ในขณะที่รถดัดแปลงทรงเหลี่ยมของ Thairung ทำยอดขายน้อยส่อแววเจ๊ง แต่ทางด้านรถดัดแปลงทรงเหลี่ยมของอังกฤษชื่อ Ineos Grenadier กลับทำยอดจอง 17,000 คันอังกฤษ แล้วทำไมรถดัดแปลงทรงเหลี่ยมของไทยยี่ห้อ Thirung ถึงไม่ได้รับความนิยมแบบนี้บ้าง มาดูความเหมือนที่แตกต่างกัน
ไทยรุ่ง รถคนไทยที่ขายแทบไม่ออก
Thairung (ไทยรุ่ง) รถยนต์แห่งชาติไทยที่ยังเหลืออยู่เพียงยี่ห้อเดียว ในปัจจุบันผลิตแต่รถรุ่น Transformer II เป็นงานดัดแปลงจากรถกระบะ Hilux Revo มาครอบโครงสร้างออกแบบใหม่ และเปลือกตัวถังใหม่ ขายในราคาเริ่มต้น 1,505,000 บาท ซึ่งมียอดขายต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก จนไม่สามารถทำกำไรให้บริษัทได้เลย
Ineos Grenadier ยอดขายดี ราคา 1.6 ล้านบาท
รถดัดแปลงทรงเหลี่ยมไม่ได้มีแค่ไทยรุ่งเท่านั้น แต่ในอังกฤษ ก็มีรถชื่อว่า Ineos Grenadier ที่ใช้แนวคิดเดียวกับรถแห่งชาติไทย ทำผลงานในสไตล์ออฟโรดสายลุยทรงเหลี่ยมไม่แพ้กัน แต่เอาชนะไปด้วยยอดจองถึง 17,000 คัน ทั้งที่มีราคาขาย 40,000 ปอนด์ (ประมาณ 1.6 ล้านบาทไม่รวมภาษี) ซึ่งในตลาดรถใหม่แดนผู้ดี จัดว่าอยู่ในระดับราคาเดียวกับ SUV หรูอย่าง BMW X3 หรือ Mercedes-Benz GLC กันเลย แล้วทำไมรถเหลี่ยมราคาเท่ารถหรูอย่างนี้ ถึงได้ทำยอดขายดีนัก เรามาเทียบกับรถไทยรุ่งบ้านเราดูกัน
ดีไซน์ภายนอก
Thairung Transformer II โฉมปัจจุบันเป็นการปรับหน้าตาไมเนอร์เชนจ์จากโฉมแรกที่คนไทยออกแบบและสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง ส่วนโฉมสองนั้น เปลี่ยนหน้าตาด้านหน้า โดยได้ที่ปรึกษาจากอังกฤษ Shado Car Design Studio มาช่วยงาน ทำให้ออกมาเป็นทรงหุ่นยนต์ ดูไม่ล้าสมัยง่าย แม้ว่าจะออกขายมา 4 ปีแล้ว
Ineos Grenadier คนออกแบบรุ่นนี้ไม่ได้เป็นนักดีไซน์โดยตรง แต่เป็นสถาปนิกผู้ไม่เคยออกแบบรถรุ่นใดมากก่อน โดยร่างแบบใช้แรงบันดาลใจจาก Land Rover Defender โดยตรง ยังคงเค้าโครงทรงกล่องหลังคาเหลี่ยม เพียงแต่ออกแบบชิ้นส่วนปลีกย่อยให้มีรายละเอียดแตกต่างจากเดิมทุกชิ้นส่วน จนรอดจากข้อกล่าวหาคดีก็อปปี้แลนด์โรเวอร์ แต่ไม่ว่าอย่างไร ผู้คนที่จองรุ่นนี้ ต่างรู้ดีว่ามันคือร่างอวาตารของดีเฟนเดอร์นั่นเอง
พื้นฐานและเครื่องยนต์
ชิ้นส่วนแชสซีส์ เครื่องยนต์ และภายในของ Thairung Transformer II มาจากรถ Hilux Revo รุ่นย่อย Smart Cab Pre-runner สาเหตุที่ใช้รุ่นย่อยนี้ เพราะจะได้ช่วงล่างยกสูง กับออพชั่นภายในไฮเทคครบเครื่อง เช่น จออินโฟเทนเม้นท์ระบบสัมผัส พร้อมช่องต่อUSB,AUX รองรับ T-Connect มี Airbag ด้านหน้า 3 จุด รีโมท lmmobilizer ปุ่ม Push Start ส่วนเครื่องยนต์ก็มาจากโตโยต้าเช่นกัน มีให้เลือกระหว่างดีเซล 2.4 ขับเคลื่อนสองล้อ หรือดีเซล 2.8 ขับเคลื่อนสี่ล้อ มีทั้งเกียร์อัตโนมัติหรือธรรมดาให้เลือก กับช่วงล่างหน้าปีกนก และหลังแหนบ ที่ใส่โช้คอัพเพิ่มความหนืด
ทางด้าน Ineos Grenadier ออกแบบพื้นฐานใหม่หมด ช่วงล่างเป็นแหนบทั้ง 4 ล้อ ใช้เครื่องยนต์จาก BMW ทั้งแบบดีเซลและเบนซิน ขนาด 3.0 ลิตร 6 สูบ สามารถสั่งปรับจูนกำลังเครื่องได้ตั้งแต่ 260-400 แรงม้าตามใจลูกค้า ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด ขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น
สิ่งที่ไทยรุ่งควรทำ
ไทยรุ่ง ทรานสฟอร์มเมอร์ ทู คือตัวอย่างที่ดีของการตลาดที่ไม่ทำรถตามกระแสแข่งกับญี่ปุ่น หันมาสร้างความแตกต่างในตัวเอง ทำรถให้ดูไม่ล้าสมัยอยู่ได้ยาวๆ ไม่ต้องผลัดรุ่นบ่อย ๆ แต่ถ้าจะฟาดยอดขายได้มากขึ้น โดยไม่เปลี่ยนแปลงแม่พิมพ์มากมายนัก จะต้องเริ่มจากการปรับความสูงลดลง เพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงง่าย ผู้ซึ่งอยากได้รถอเนกประสงค์ ที่ไม่สูงจนต้องปีนบันไดขึ้นรถ รวมถึงการบริการสั่งสเปคได้ตามใจชอบของแต่ละคน ให้ลูกค้าเลือกสีสันแต่ละชิ้นส่วนผสมกันได้ กับเปลี่ยนตำแหน่งยางอะไหล่ลงไปในพื้นรถ เพื่อลดมาดออฟโรดลง และเพิ่มทัศนวิสัยด้านหลังมากขึ้นด้วย
คุณกัสคาดการณ์
เมื่อวิเคราะห์ปรากฎการณ์ Ineos Grenadier ถูกจอง 17,000 คันในอังกฤษตั้งแต่ก่อนเปิดตัว ไม่ใช่แค่เพราะกำลังซื้อในประเทศเขามีมากเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ซื้อเข้าใจในความสามารถการลุยแบบแลนด์โรเวอร์ และมั่นใจในเครื่องยนต์บีเอ็มดับเบิ้ลยู ประกอบกับหน้าตาที่ชวนให้นึกถึงรถรุ่นคลาสสิค ส่วนไทยรุ่งที่มียอดขายน้อย สาเหตุเพราะหน้าตาถูกใจคนเฉพาะกลุ่มเล็ก ๆ และขาดการสนันสนุนจากภาครัฐมาช่วยอุดหนุน ทำให้ราคาเอื้อมถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่ของการทำให้รถยนต์แบรนด์คนไทย กลับไม่รุ่งในวันนี้ คาดการณ์ไว้เลยว่า ไทยรุ่งก็ยังจะคงความอินดี้ไม่เน้นขายไปอีกนาน