มีความเชื่อหนึ่งที่ว่า การขับรถทางไกลนั้นจะต้องจอดพักทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เหมือนกับที่คนต้องพักบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นรถขนาดเล็ก เครื่องยนต์ต่ำกว่า 1.5 ลิตรลงไป ดูเหมือนว่าความเชื่อนั้นจะถึงขั้นที่ว่าถ้าไม่ทำแล้วรถจะพังเลยทีเดียว
ประเด็นคือ ความเชื่อดังกล่าวนี้ถูกต้องแล้วหรือไม่? คำตอบก็คือ ไม่ถูกครับ และเราจะให้เหตุผลกันว่าทำไมการขับรถทางไกล ไม่ว่าจะเป็น Rolls-Royce Phantom (โรลล์-รอยส์ แฟนท่อม) หรือ Suzuki Celerio (ซูซูกิ เซเลริโอ้) ก็ล้วนแต่ไม่จำเป็นต้องจอดให้รถพักทั้งสิ้น
ความเชื่อดังกล่าวนี้มาจากไหน?
ถ้าเกิดในปัจจุบันนี้ คุณยังขับรถอย่าง Lancia Lambda (ลานเซีย แลมบ์ด้า) อยู่ คุณก็อาจจะต้องจอดพักทุก ๆ 2 ชั่วโมง
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่ารถยนต์ในยุคสมัย 1920 จนถึง 1960 ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "ถังพักน้ำ" หรือ Coolant Overflow Tank ที่ซึ่งจะรองรับน้ำจากระบบหล่อเย็นที่มีแรงดันจนผลักออกจากระบบเมื่ออุณหภูมิขึ้นสูงมาก
หลังจากยุค 1930 ระบบหม้อน้ำของรถยนต์นั้นมีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้เราไม่ต้องตรวจสอบน้ำในหม้อน้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมงอย่างในยุค 1920 ซึ่งต้องจอดตรวจสอบกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย
แต่ถึงกระนั้น ก็ยังดีกว่าถ้าคุณขับรถจากยุค 1900 นะครับ เพราะหม้อน้ำของรถยนต์เหล่านี้มีประสิทธิภาพต่ำมากเสียจนคุณต้องจอดพักให้เครื่องเย็นทุก ๆ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เพื่อที่จะเติมน้ำกลับเข้าระบบด้วย
แต่ในเมื่อปัจจุบันนี้ หม้อน้ำของรถยนต์ก็มีประสิทธิภาพสูงมากจนสามารถรักษาอุณหภูมิของระบบหล่อเย็นไว้ได้ตามที่บริษัทรถยนต์กำหนด อีกทั้งยังมีถังพักน้ำเก็บน้ำยาหล่อเย็นที่ถูกแรงดันผลักออกอีกด้วย จึงไม่จำเป็นต้องตรวจสอบรายวัน แต่เป็นตรวจสอบระดับน้ำรายเดือนก็เพียงพอแล้ว และไม่จำเป็นต้องจอดพักด้วย
แต่เดี๋ยวก่อน เข้าในว่าคูลแลนท์อยู่ในระบบปิด แต่น้ำมันเครื่องละ ไม่ร้อนแย่เหรอ?
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบรถยนต์และศึกษามาบ้าง ก็อาจจะทราบว่าการใช้รอบเครื่องยนต์ที่สูง จะทำให้อุณหภูมิของน้ำมันเครื่องร้อน และบางทีการขับรถเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็อาจจะเกิดความร้อนสะสมได้?
ในความเป็นจริง รถยนต์ปัจจุบันทุกรุ่น มี Oil-Cooler ทั้งแบบด้วยอากาศจาก Heat Sink และแบบใช้น้ำหล่อเย็นหมุนวน จึงทำให้ตราบใดที่คุณใช้รอบความเร็วคงที่ ไม่สูงเกินไป ไม่ลากถึง Redline อุณหภูมิน้ำมันก็จะค่อนข้างคงที่ อยู่ในระดับที่ผู้ผลิตน้ำมันคิดและวิจัยมาแล้วว่าจะไม่เกิดการระเหยและเสื่อมสภาพ
แม้ว่าคุณจะใช้น้ำมันเบอร์ 0W-16 แบบรถอย่าง Suzuki Swift (ซูซูกิ สวิฟท์) แต่ถ้าคุณคงความเร็วรอบไว้ที่ 2,500-3,500 รอบ ซึ่งก็เป็นความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว คุณจะขับมันไปซัก 10 หรือ 20 ชั่วโมงก็ได้ ไม่มีปัญหาอะไร ความสึกหรอจะเกิดขึ้นในระดับปกติตามเลขกิโลเมตรที่ขึ้นมา
อีกประเด็นหลายท่านน่าจะทราบกันดีแล้ว แต่การสึกหรอของเครื่องยนต์กว่า 90% นั้น เกิดขึ้นในขณะที่เครื่องยนต์สตาร์ท เนื่องจากน้ำมันเครื่องยังขึ้นไปหล่อเลี้ยงไม่ถึง ไม่ใช่การขับขี่ที่ความเร็วคงที่ตลอด นั่นคือกรณีที่เครื่องยนต์จะสึกหรอน้อยสุดด้วยซ้ำ
นอกจากนั้น การที่อุณหภูมิเครื่องยนต์คงที่เป็นระยะเวลานาน จะส่งผลต่อชิ้นส่วนน้อยกว่าการปล่อยให้ชิ้นส่วนเหล่านี้อุณหภูมิลดลง และกลับขึ้นมาร้อนใหม่ เพราะทุกครั้งที่เกิด Heat Cycle ขึ้น ชิ้นส่วนโลหะจะขยับขยายตัว เปลี่ยนสภาพไปเรื่อย ๆ จนชิ้นส่วนอย่าง ปะเก็นฝาสูบ ก็อาจจะต้องรับภาระที่หนักกว่า
อ่านต่อ: Review : Suzuki Swift คล้ายขับ MINI แบบญี่ปุ่น ช่วงล่างเกาะดี ขยี้คันเร่งก็ประหยัด แต่มีจุดต้องปรับปรุง
รถเล็ก วิ่งเร็วต้องใช้รอบสูง มันก็สึกหรอเยอะกว่าสิ
คุณขับที่ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอยู่เหรอครับ? ต่อให้เป็น Mitsubishi Mirage (มิตซูบิชิ มิราจ) เนื่องจากเป็นระบบเกียร์ CVT ที่รอบ 4,000 รอบต่อนาที ความเร็วก็ขึ้นไปถึงกว่า 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว
อีกประเด็นที่สำคัญคือ แท้จริงแล้ว อุณหภูมิของน้ำมันเครื่องจะขึ้นเร็วหรือช้า ไม่ได้เกี่ยวกับขนาดของเครื่องยนต์ แต่อยู่ที่การออกแบบ ซึ่งแม้แต่บอกว่าใช้รอบเยอะ ก็ไม่อาจจะเอามาเป็นข้อบ่งชี้ว่าน้ำมันเครื่องจะร้อนกว่า ตราบใดที่คุณไม่ได้ติดตั้ง Oil Temperature Gauge คุณก็ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนหรอกครับว่ารอบเท่าไหร่ที่อุณหภูมิน้ำมันเครื่องจะขึ้นสูง
แต่ว่ารถคันน้อย ๆ ของเราก็อาจจะเหนื่อยนะ ให้เขาพักบ้างสิ
รถยนต์เป็นเครื่องจักรครับ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต มันไม่ต้องพักเหนื่อย และมันเกลียดคุณไม่ได้
สิ่งที่สำคัญมากกว่ารถจะเหนื่อย คือคนขับต่างหากที่จะเหนื่อย
ประเด็นข้อนี้คือสิ่งที่สำคัญมากกว่า เนื่องจากเราปฏิเสธไม่ได้ว่า การขับรถที่มีขนาดเล็กนั้น จะเหนื่อยกว่าการขับรถที่มีขนาดใหญ่ และเมื่อคนขับเหนื่อยล้า ก็อาจจะเกิดปัญหาการขาดสมาธิจนเกิดอุบัติเหตุได้
ด้วยเหตุนี้ บริษัทรถยนต์จึงได้พยายามที่จะใส่อุปกรณ์ช่วยเหลือคนขับต่าง ๆ ไม่ว่าจะระบบเตือนเมื่อรถออกนอกเลน หรือระบบชะลอรถเมื่อเจอสิ่งกีดขวาง เพื่อบรรเทา ลดทอนความรุนแรงของอุบัติเหตุลงไป
ยิ่งไปกว่านั้น รถของค่ายยุโรปอย่าง Mercedes-Benz (เมอร์เซเดส-เบนซ์) ในปัจจุบัน ก็มีระบบการเตือนเมื่อคนขับเหนื่อยล้า โดยใช้เซนเซอร์ตรวจจับหลายอย่าง
สุดท้ายแล้ว แม้ว่ารถจะไม่ต้องพัก แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่ต้องดูแลมัน
สิ่งที่เราบอกไปทั้งหมดนั้น ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าคุณดูแลรถของคุณอย่างถูกต้อง และอยู่ในสภาพที่พร้อมเสมอนะครับ ถ้าหากรถหม้อน้ำรั่ว หรือน้ำมันเครื่องหาย แล้วขับไปแบบไม่ตรวจสอบจนพัง นั่นคือความผิดของคุณ ไม่ใช่ความผิดของรถ
เว็บไซต์ Autofun Thailand ได้จัดทำบทความเกี่ยวกับเทคนิคต่าง ๆ เกี่ยวกับรถยนต์ รวมถึงการบำรุงรักษาเอาไว้แล้วนะครับ