Honda (ฮอนด้า) ประกาศเดินหน้าขยายเครื่องยนต์ไฮบริดสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่หลากรุ่นในประเทศไทย ตามนโยบายผลักดันขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากกว่า 2 ใน 3 ในอีก 10 ปีข้างหน้า พร้อมกระตุ้นรัฐอัดยาแรงผลักดันตลาดรถยนต์เติบโต มั่นใจรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดรถยนต์นั่งอย่างต่อเนื่อง ด้วยยอดจำหน่ายรวม 9.5 หมื่นคันปีนี้
พิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การเปิดตัวรถยนต์นั่งขนาดเล็กเครื่องยนต์ไฮบริดเป็นครั้งแรก จะเป็นการขยายโอกาสในการเข้าถึงเครื่องยนต์พลังงานไฟฟ้าของบริษัท จากที่ก่อนหน้านี้ จะเปิดตัวในรถยนต์รุ่นใหญ่อย่าง Honda Accord (ฮอนด้า แอคคอร์ด) เท่านั้น
Honda Accord Hybrid (ฮอนด้า แอคคอร์ด ไฮบริด) มีสัดส่วนการขายอยู่ 55% ของรุ่นปัจจุบัน และฮอนด้า ซิตี้ อี:เอชอีวี เป็นการเปิดตัวตามนโยบายการพัฒนาสินค้าเพื่อลดมลพิษของฮอนด้า โดยที่มีเป้าหมายว่าภายในปี 2030 รถยนต์ของฮอนด้าที่จำหน่ายทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย 2 ใน 3 ของทั้่งหมดจะต้องเป็นรถยนต์ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง
"เราประเมินว่าฮอนด้า ซิตี้ อี:เอชอีวี รุ่นใหม่ของเรา จะมีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มเดอะ ซิตี้ ซีรี่ส์ ประมาณ 10% ซึ่งต้องยอมรับว่าการสร้างความเข้าใจและความต้องการของรถยนต์ไฮบริดในกลุ่มผู้บริโภคระดับบนนั้นทำได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ไปได้ถึงเป้าหมายของบริษัทในปี 2030 เราก็จะต้องเปิดตัวรถรุ่นใหม่ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ไฮบริดมากขึ้น"
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าฮอนด้าจะขยายไลน์เครื่องยนต์ไฮบริดสำหรับ ฮอนด้า ซิตี้ แฮชท์แบ็คในอนาคต พร้อมทั้งการเพิ่มไลน์สินค้าอื่น ๆ สำหรับเครื่องยนต์ไฮบริด ไม่ว่าจะเป็นฮอนด้า ซีวิค, ฮอนด้า ซีอาร์-วี เป็นต้น ขณะที่สินค้าใหม่ ๆ ของฮอนด้าที่เปิดตัวในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็น Honda Jazz (ฮอนด้า แจ๊ซ) หรือ Honda HR-V (ฮอนด้า เอชอาร์-วี) ก็มีเวอร์ชั่นไฮบริดทั้งสิ้น
สำหรับคำถามว่าฮอนด้า แจ๊ซ รุ่นปัจจุบันจะทำตลาดต่อไปหรือไม่ พิทักษ์กล่าวว่ารถรุ่นปัจจุบันก็ยังถือว่ามีความต้องการจากผู้บริโภคที่เป็นแฟนพันธุ์แท้อยู่ และฮอนด้าก็จะเดินหน้าทำตลาดรถยนต์รุ่นดังกล่าวควบคู่ไปกับฮอนด้า ซิตี้ แฮชท์แบ็ค ที่ให้พื้นที่ใช้สอยเท่าเทียมกัน บนตัวถังที่แตกต่าง ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการต่อไป
กระตุ้นรัฐอัดยาแรงกระตุ้นตลาดรถยนต์ปีนี้
แม้แนวโน้มตลาดรถยนต์จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ฮอนด้าก็ยังต้องการการผลักดันตลาดจากภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น นโยบายกระตุ้นการซื้อรถยนต์ใหม่ 'รถแลกแจกแถม' ของรัฐบาล ที่แม้จะยังไม่มีความชัดเจนและไม่แน่ชัดว่าจะนำมาปฏิบัติได้เมื่อใด แต่ก็อยากให้รัฐบาลมีการอัดยาแรงสำหรับการกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ออกมาประกาศว่าจะพิจารณาโครงการดังกล่าว ด้วยการเสนอให้ผู้ถือครองรถยนต์เก่าที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป นำมาแลกรถยนต์ใหม่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยจะมีการนำค่าใช้จ่ายไปหักภาษีได้จำนวน 1 แสนบาท อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความคืบหน้าถึงแนวทางดังกล่าว ว่ารัฐบาลจะสรุปออกมาในรูปแบบใด และเริ่มนำมาปฏิบัติได้เมื่อใดกันแน่
"ผมมองว่านโยบายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีนะ ในหลาย ๆ ด้าน หนึ่ง รถยนต์เก่านั้นก่อมลพิษมาก และเราคงลดมลพิษจากรถใหม่ ๆ ได้น้อย ถ้าเอารถเก่าออกจากตลาดได้ 1 แสนคัน อาจจะเท่ากับมลพิษที่เกิดจากรถใหม่ 1 ล้านคัน นอกจากนี้ ยังไม่ก่อให้เกิดอุปสงค์เทียมขึ้นมาเหมือนตอนรถยนต์คันแรก แต่มาตรการดังกล่าวก็ต้องจูงใจมากพอสมควรที่จะให้เปลี่ยน"
พิทักษ์มองว่าแนวคิดการนำเงิน 1 แสนบาทไปหักค่าใช้จ่ายด้านภาษีนั้นอาจจะไม่จูงใจพอ เนื่องจากจะสามารถคำนวนกลับเป็นค่าใช้จ่ายได้สูงสุด 3 หมื่นบาทจากฐานภาษี 30% แต่หากเป็นเจ้าของรถยนต์เก่านั้น ยังมีราคาจำหน่ายกันอยู่ที่ระดับ 5 หมื่นบาทในรถที่มีอายุมาก เพราะฉะนั้น ผู้บริโภคอาจจะไม่ให้ความสนใจกับโครงการนี้มากนัก
หากมองไปที่เรื่องของการคืนภาษีสรรพสามิตรให้กับผู้ซื้อโดยตรงน่าจะเป็นนโยบายที่ดึงดูดใจมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องทำให้มีความชัดเจนว่ารถยนต์ที่มีอายุเท่าใดถึงจะสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ซึ่งหากสามารถนำมาดำเนินการได้เร็วเท่าใด ก็จะเป็นเรื่องที่ดีเท่านั้น แต่หากมีนโยบายออกมาแล้วไม่ปฏิบัติ ก็จะส่งผลเสียมากกว่าในระยะยาว
มั่นใจรักษาผู้นำตลาดรถยนต์นั่งต่อเนื่อง
พิทักษ์กล่าวถึงภาพรวมของตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ว่าในปีนี้น่าจะปิดตัวเลขที่ระดับ 7.5 แสนคัน หรือหดตัวประมาณ 25% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวที่รวดเร็วกว่าที่มีการประเมินกันในช่วงครึ่งปีแรก ว่าตลาดอาจจะหดตัวลงไปเหลือ 6.8 แสนคันจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าความต้องการในการใช้รถของผู้บริโภคยังคงสูงอยู่
"เห็นได้ชัดเจนจากโครงการพักชำระหนี้ที่ทางรัฐบาลประกาศออกมา เมื่อจบโครงการแล้ว ผู้บริโภคก็กลับมาชำระค่างวดกันต่อ เหลือที่ขอต่ออายุโครงการไปไม่ถึง 10% ซึ่งรถยนต์เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้บริโภคเองต้องการใช้งาน ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการทางการเงินก็เริ่มผ่อนคลายคววามตึงเครียดของการปฏิเสธสินเชื่อลง ทำให้ตลาดนั้นกลับมาขยายตัวได้"
ในส่วนของฮอนด้า หลังจากที่พวกเขาทำได้ดีในหลายตลาด ที่สินค้าอย่าง Honda City (ฮอนด้า ซิตี้) Honda Jazz (ฮอนด้า แจ๊ซ) Honda Civic (ฮอนด้า ซีวิค) รวมถึง Honda CR-V (ฮอนด้า ซีอาร์-วี) ยังครองตำแหน่งผู้นำในเซกเมนต์อยู่ ก็ทำให้ฮอนด้าน่าจะปิดยอดขายปีนี้ที่ 9.5 หมื่นคัน หรือหดตัวประมาณ 25% น้อยกว่าตลาดรถยนต์นั่งที่หดตัวกว่า 32%
สำหรับการเปิดตัวรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Honda City e:HEV (ฮอนด้า ซิตี้ อี:เอชอีวี) และ Honda City Hatchback (ฮอนด้า ซิตี้ แฮชท์แบ็ก) ที่คาดว่าจะเริ่มส่งมอบอย่างเป็นทางการในปีหน้า จะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทต่อไป โดยอี:เอชอีวีนั้น ตั้งเป้ายอดจำหน่ายที่ 4,000 คันต่อปี และแฮชท์แบ็กนั้น ตั้งเป้าหมายที่ 3,000 คันต่อเดือน
"ตลาดรถซิตี้คาร์นั้นเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวอยู่แล้ว เป็นตลาดที่หดตัวไวเมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา และกลับมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังหดตัวน้อยกว่าตลาดปิกอัพที่หดตัวไป 27% ในปีนี้ ซึ่งฮอนด้าเองเติบโตได้ดี และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 28.5% จากประมาณ 27% ในปีที่ผ่านมา และเราคาดว่าส่วนแบ่งตลาดเราจะเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 29% ในปีนี้"