หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยกันอยู่ว่าทำไมค่ายรถแต่ละรายถึงซีเรียสเกี่ยวกับยอดจำหน่ายรถยนต์กันนัก จะเห็นได้จากการรายงานตัวเลขแต่ละเดือน ความดุดันของบรรยากาศการแย่งชิงกันเป็นผู้นำ เรียกได้ว่าบางทีถึงขั้นเป็นเรื่องตลกที่ทำให้คนที่ดูตัวเลขกันต้องแอบขำกันอยู่บ้าง
ในอดีตที่ผ่านมา การรายงานยอดจำหน่ายรถยนต์นั้นเป็นการรายงานของค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้าทุกเดือน ซึ่งต่อมาก็มีการปรับเปลี่ยนการรายงานรถยนต์ในบางเซกเมนต์ ทำให้มีการโวยวายจากค่ายรถที่เสียผลประโยชน์ จนต้องออกมารายงานยอดจำหน่ายของตัวเองกันบ้าง
จนกระทั่งมาถึงกรณีล่าสุด เมื่อเกิดรายการแชมป์เปลี่ยนมือกันในปีที่ผ่านมาในกลุ่มรถยนต์หรูหรา ทำให้อดีตแชมป์เก่าถึงขั้นลุกมารายงานตัวเลขจดทะเบียนรถยนต์เป็นครั้งแรก ขณะที่แชมป์ปีก่อนก็ออกมาเชือดนิ่ม ๆ ตามมาว่ายอดขายโดยรวมนั้นของตัวเองยังสูงกว่าอยู่นะ
นอกเหนือไปจากผู้นำตลาดรถยนต์หรูหราแล้ว ในตลาดรวมก็ถือว่าสนุกสนานเหมือนกัน เมื่อเกิดปรากฏการณ์หลุดแชมป์ 3 ตลาดเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้จะเกิดขึ้นเพียงเดือนเดียว แต่ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกเสียงฮือฮาจากแต่ละค่ายรถยนต์ได้เป็นอย่างดี
AutoFun Thailand พามาดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจอย่างมาก ในช่วงเวลาเพียง 3 เดือนแรกของปี และเป็นการยืนยันเลยว่า ตลาดรถยนต์ในปีนี้ ที่ยังเดาไม่ออกจริง ๆ ว่าจะออกหัวหรือก้อย แต่ที่แน่ ๆ การแข่งขันในแต่ละเซกเมนต์นั้นเลือดสาดแน่นอน
Mercedes-Benz vs BMW กับตลาดรถยนต์หรูหรา
หากย้อนอดีตตลาดรถยนต์ในประเทศไทยที่มีคู่ปรับในเซกเมนต์รถยนต์หรูหราอย่าง Mercedes-Benz (เมอร์เซเดส-เบนซ์) และ BMW (บีเอ็มดับเบิลยู) ถ้าถามว่ามีอยู่กี่ปี ที่ทางค่ายใบพัดสีฟ้าสามารถทำสถิติยอดจำหน่ายรถยนต์ต่อปีเหนือกว่าค่ายรถยนต์ตราดาวได้ในประเทศไทย
เอาเท่าที่ผมจำความได้ หากย้อนกลับไปในอดีตที่บีเอ็มดับเบิลยูเอาชนะเมอร์เซเดส-เบนซ์ได้ ก็ต้องพาย้อนไปจนถึงปี 2543 ที่บีเอ็มดับเบิลยูมีประธานในขณะนั้นชื่อคาร์สเท่น แองเกิล จากนั้นพวกเขาก็คว้าชัยชนะได้ 3 ปี จนถึงยุคของนายใหญ่วัยเยาว์ที่ชื่อฟรังค์ เริสเลอร์
เมอร์เซเดส-เบนซ์นั้นไม่พลาดนาน และหลังจากกลับมาได้ พวกเขาก็ไม่เคยปล่อยให้แชมป์รถยนต์หรูในประเทศไทยหลุดมืออีกเลย แถมยังเดินหน้ากวาดส่วนแบ่งตลาดกันเป็นว่าเล่น จนกระทั่งมีปัญหาเรื่องการประกอบรถบางรุ่นและการส่งมอบ ทำให้ตกเป็นรองในปี 2563
ปัญหามันอยู่ตรงที่พอเข้าปี 2564 ผ่านมาไตรมาสแรก เมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่เอาชนะไปได้ในงานมอเตอร์โชว์ ประกาศก่อนเลยว่าคว้าแชมป์ไตรมาสแรก ด้วยยอดจดทะเบียนรถที่เหนือกว่า ผ่านไปอีกแปป บีเอ็มดับเบิลยูออกมายันบ้าง ว่าตัวเองที่เป็นแชมป์ เพราะยอดจำหน่ายมากกว่า
บีเอ็มดับเบิลยูรายงานตัวเลขยอดจำหน่ายอย่างเป็นทางการที่มีการส่งไปยังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมีการรายงานโดยโตโยต้า ระบุว่าในช่วง 3 เดือนแรกพวกเขามียอดจำหน่าย 2,533 คัน เอาชนะคู่แข่งอย่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่มียอด 2,470 คันไปได้
งานนี้ต้องขอไม่ตัดสิน เพราะว่าเอาจริง ๆ มันก็ยังไม่ใช่ตัวเลขตอนจบที่แท้จริงอยู่แล้ว เพราะหากนับจริง ๆ ตัวเลขที่ควรนับมากกว่าคือยอดการส่งมอบรถจริงที่เกิดขึ้นในไตรมาสนั้น ๆ แต่เชื่อเถอะว่า สงครามรถหรูรอบนี้ น่าจะซัดกันรุนแรงต่อเนื่องไปจนจบสิ้นปีนี้ รู้ผลแพ้ชนะกันอย่างแน่นอน
โตโยต้าและ 3 มงกุฎที่หลุดหายไปเดือนนึง
ในอดีตนั้น Toyota (โตโยต้า) คือผู้นำในตลาดรถยนต์ที่เหนียวแน่น พวกเขานั้นครองแชมป์ในตลาดรถยนต์รวม ตลาดรถยนต์นั่งและตลาดรถกระบะ มาโดยตลอด เรียกว่าด้วยชื่อชั้นของผู้นำตลาดในประเทศไทย ยากที่จะหาใครมาเทียบกับค่ายรถเบอร์หนึ่งจากญี่ปุ่นได้ยากจริง ๆ
แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เริ่มมีคู่แข่งที่น่าสนใจเข้ามาในตลาดมากขึ้น ตลาดรถยนต์นั่งนั้น ถูก Honda (ฮอนด้า) ตีกินมาเรื่อย ๆ จนโดนแซงไปบ้างบางเดือน ทำให้มีการเปลี่ยนการรายงานตัวเลขยอดขายที่มีการนำรถยนต์เอนกประสงค์ไปไว้กับรถยนต์เชิงพาณิชย์มาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ฟากรถกระบะนั้น Isuzu (อีซูซุ) ที่ค่อย ๆ เดินเกมตามมาเรื่อย ๆ ก็มีอาการวูบวาบแซงกันขึ้นมาบ้างเป็นระยะ การรายงานยอดขายจึงมีการแยกกระบะออกจากรถดัดแปลงที่มีพื้นฐานจากกระบะ (พีพีวี) ซึ่งก็ดีเพราะว่าทำให้ตัวเลขการรายงานตลาดนั้นมีความชัดเจน
แต่เพราะว่าฮอนด้าไม่มีรถกระบะ และอีซูซุเองก็ไม่มีรถยนต์นั่ง ต่อให้พวกเขาขายดีขนาดไหน ก็ไม่มีทางแซงโตโยต้าที่มียอดขายจากทั้งสองขาไปได้ ทำให้ยังไงโตโยต้าก็ต้องรักษาแชมป์เอาไว้ได้สักตลาด นี่คือความเชื่อในอดีตที่เป็นแบบนี้มาอย่างยาวนานสำหรับตลาดประเทศไทย
จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเลยก็ว่าได้ เมื่อตลาดรถกระบะเพียงอย่างเดียวของอีซูซุสามารถเอาชนะยอดขายรวมของโตโยต้าไปได้ ทำให้พวกเขาเสียแชมป์ในตลาดทั้ง 3 น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการรายงานตัวเลขยอดขายกันเลย
ถ้าคุณไปถาม ทุกค่ายจะพูดว่า 'เราก็ไม่ได้ซีเรียสนะ'
เหมือนจะเป็นธรรมเนียมของการเปลี่ยนแปลงตัวเลขเหล่านี้ในทุก ๆ ปี หากคุณไปถามใครก็ตามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตัวเลข ทุกค่ายจะพูดเหมือนกันไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ว่า 'เราไม่ไดซีเรียสกับการเป็นที่หนึ่งหรือไม่' และมักต่อด้วย 'เราแค่ทำดีที่สุด แล้วที่เหลือก็ปล่อยให้ลูกค้าตัดสิน'
แต่ถ้าถามเราโดยส่วนตัวแล้ว มันมีความซีเรียสในหลาย ๆ ครั้งที่เกิดขึ้นมามากกว่าที่คิด เพราะการเป็นผู้นำในแต่ละตลาด แต่ละเซกเมนต์นั้นเป็นเรื่องที่จะส่งผลต่อความรับรู้ของผู้บริโภคอยู่มากพอสมควร ใครก็อยากจะสบายใจได้ใช้รถขวัญใจมหาชน ที่คิดกันไปว่ารถขายเยอะปัญหาจะน้อยกว่า
อันนี้ไม่ใช่แค่ยอดขายรายเดือนนะที่แข่งกัน แม้แต่รายงานยอดจำหน่ายในงานแสดงรถยนต์ทั้งหลายนี่ก็แข่งกันแบบดุเดือดเหมือนกัน ถ้าไม่เชื่อไปถามคนเก็บสถิติดูได้ เรื่องพวกนี้ไม่ใช่แค่ประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ว่าศักดิ์ศรีของการแข่งขันที่ตีมูลค่าไม่ได้ ก็เป็นประเด็นหลักเอาเรื่องอยู่