เป็นที่ทราบกันดีว่า Tesla (เทสล่า) สามารถสร้างผลกำไรต่อการขายรถหนึ่งคันได้มากกว่าคู่แข่ง ซึ่งทำให้พวกเขาได้เปรียบและถือเป็นการ “ติดอาวุธ” ในสงครามการตัดราคาที่กำลังเกิดขึ้น
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ก่อนหน้านี้ Tesla เคยถูกมองว่าเป็นค่ายรถที่ขาดทุนย่อยยับมากที่สุด แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาปรับปรุงวิธีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง นำโดยอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จนทำให้สามารถสร้างผลกำไรติดต่อกันมาหลายไตรมาสแล้ว
รถยนต์ไฟฟ้า 1 คันของ Tesla สามารถสร้างผลกำไรได้ถึง 15,653 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5 แสนบาท มากกว่าถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับผลกำไรต่อคันของ Volkswagen และเหนือกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับ Toyota ค่ายรถเบอร์หนึ่งของโลก
ก่อนหน้านี้ Tesla ปรับขึ้นราคารถยนต์รุ่นยอดนิยมอย่าง Model Y เนื่องจากการขาดแคลนชิปส์เซมิคอนดักเตอร์และวัตถุดิบอื่น ๆ ทำให้ยอดการผลิตรถลดลง ค่ายรถจึงสามารถมุ่งเน้นไปที่รถที่สร้างผลกำไรได้สูงเพื่อชดเชยยอดขายที่ชะลอตัว
แต่การตัดสินใจล่าสุดของค่ายรถอเมริกันในการปรับลดราคานั้นเป็นความท้าทายครั้งใหม่ต่อกลยุทธ์ “ผลกำไรเหนือยอดขาย” ที่ไม่เพียง Tesla ยึดถือมาโดยตลอด แต่ค่ายรถร่วมชาติอย่าง GM ก็ยึดถือแนวทางดังกล่าวเช่นกัน
ที่ผ่านมา Tesla มุ่งเน้นลงทุนที่เทคโนโลยีการผลิตอย่างเต็มที่เพื่อควบคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับที่ต้องการ การใช้เหล็กขึ้นรูปขนาดใหญ่แทนชิ้นส่วนขนาดเล็กช่วยทำให้พวกเขาลดต้นทุนลงได้อย่างมีนัยสำคัญ และทำให้สามารถดำเนินกลยุทธ์การ “ปรับลดราคา” ได้อย่างทรงประสิทธิภาพซึ่งสร้างเซอร์ไพรส์ให้หลายฝ่าย แม้กระทั่งลูกค้าชาวจีนที่ซื้อรถไปก่อนหน้านี้ยังไม่พอใจถึงกับก่อหวอดประท้วงหน้าโชว์รูมในหลายเมืองใหญ่
สงครามราคาไม่ใช่เรื่องใหม่
การควบคุมต้นทุนการผลิตเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์การปรับลดราคาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก
ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เฮนรี่ ฟอร์ด เคยหั่นราคา Model T เมื่อกำลังการผลิตพุ่งสูงถึงระดับ “แมส” ขณะที่ Toyota ก็ใช้ระบบการผลิตแบบลีน ขจัดกระบวนการที่ไม่จำเป็นจนสามารถเคาะราคารถที่ทำให้ค่ายคู่แข่งลำบากใจ
นักวิเคราะห์ชี้ว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตรวดเร็วก็จริง แต่กำลังการผลิตรถยนต์จะแซงหน้าความต้องการใช้งานในอีกไม่ช้า นั่นทำให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงมากขึ้น
ภายในปี 2026 ตลาดรถอีวีในอเมริกาเหนือจะมียอดขายประมาณ 2.8 ล้านคันต่อปี แต่กำลังการผลิตของทุกค่ายรวมกันจะอยู่ที่ 4.5 ล้านคันต่อปี
ส่วนในประเทศจีน เมื่อรัฐบาลปักกิ่งประกาศยุติเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า ตลาดจึงตื่นตูมจนเกิดศึกแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดยกใหญ่ นำมาซึ่งการปรับลดราคาของหลายค่าย รวมถึง Tesla ด้วย
บิล รัสโซ นักวิเคราะห์ของสำนัก Automobility กล่าวว่า Tesla กำลังใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการขจัดคู่แข่งที่อ่อนแอกว่า คู่แข่งที่มีผลกำไรน้อยกว่าก็จะล้มหายตายจาก
Xpeng ค่ายรถอีวีระดับพรีเมียมสัญชาติจีนเคยได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นราคาของ Tesla แต่ล่าสุด เมื่อค่ายรถอเมริกันปรับลดราคา ทำให้พวกเขาประสบกับความยากลำบากจนมีรายงานว่าต้องประสบภาวะขาดทุนถึง 11,735 เหรียญสหรัฐต่อการขายรถ 1 คัน
ขณะที่ VinFast ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากเวียดนามก็ประกาศอัดโปรโมชั่นด้านราคาเพื่อต่อสู้กับ Tesla
ส่วน BYD เจ้าตลาดอีวีในเมืองจีนเพิ่งประกาศปรับขึ้นราคารถ โดยไม่ตอบโต้การหั่นราคาของ Tesla แต่อย่างใด เนื่องจากพวกเขายังมีผลกำไรสุทธิต่อการขายรถ 10 คันอยู่ที่ 5,456 เหรียญสหรัฐ จึงยังมี “พื้นที่สำหรับหายใจ” มากกว่า Volkswagen, Toyota หรือ GM