Tan Chong International (ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล) เคยมีเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออก พวกเขาเคยมีแบรนด์รถยนต์และรถเชิงพาณิชย์มากมาย พร้อมด้วยแผนการตลาดที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงการเปิดโรงงานการผลิตรถยนต์หลายที่ในภูมิภาค เพื่อรองรับการเติบโตของรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ
นอกเหนือจากการสร้างแบรนด์ที่ตัวเองถืออยู่ในมืออย่างต่อเนื่องแล้ว ตันจงยังได้ขยายธุรกิจด้วยการเข้าถือสิทธิ์ตัวแทนจำหน่ายใหม่ ๆ หลายต่อหลายครั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มขนาดและช่องทางทางธุรกิจของตัวเองมาอย่างยาวนาน แต่ดูเหมือนว่าในช่วงหลายปีมานี้ พวกเขาเริ่มที่จะสูญเสียธุรกิจหลายอย่างที่เคยถือครองในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็น FUSO Truck (ฟูโซ่ ทรัค) ที่มีข่าวว่าตันจงแยกทางและหันไปทำแบรนด์ FOTON (โฟตอน) ขึ้นมาแทน ก่อนที่ล่าสุดโฟตอนจะหันไปจับมือกับกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ทำแบรนด์ CP FOTON ขึ้นมา หรือแม้แต่แบรนด์รถบรรทุกใหญ๋ M.A.N. (เอ็มเอเอ็น) จากประเทศเยอรมนี ก็มีการเข้ามาทำตลาดเองโดยบริษัทแม่เป็นที่เรียบร้อย
อาจจะมองว่าธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้เป็นธุรกิจหลักของตันจง กรุ๊ป ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องของรถยนต์มากกว่า โดยพวกเขายังเป็นดิสทริบิวเตอร์หลักของ Subaru (ซูบารุ) ในหลายประเทศ มีโรงงานประกอบรถยนต์ในมาเลเซียและประเทศไทย รวมถึงการเป็นดีลเลอร์ของนิสสันในสิงคโปร์ รวมถึงการมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ อีกหลายประเภท
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องถือว่าการเสียแบรนด์ต่าง ๆ ไปอย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมกระทบภาพลักษณ์ของตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล มากพอสมควร เรามาพาย้อนอดีตของตันจงกับแบรนด์ต่าง ๆ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง และกับแบรนด์ที่แข็งแรงที่สุดอย่างซูบารุนั้น พวกเขายังคงแข็งแรงเพียงพออยู่หรือไม่ กับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดรถยนต์ในอนาคต
ชะตาที่ไม่ต้องกับรถบรรทุกใหญ่เชิงพาณิชย์
ถ้าถามว่าแบรนด์รถบรรทุกใหญ่แบรนด์ใดบ้างที่เคยผ่านมือการบริหารของตันจง อินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศไทยมาแล้วบ้าง ก็คงต้องย้อนอดีตไปตั้งแต่ Nissan UD (นิสสัน ยูดี) ที่พวกเขาทุ่มงบประมาณกว่า 2 พันล้านบาทซื้อกิจการต่อมาจากกลุ่มสยามกลกาล เพื่อรองรับโปรเจกต์อาเซียนไฮเวย์ ณ ขณะนั้น ซึ่งถือเป็นโครงการที่ฮือฮามาก
เพราะตันจงที่เพิ่งตัดสินใจจะมาลุยในตลาดรถบรรทุกใหญ่นั้น หมายมั่นปั้นมือว่าจะใช้ยูดี ทรัคส์ เป็นฐานสำคัญในการขยายธุรกิจให้เติบใหญ่ท้าทายแบรนด์ผู้นำในตลาดอย่าง Isuzu (อีซูซุ) และ Hino (ฮีโน่) แต่ยังไม่ทันจะได้ทำอะไรดี Volvo Truck (วอลโว่ ทรัค) ก็ประกาศซื้อกิจการของยูดีไปเสียก่อน ทำให้พวเขาต้องมองหาเป้าหมายต่อไป
หลังจากนั้น พวกเขาก็เดินหน้าขอเป็นตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุกฟูโซ่ (Fuso) จากมิตซูบิชิ ฟูโซ่ ทรัคส์ แอนด์ บัส ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเดมเลอร์ ทรัคส์แอนด์บัส และทุกอย่างก็ดูเหมือนจะไปได้สวย เมื่อพวกเขาสร้างยอดจำหน่ายได้เป็นอย่างดี ด้วยยอดสะสมกว่า 8,000 คันในเวลา 6 ปี ซึ่งก็ไม่น่จะมีปัญหาอะไรตามมา
ตันจงถึงขั้นลงทุนสร้างโรงงานเพื่อขึ้นไลน์ประกอบฟูโซ่ในประเทศไทย โดยที่ไม่รู้ว่าบริษัทแม่นั้นเตรียมที่จะยกเลิกสัญญาของฟูโซ่ในประเทศไทย พร้อมทั้งมีการฟ้องศาลเพื่อห้ามให้ตันจงใช้เครื่องหมายทางการค้า รวมถึงความรู้ต่าง ๆ รวมถึงการให้บริการหลังการขายสำหรับฟูโซ่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ขึ้นโรงขึ้นศาลกันอย่างจริงจังสักพัก
หลังจากหลุดมือจากฟูโซ่ คราวนี้ตันจงลองเลือกคบกับแบรนด์แปลกหน้าอย่างโฟตอน ซึ่งก็มีความคืบหน้าทางธุรกิจกันเป็นอย่างดี มีการเปิดสายการผลิตครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิตปีละ 1 หมื่นคัน พร้อมรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน ด้วยการประกาศใช้โรงงานประกอบที่มีคุณภาพมาตรฐานญี่ปุ่น ภายใต้การควบคุมดูแลของเดมเลอร์ เยอรมนี มาพร้อมเครื่องยนต์คัมมินส์ของเดมเลอร์
แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน เมื่อในท้ายที่สุดบริษัทแม่อย่างโฟตอนนั้นก็อยากจะทำธุรกิจทั้งหมดด้วยตัวเอง และได้ตัดสินใจดึงธุรกิจกลับไป แต่ก็เกิดอาการร่อแร่เสียก่อน ถึงขั้นต้องกลับมาคุยกับทางเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ที่กลับมาประกาศอย่างยิ่งใหญ่ว่าพวกเขาพร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นท็อป 3 ของตลาดรถบรรทุกและรถบัสในประเทศไทยในอนาคต
จะเห็นว่าเอาจริง ๆ แล้วตันจงนั้นก็ไม่ได้ทำอะไรผิดในธุรกิจรถบรรทุกขนาดใหญ่แต่อย่างใด พวกเขาพยายามที่จะหาแบรนด์ที่มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดได้ และก็ทำได้ดีเสียด้วยในสมัยของฟูโซ่ แต่มองไปอีกด้านหนึ่ง แบรนด์รถยนต์นั่งอย่างซูบารุของพวกเขานั้น มีความแข็งแกร่งระดับหนังคนละม้วนกับรถเชิงพาณิชย์กันเลยทีเดียว
การร่วมมือที่ชาญฉลาดในการผลักดันแบรนด์ดาวลูกไก่
ถ้าถามว่าตันจง กรุ๊ป เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ซูบารุอยู่ในกี่ประเทศในภูมิภาคนี้ เชื่อว่าหลายคนอาจจะตอบไม่ได้หรือไม่แน่ใจ ซึ่งหากนับบริษัทย่อยที่อยู่ภายใต้ชื่อมอเตอร์ อิมเมจ หรือ ทีซี ซูบารุ ในปัจจุบัน จะพบว่ามีถึง 10 ตลาดที่พวกเขาถือสิทธิ์การจำหน่ายอยู่ ประกอบไปด้วย ประเทศจีน รวมถึงฮ่องกงและไต้หวัน กัมพูชา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และประเทศเวียดนาม ซึ่งถือว่าเป็นเครือข่ายการขายที่ไม่ธรรมดา
ไม่ใช่แค่เครือข่ายการขายเท่านั้น แต่ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล ยังเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศมาเลเซีย เพื่อทำการผลิตรถเอสยูวีอย่าง Subaru XV (ซูบารุ เอ็กซ์วี) และ Subaru Forester (ซูบารุ ฟอเรสเตอร์) ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกที่ผลิตรถยนต์ซูบารุในภูมิภาคอาเซียน และเป็นการลงทุนโดยกลุ่มตันจงเองทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้ราคาจำหน่ายของรถซูบารุนั้นสามารถจับต้องได้ง่ายขึ้น และลูกค้าเองก็เข้าถึงได้มากกว่า ทำให้เห็นเอ็กซ์วีวิ่งเต็มถนนไปหมด
แต่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทแม่ก็ยังต้องดำเนินการอยู่ โรงงานประกอบรถยนต์ซูบารุแห่งที่ 2 จึงเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีภารกิจในการประกอบซูบารุ ฟอเรสเตอร์ ที่มาพร้อมเทคโนโลยียุคใหม่อย่างอายไซต์ ข้อดีก็คือทำให้ราคาจำหน่ายของรถรุ่นนี้นั้นถูกลงจนน่าใช้มากขึ้น สามารถนำมาเปรียบเทียบกับคู่แข่งมากหน้าหลายตาในกลุ่มเอสยูวี และแน่นอนว่าก็ทำให้ยอดจำหน่ายของซูบารุกลับมาครึกครื้นได้อีกครั้งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
โรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีพื้นที่รวมมากกว่า 1 แสนตารางเมตร ด้วยเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 5 พันล้านบาท เป็นการร่วมมือกันของตันจงและบริษัทแม่ ด้วยการถือหุ้นร่วมกันระหว่าง บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด (TCSAT) ในเครือของกลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) และซูบารุ คอร์ปอเรชั่น (SBR) ประเทศญี่ปุ่น ด้วยการถือหุ้นร่วมกันในโรงงานแห่งใหม่ที่เปิดตัวในช่วงที่ผ่านมา
TCIL นั้นถือหุ้นอยู่ 74.9% ผ่านบริษัทในเครืออย่าง บริษัท ทีซี แมนูแฟคแจอริ่ง แอนด์ แอสเซมบลี (ประเทศไทย) จำกัด (TCMA) ในขณะที่ SBR ถือหุ้นที่เหลืออีก 25.1% โดยรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยนั้น จะประกอบขึ้นภายใต้การดูแลของ TCSAT และจะถูกจำหน่ายในประเทศไทย และส่งออกไปยังมาเลเซีย เวียดนามและกัมพูชาโดยมอเตอร์อิมเมจ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ TCIL ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งของตันจงและบริษัทแม่เป็นอย่างดี
ตันจงจะทำอะไรนอกหนือจากซูบารุ
ย้อนอดีตกลับไปเมื่อเดือนกันยายน 2558 เกล็น ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เคยประกาศว่าพวกเขานั้นมีความสนใจที่จะเข้าเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้ออื่น ๆ อีก 1 ยี่ห้อ นอกเหนือไปจากซูบารุที่ทำตลาดอยู่ โดยได้เตรียมเม็ดเงินกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า (ช่วงปี 2558-2563) อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ได้เห็นแผนการลงทุนอะไรอย่างเป็นรูปธรรมออกมาจากค่ายนี้ในช่วงที่ผ่านมา
เกล็นระบุในตอนนั้นว่า พวกเขาต้องการที่จะขยายความแข็งแกร่งของ ตันจง ทั้งในการสร้างแบรนด์ใหม่ รวมถึงการลงทุนเสริมความเข็งแกร่งให้กับแบรนด์ที่มีอยู่ แต่การลงทุนนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ต้องขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยอีกหลายด้าน ซึ่งหากนับจากวันนั้น โครงการที่ใหม่และเป็นรูปธรรมที่สุดของตันจงก็คือการเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยร่วมกับ SBR นอกจากนั้น ก็จะเป็นการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจในด้านอื่น ๆ เสียมากกว่า
ดังนั้น หากจะมองว่าซูบารุ ก็ยังจะเป็นแบรนด์หลักของตันจง กรุ๊ป ในการทำตลาดในอาเซียนต่อไปก็คงไม่ใช่เรื่องผิด คำถามก็คือ พวกเขาคิดจะขยายขอบข่ายความร่วมมือกับบริษัทแม่ให้มากกว่านี้หรือไม่ เช่น การนำสินค้าใหม่ ๆ มาผลิตในประเทศไทยหรือมาเลเซียเพิ่มเติม เพราะซูบารุเองก็มีแผนที่จะเปิดตัวสินค้าใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Subaru BRZ (ซูบารุ บีอาร์ซี) หรือ Subaru Levorg (ซูบารุ เลอวอร์ก) ที่ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ
หรือจะอยู่ด้วยความมั่นใจว่าค่ายดาวลูกไก่จะเป็นลูกไก่ในกำมือ แล้วทำหน้าที่ผลิตและขายแบบนี้ต่อไปเงียบ ๆ ก็ไม่อาจจะเดาใจได้เหมือนกัน...