จริง ๆ แล้วหากจะบอกว่า Toyota bZ4X (โตโยต้า บีซีโฟร์เอกซ์) นั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของ Toyota (โตโยต้า) นั้นก็คงจะไม่ผิดนัก แต่ต้องมองว่ามันเป็นรถที่ผลิตมาเพื่อขายทั่วโลก (mass produce) ถึงจะถูก
เพราะในความเป็นจริง Toyota เคยทำรถไฟฟ้าออกมาขายแล้วตั้งแต่ 1996 แต่มันไม่ประสบความสำเร็จ และไม่ได้วางขายทั่วไป เป็นเพราะอะไร เรามีคำตอบ
กำเนิดโครงการ RAV4 EV
ย้อนกลับไป 52 ปีที่แล้ว ในปี 1969 Toyota ได้เริ่มมีการทำวิจัยเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าออกมา จนในงาน Tokyo Motor Show 1993 พวกเขาได้เปิดตัว EV-50 Concept หรือรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบออกมาในตัวถัง SUV ขนาดเล็ก ที่มีหน้าตาคล้าย Toyota RAV4 ในช่วงนั้น
EV-50 Concept คือรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบที่ถูกพัฒนามาเพื่อการใช้งานในเมืองเป็นหลัก ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า
พร้อมระบบ Regenerative braking คือเมื่อรถเบรก ระบบจะปั่นไฟกลับเข้าไปชาร์จ ทำให้ได้ระยะทางต่อการชาร์จเพิ่มขึ้น
EV-50 Concept ได้กลายเป็นรถที่ผลิตจริงในชื่อว่า RAV4L EV ในปี 1995 ได้ถูกส่งให้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นและ Tokyo Electric Power บริษัทด้านพลังงานไฟฟ้าของญี่ปุ่นใช้เพื่อเก็บข้อมูลและพัฒนาต่อไป
รถในเวอร์ชั่นนี้ ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่แบบตะกั่วกรดติดตั้งใต้ท้องรถ ทำระยะทางต่อการชาร์จ 120 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 125 กม./ชม.
Rav4L EV ถูกพัฒนาและเก็บข้อมูลต่ออีกประมาณ 1 ปี ก่อนจะเปิดจำหน่ายให้คนทั่วไปได้จับจองผ่านตัวแทนจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 1 กันยายน 1996 โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 100 คัน
รถที่จำหน่ายจริง เปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่นิเกิลเมทัลไฮไดรด์ (NiMH) จากพันธมิตร Panasonic และได้ระยะทางเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว เป็น 215 กิโลเมตร/ชาร์จ
ในตอนนั้น เคาะราคาขายอยู่ที่ 4.95 ล้านเยน หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าแพงสำหรับในยุคนั้น
RAV4 EV ที่ขายจริง
เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงเดียวกันอย่าง Nissan Altra EV, Honda EV Plus หรือ GM EV1 ตัว Rav4L EV ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ทำระยะทางได้ค่อนข้างสูงในช่วงนั้น
เพราะรถส่วนใหญ่ยังทำระยะทางได้ประมาณ 160-190 กิโลเมตรเท่านั้น และบางรุ่นยังใช้แบตเตอรี่ตะกั่วกรดเดิมอยู่
Toyota ทำการพัฒนารถรุ่นนี้อย่างหนัก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ก่อนการจำหน่ายให้คนทั่วไป
Rav4L EV ต้องผ่านการทดสอบมากมายทั้งการใช้งานในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รวมถึงการลงแข่งในรายการ Scandinavian Electric Car Rally 1995 ที่มีการขับรถข้ามประเทศต่อเนื่องกัน 5 วัน ซึ่ง Rav4L EV ก็คว้าแชมป์ในรายการนี้ไป
ด้วยระยะทางต่อการชาร์จที่ใช้งานได้จริง รวมถึงชื่อเสียงจากการเป็นแชมป์แรลลี่รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ RAV4L EV โฉมแรกประสบความสำเร็จได้ด้วยดี และมีรุ่น RAV4L V EV ที่เป็นรุ่นตัวถัง 5 ประตูตามมาในปี 1997
รถในเวอร์ชั่น 5 ประตูยังคงใช้แบตเตอรี่ตัวเดิม แต่มีการปรับมอเตอร์ให้พละกำลังมากขึ้นเล็กน้อย และถูกส่งไปทำตลาดที่แคลิฟอรเนียร์ สหรัฐอเมริกาด้วย
ในช่วงแรกยังเป็นการทดสอบตลาดก่อน จึงเปิดขายอย่างเป็นทางการในปี 2002 ทำยอดขายที่สหรัฐในปีแรกได้สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 328 คัน
แล้วทำไมไม่ได้ไปต่อ
แม้ในปีแรกจะทำยอดขายได้อย่างน่าประทับใจ และเหมือนจะไปได้ด้วยดี แต่ในปีต่อมาโตโยต้าจำเป็นต้องเลิกขาย RAV4L V EV เนื่องจากปัญหาสิทธิบัตรแบตเตอรี่ NiMH EV-95
เมื่อ Chevron บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ได้เข้ามาถือครองสิทธิบัตริของแบตเตอรี่ NiMH EV-95 และชนะการฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธ์กับ Toyota กับ Panasonic ทำให้สิทธิในการใช้งานแบตเตอรี่ตัวนี้ถูกจำกัด จนต้องเลือกผลิตไป
ไม่ย่อท้อ
ถึงแม้จะต้องเลิกผลิตไป แต่ Toyota ยังไม่ย่อท้อ ในปี 2012 ได้มีการวางขาย Toyota RAV4 EV อีกครั้ง แถมยังได้รับการช่วยเหลือจากพันธมิตรใหม่อย่าง Tesla (เทสล่า) เพื่อมาช่วยพัฒนาระบบแบตเตอรี่ มอเตอร์ และชุดส่งกำลัง จากเดิมที่เป็น NiMH ไปเป็นลิเธียมไอออน วางขายในแคลิฟอร์เนียเช่นเดิม
น่าเสียดายที่ว่า RAV4 EV ได้กลับมาทำตลาดเพียง 2 ปีเท่านั้น มีสาเหตุมาจากราคาแบตเตอรี่ลิเธี่ยมไอออนยังมีราคาแพง ยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
ด้วยเหตุนี้เองจึงต้องทำการปิดตำนานการขาย Toyota RAV4 EV จากรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะกลายเป็นดาวรุ่ง แต่กลับมีปัญหาเรื่องสิทธิบัตรของแบตเตอรี่ และราคาที่ยังไม่คุ้มทุน
อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีการกลับมาใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายสามห่วง คือ Toyota bZ4X ที่มีการออกแบบน่าประทับใจ และสมรรถนะน่าพอใจ
ด้วยตัวเลือกขุมพลังระหว่างระบบขับเคลื่อนล้อหน้า มอเตอร์ไฟฟ้าตัวเดียวให้พละกำลัง 200 แรงม้า และแรงบิด 265 นิวตันเมตร และตัวเลือกระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ให้กำลัง 215 แรงม้าจากมอเตอร์คู่ สามารถเร่งจาก 0-100 กม./ชม.ได้ใน 7.7 วินาที
ซึ่งจะมีตัวเลือกแบตเตอรี่ให้แบบเดียวคือแบตลิเธี่ยมไอออนขนาด 71.4kWh สามารถวิ่งได้ 500 กม./ชาร์จ จากการทดสอบในประเทศญี่ปุ่น
และยังตั้งเป้าไว้ว่าแบตเตอรี่ของ bZ4X จะยังคงรักษาความจุได้ถึง 90% หลังจากใช้งานไป 10 ปี หรือ 240,000 กม. ในการขับขี่ แล้วแต่ว่าจะถึงอย่างใดก่อน