2021 Isuzu MU-X (อีซูซุ มิว-เอ็กซ์) รุ่นล่าสุดของโลกเปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยมาพร้อมรูปลักษณ์แบบใหม่ การตกแต่งที่เหนือชั้น บนพื้นฐานของปิกอัพรุ่นยอดนิยมอย่าง Isuzu D-Max (อีซูซุ ดีแมคซ์) ที่บรรดาชาว Isuzu (อีซูซุ) แสนจะภาคภูมิใจในยอดขายอันโดดเด่นปีนี้
รถเอนกประสงค์ 7 ที่นั่งรุ่นใหม่ล่าสุดของประเทศไทย มาพร้อมกับรูปลักษณ์ทรงตีโป่งแนวหรูหรา ที่พยายามฉีกหนีคู่แข่งที่เน้นเรื่องความสปอร์ตกันเป็นหลัก แม้จะมาพร้อมเครื่องยนต์รุ่นเดิมที่ติดตั้งในดีแมคซ์ แต่ก็ถือเป็นเครื่องยนต์ที่ได้รับการพัฒนาให้มีความโดดเด่นทางด้านสมรรถนะในการขับขี่ที่เพิ่มขึ้นแล้ว
นอกเหนือไปจากหน้าตาที่โดดเด่นแบบมิว-เอ็กซ์เองแล้ว พวกเขายังได้ทำการประกาศราคาจำหน่ายที่ 1.109-1.591 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการตีกินลูกค้ารถพีพีวีตั้งแต่ระดับล่างถึงกลางแบบหมดจด แถมอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการเสียเงินเกือบ 2 ล้านบาท ก็สามารถลงมาเล่นตัวท็อปได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คู่แข่งของพวกเขาอย่าง Toyota Fortuner (โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์) และ Mitsubishi Pajero Sport (มิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ต) ก็มีดีกันไปคนละด้าน และคงไม่ยอมให้อีซูซุมาแย่งชิงตลาดไปได้ง่าย ๆ โดยจะต้องแข่งกันที่จุดเด่นและจุดด้อยของรถกันแบบเทียบเคียงกันทีละสเต็ป
และนี่คือสิ่งที่เราเห็นจากงานเปิดตัว ก่อนที่จะได้สัมผัสกับรถคันจริง ๆ กันในวันนี้ และนำบทความการทดสอบแบบรวบรัดมานำเสนอกันอีกครั้ง มาดูกันว่า สัมผัสแรกที่เรารู้สึกกับอีซูซุ มิว-เอ็กซ์ใหม่นั้น เป็นอย่างไร และมีอะไรที่พวกเขาชนะหรือต้องปรับปรุงในศึกรถพีพีวีครั้งนี้บ้าง
สิ่งที่ดีอยู่แล้วและน่าสนใจ
1.การออกแบบตังถังขนาดใหญ่ให้ดูหรูหรา
หากวัดมิติตัวถังกันแต่ละมิติ จะพบว่ามิว-เอ็กซ์นั้นใหญ่โตกว่าคู่แข่งในทุก ๆ ด้าน แถมการเลือกใช้แนวทางในการออกแบบก็ไม่ได้เน้นความสปอร์ตแบบเต็มพิกัดเหมือนคู่แข่งทำกันมา แต่ดูทรงตีโป่งไปทุกสัดส่วน เหมือนต้องการเพิ่มความหรูหราและความพรีเมียมใหักับรถรุ่นใหม่อย่างเต็มที่
ก็เป็นการต่อยอดแนวทางที่มิว-เอ็กซ์นั้นทำมาตลอดกับการปรับโฉมในยุคหลัง ๆ ที่เน้นความพรีเมียมไฮโซมากกว่าการแข่งทางสายดุดัน กระจังหน้าสามมิติดูสง่างาม ล้ออัลลอย 20 นิ้วในรุ่นท็อปออกแบบมาสวยหรู ห้องโดยสารมีทัศนวิสัยที่ดีในทุกตำแหน่ง และด้านท้ายนั้น ประหนึ่งรถเอสยูวีหรู ๆ สักคันเลย
2.การจัดวางเบาะโดยสารที่ใช้งานได้หลากหลาย
เมื่อพวกเขายังเลือกที่จะติดตั้งล้ออะไหล่ไว้ที่ใต้ท้องรถเหมือนเช่นเคย ทำให้สามารถบริหารจัดการห้องโดยสารได้อย่างเต็มที่ ทำให้ห้องโดยสารของมิว-เอ็กซ์ใหม่เต็มไปด้วยอรรถประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเบาะแถว 3 ที่พับได้ราบเรียบ หรือเบาะที่นั่งแถวที่ 2 ที่สามารถพับได้ 2 จังหวะเพิ่มความสะดวกในการเข้า-ออก
นอกจากนี้ เบาะที่นั่งที่ดูเพรียวบางลง เพิ่มพื้นที่ใช้สอยของผู้โดยสารทั้ง 3 แถว มีการซ่อนฟังชั่นส์ต่าง ๆ เอาไว้ทั้งคันรถ โดยเฉพาะช่องใส่ของและที่วางแก้วที่มีให้ครบครัน ขณะที่ตัวรถที่ตีโป่งนั้น ก็ทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้งานเบาะที่นั่งได้จริงทุกตำแหน่ง แม้แต่เบาะแถว 3 เมื่อลองนั่งก็หัวยังไม่ติดเพดานแต่อย่างใด
3.เพิ่มอุปกรณ์และระบบความปลอดภัยมามากขึ้น
เมื่อเป็นรถรุ่นใหม่ที่มาพร้อมการจับกลุ่มเป้าหมายที่โตขึ้นกว่ารถปิกอัพ อีซูซุได้ติดตั้งระบบความปลอดภัยเพิ่มขึ้นมาให้กับรถ ด้วยระบบเซฟตี้เทคโนโลยี ADAS (Advanced Driver Assistance Systems) ที่มาพร้อมการทำงานร่วมกันของระบบต่าง ๆ มากมาย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่สูงสุด
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน พร้อมฟังก์ชั่น Stop and Go ระบบแจ้งเตือนก่อนการชนด้านหน้า ที่ทำงานร่วมกับระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ ระบบแจ้งเตือนออกนอกเลน ระบบแจ้งเตือนจุดอับสายตา และระบบเบรกอัตโนมัติหลังการเกิดอุบัติเหตุ ช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนลงไปได้
อะไรที่รถคันนี้ควรปรับปรุงในความคิดเรา
1.ควรมีเครื่องยนต์ที่แรงกว่านี้เป็นทางเลือก
ดูเหมือนว่าเครื่องยนต์ดีเซล 1.9 ลิตร กำลังสูงสุด 150 แรงม้า 350 นิวตันเมตร และเครื่องยนต์ดีเซล 3.0 ลิตร กำลังสูงสุด 190 แรงม้า 450 นิวตันเมตร จะกลายเป็นจุดที่ต้องตั้งคำถามว่าจะสามารถลากรถที่มีน้ำหนักเฉี่ยว 2 ตันไปให้สมูธได้หรือไม่ ซึ่งเราจะไปทดสอบกันในวันนี้ช่วงบ่าย ๆ เป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม หากมองไปที่สเปกเครื่องยนต์ของคู่แข่งนั้น ถือว่าเครื่องยนต์ของอีซูซุไม่ได้มีความโดดเด่นในเชิงของสมรรถนะสักเท่าไร คู่แข่ง T และ F นั้นมาพร้อมเครื่องยนต์เล็กกว่าแต่ให้สมรรถนะสูงกว่าในรุ่นท็อป ส่วน M แม้สมรรถนะจะไม่เทียบเท่า แต่ก็ใช้เครื่องยนต์เล็กกว่าเช่นเดียวกัน
2.ควรเพิ่มอุปกรณ์ในการใช้งานให้มากกว่านี้
แน่นอนว่าหลาย ๆ คนอาจจะเถียงแทนอีซูซุว่านี่เป็นโฉมใหม่หมด จะให้มีอุปกรณ์ครบมาตั้งแต่ต้นก็คงไม่ใช่ แต่ในเมื่อคู่แข่งมีถุงลมนิรภัย 7 ใบกันเกือบหมด อีซูซุจะมีแค่ 6 ใบให้ลูกค้าก็เป็นเรื่องที่แปลก ๆ อยู่ เพราะจริง ๆ แม้แต่ดีแมคซ์ในต่างประเทศที่คว้าความปลอดภัยสูงสุดก็มีถุงลมกลางห้องโดยสารนะเออ
นอกจากนี้ คู่แข่งของอีซูซุ มิว-เอ็กซ์ก็มีอุปกรณ์บางรายการที่เหนือกว่า ยกตัวอย่างเช่น พาโนรามิกซันรูฟ หรือจอกลางสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง แต่ก็ยอมรับนะว่าเบรกมือไฟฟ้าที่มาพร้อมระบบ Auto Hold ก็แอบทำให้เราประทับใจเหมือนกัน หรือแม้แต่ห้องโดยสารสีทองนั้นก็ดูหรูหรากดีไม่หยอกเลยล่ะ
เกมสุดท้ายวัดกันที่ยอดขายรวม
แม้เราจะคิดว่ารถแต่ละคันมีดีหรือมีด้อยต่างกันอย่างไรไปบ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่จะบอกได้ว่ารถแต่ละคันนั้นประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดก็คือยอดจำหน่ายของรถ ที่แน่นอนว่าเดิมที่นั้น อีซูซุ มิว-เอ็กซ์ คือผู้นำตลาดที่ท้าชิงเบอร์หนึ่งของกลุ่มรถยนต์เอ็มพีวีในประเทศไทยมาตลอด
จนกระทั่งมาในปีนี้เองที่เป็นปีสุดท้ายของโฉมเดิม ทำให้ยอดจำหน่ายของมิว-เอ็กซ์นั้นตกลงไปอยู่ที่อันดับ 3 เป็นรองทั้งโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ที่ปรับโฉมไปเมื่อต้นปี และมิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ต ที่มีการทำรุ่นย่อยออกมาเป็นระยะ ขณะที่รถรุ่นอื่น ๆ นั้น มียอดจำหน่ายที่ลดหลั่นกันลงไปแบบไม่มีประเด็นอะไร
เมื่อดูจากยอดรวม 27,619 คันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 จะพบว่าโตโยต้านั้นมียอดจำหน่ายรวมถึง 11,484 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 41.6% ตามมาด้วยมิตซูบิชิ 6,570 คัน ส่วนแบ่งตลาด 23.8% และอีซูซุที่แบกโฉมเดิมมาตลอดทั้งปี มียอดขาย 4,155 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 15% ถือว่าไม่เลวร้าย
แน่นอนว่าภารกิจหลักของมิว-เอ็กซ์ใหม่ ก็คือการขึ้นไปท้าชิงกับผู้นำตลาดอีกครั้ง ด้วยความแข็งแกร่งของปิกอัพของพวกเขาอย่างดีแมคซ์ที่มีส่วนแบ่งตลาดปีนี้มากกว่า 40% น่าจะพอทำให้อุ่นใจได้บ้าง ว่าผู้บริโภคนั้นชื่นชอบแนวทางการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ และก็น่าจะให้ความสนใจกับรถรุ่นใหม่นี้เช่นกัน
สองเดือนที่เหลือในปีนี้ อาจจะน้อยเกินไปที่จะเป็นเวลาให้มิว-เอ็กซ์ได้แสดงฝีมือที่แท้จริงออกมา แต่มั่นใจได้เลยว่า ตลาดรถเอนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ดัดแปลงบนพื้นฐานกระบะในปี 2564 จะแข่งขันกันอย่างรุนแรงทะลุจุดเดือดแน่นอน เพราะผู้ท้าชิงตัวจริงนั้น ได้เวลากลับสู่สมรภูมิที่พวกเขานั้นถนัดเสียที!!!
เนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง