแวะปั้ม (น้ำมันหรือสถานีชาร์จไฟ) ในที่ ๆ เราสามารถจอดเพื่อแวะซื้อของหรือเครื่องดื่ม
ในขณะที่อังกฤษประสบปัญหาวิกฤตการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิง เจ้าของปั้มน้ำมันต่างบ่นอุบว่าพวกเขาสูญเสียรายได้จากร้านค้าต่าง ๆ เช่นเดียวรายได้จากน้ำมันเชื้อเพลิง
และความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงยังส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อความต้องการเอทานอล ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกวันนี้ ซึ่งการผลิตเอทานอลนั้นคิดเป็น 1 ใน 3 ของการปลูกข้าวโพดในสหรัฐฯ
การเปลี่ยนแปลงอาจเป็นผู้ร้าย แต่บางทีอาจเป็นโอกาส
กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด เครื่องยนต์สันดาปก็คงไม่หายไปทันทีฉันนั้น รถน้ำมันยังคงมีขายไปอีกหลายปี และรถก็มีระยะเวลาการใช้งานของมัน แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะมาถึงอย่างแน่นอน และคาดว่าสหภาพแรงงานผลิตรถยนต์จะต้องมั่นใจว่าจะมีงานทำจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
โดยถ้าผู้ผลิตรถยนต์นั้นได้รับเงินภาษีจากการช่วยเหลือของรัฐบาล ผู้ผลิตรถยนต์เหล่านั้นควรปกป้องความเป็นอยู่ของผู้เสียภาษีเหล่านั้นด้วย
ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เช่น ฟอร์ดและ GM ได้ลงทุนในโรงงานแบตเตอรี่ไปไม่น้อย ซึ่งสามารถเพิ่มการจ้างงานในโอไฮโอ เทนเนสซี และเคนตักกี้ แม้ว่างานเหล่านั้นจะไม่อยู่ในสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ (UAW) และจะไม่ดีต่อคนงานในดีทรอยด์ซึ่งเป็นฐานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่มากนักในระยะยาว
แต่รถอีวีก็ไม่ได้เป็นผู้ร้ายเสมอไป เพราะการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทำให้งานบางอย่างเพิ่มขึ้น แต่บางงานก็ลดลง ลองนึกถึงผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม, การเข้ามาของพลังงานไฟฟ้า, การขนส่งทางอากาศ และคอมพิวเตอร์ รวมถึงนวัตกรรมดิจิตอลอื่น ๆ เช่น สมาร์ทโฟน ไฟล์เอ็มพี 3
ซึ่งคงคล้ายกับการที่นิตยสารหลายเจ้าปิดตัวลง หรือสื่อรถยนต์ในสมัยนี้ที่อยู่ในแพลทฟอร์มออนไลน์กันเป็นส่วนใหญ่
การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ผู้ที่ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นก็จะอยู่รอดปลอดภัยได้...
อ่านเพิ่มเติม : นักวิเคราะห์ชี้ค่ายรถลงทุนสร้างรถยนต์ไฟฟ้าเหมือนทำสงครามเย็น