หลังจากเหตุการฟ้าผ่าด้วยการประกาศถอนตัวของ General Motors Thailand (เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย) กันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บรรดาแฟน ๆ รถยนต์ชาวไทยได้รู้จักกับ Great Wall Motors (เกรท วอลล์ มอเตอร์ส) หนึ่งในแบรนด์รถยนต์ระดับโลกจากประเทศจีน ที่ประกาศตัวเป็นผู้ซื้อโรงงานผลิตของจีเอ็ม ประเทศไทยไปทั้งหมด พร้อมประกาศจะเดินหน้าทำธุรกิจในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
จริง ๆ แล้ว เกรทวอลล์ที่ถูกเรียกกันว่า GWM (จีดับบลิวเอ็ม) นั้น ไม่ใช่แบรนด์น้องใหม่ในตลาดจีนและตลาดโลก พวกเขามีโรงงานผลิต ศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมถึงการทำตลาดในหลายประเทศทั่วโลก มีสินค้าอย่าง Haval H6 (ฮาวาล เอช6) ที่เป็นรถเอสยูวีที่ขายดีที่สุดในประเทศจีน และพวกเขาเองก็ไม่ได้เป็นหน้าใหม่สำหรับตลาดประเทศไทยสักทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาได้เคยมาเปิดตัวในงานมหกรรมยานยนต์แล้วครั้งหนึ่ง
ย้อนกลับไป 7 ปี ในสมัยที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มีใครรู้จักและพูดถึง บริษัทรถยนต์จากจีนรายหนึ่งเข้ามาเปิดบูธในประเทศไทยอย่างจริงจัง พร้อมทั้งนำรถยนต์ต้นแบบไฟฟ้าทั้งคันเข้ามาจัดแสดง พร้อมด้วยรถเอสยูวีที่เป็นสินค้าหลักของบริษัท พร้อมด้วยการแสดงความสนใจให้ข่าวว่าอยากจะเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ด้วยการเปิดสายการผลิต พร้อมวางแผนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกต่อไปในอนาคต
แผนงานดังกล่าวนั้นเงียบหายเข้ากลีบเมฆไปพร้อม ๆ กับการเก็บบูธกลับบ้านของ Haval ที่มาจัดแสดงในตอนนั้น และเราก็ไม่ได้ยินชื่อของพวกเขาอีกเลย จนกระทั่งเมื่อจีเอ็มได้ประกาศถอนตัวออกจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ชื่อของจีดับบลิวเอ็มก็กลับมาอีกครั้งในฐานะผู้ซื้อโรงงานผลิตรถยนต์ของจีเอ็มในประเทศอินเดีย การเปิดตัวแบรนด์ฮาวาลในอินเดีย พร้อม ๆ กับการซื้อโรงงานของจีเอ็มในประเทศไทยในช่วงเดียวกัน
"ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีดับบลิวเอ็มได้ลงทุนมากกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในการวิจัยและพัฒนาสำหรับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานรูปแบบใหม่ การเชื่อมต่อผ่านโครงข่ายที่ชาญฉลาด รวมถึงระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มและไลน์อัพสินค้าใหม่ ๆ เพื่อรองรับยานยนต์พลังงานรูปแบบใหม่ ๆ" นี่คือคำอธิบายที่จีเอ็มดับบลิวอธิบายถึงบริษัทในวันที่พวกเขาเปิดตัวในประเทศอินเดีย
ใครคือ Great Wall Motors และพวกเขาใหญ่ขนาดไหน
นับตั้งแต่การผลิตรถยนต์คันแรกของบริษัทอย่างเป็นทางการในปี 1993 ทีมงานของจีดับบลิวเอ็มที่นำทีมโดย Jack Wey (แจ๊ค เหว่ย) ได้ฝ่ามรสุมด้านการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มส่งออกรถปิกอัพเป็นครั้งแรกได้ในปี 1997 และนับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา ปิกอัพของจีดับบลิวเอ็มก็ครองแชมป์ยอดขายและการส่งออกมาได้อย่างต่อเนื่อง 21 ปีติดต่อกัน แสดงให้เห็นถึงความไม่ธรรมดาของแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์นี้ได้เป็นอย่างดี
บริษัท เกรท วอลล์ จำกัด ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2001 ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 170.5 ล้านหยวน รวมถึงการเปิดตัวปิกอัพรุ่นใหม่ช่วงปลายปี ก่อนที่พวกเขาจะก่อตั้งสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีในปีถัดมา เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมวิจัยและพัฒนา ก่อนที่พวกเขาจะเข้าสู่ตลาดเอสยูวีอย่างเป็นทางการในช่วงกลางปี 2002 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกงในปลายปี 2003
จากนั้นพวกเขาก็เริ่มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากทั้งในประเทศจีนและหลายตลาดทั่วโลก เริ่มมีการประกาศความร่วมมือกับบริษัทระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลร่วมกับ BOSCH ในปี 2006 การสร้างศูนย์ทดสอบการชนแห่งแรกในปี 2008 และนำมาซึ่งการเปิดตัวรถเอสยูวีแห่งประวัติศาสตร์ ฮาวาล เอช6 กันในปี 2011
การประสบความสำเร็จอย่างมากของ H6 ทำให้แบรนด์ Haval ได้รับโอกาสในการแยกตัวออกไปทำตลาดภายใต้แบรนด์ของตัวเอง พร้อมกับการมุ่งหน้ามาเน้นที่ตลาดเอสยูวีอย่างจริงจัง ด้วยการเปิดตัวรถเอสยูวีรุ่นใหม่ ขยายรูปแบบตัวถังออกไปอย่างหลากหลาย พร้อมทั้งได้รับรางวัลมากมาย โดยเฉพาะ H6 ที่ทำยอดขายได้สูงกว่า 3 หมื่นคันต่อเดือน และเคยขึ้นไปถึง 6 หมื่นคันต่อเดือนเลยทีเดียว
ยอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่องทำให้จีดับบลิวเอ็มมียอดจำหน่ายรถยนต์เกินกว่า 1 ล้านคันในรอบปีในปี 2016 และพวกเขาก็ตัดสินใจแตกแบรนด์อีกครั้งกับแบรนด์ Wey (เหว่ย) ซึ่งมาจากชื่อของผู้ก่อตั้ง เพื่อใช้ในการผลิตและจำหน่ายเอสยูวีระดับหรูหราเท่านั้น ซึ่งหลังจากลองตลาดมาได้สักพัก เหว่ยก็เปิดตัวรถเอสยูวีปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรกของค่ายออกมาอย่างเป็นทางการ
ในช่วงปลายปี 2018 พวกเขาได้ทำการแตกแบรนด์ ORA (โออาร์เอ) สำหรับการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 100% โดยเฉพาะ และในปีถัดมา พวกเขาก็เริ่มเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในต่างประเทศแห่งแรกที่ประเทศรัสเซีย พร้อม ๆ กับการเดินหน้าสู่โลกอนาคตด้วยการประกาศว่าโลกของยานยนต์แบบเก่า ๆ กำลังจะหมดไป และจะถูกเข้ามาแทนที่ด้วยเทคโนโลยียานยนต์ที่อยู่บนพื้นฐานของ 5G และ AI
พวกเขาได้ประกาศจับมือกับบีเอ็มดับเบิลยู เพื่อร่วมในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันในประเทศจีน จากนั้นในปี 2020 การจับมือกันของจีดับบลิวเอ็มและจีเอ็มก็เกิดขึ้น เมื่อพวกเขาซื้อโรงงานที่อินเดียในเดือนมกราคา เข้าร่วมงานออโต้ เอ็กซ์โปในเดือนกุมภาพันธ์ พร้อม ๆ กับการประกาศเข้าซื้อกิจการการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของจีเอ็มในประเทศไทยไปเป็นที่เรียบร้อย
ในปัจจุบัน จีดับบลิวซีมีแบรนด์สำหรับการทำตลาดทั่วโลก 4 แบรนด์ ประกอบไปด้วย ฮาวาล, เหว่ย, โออาร์เอ และจีดับบลิวเอ็ม ปิกอัพ โดยพวกเขามีศูนย์วิจัยและพัฒนาหลายแห่งในประเทศจีน ยุโรป เอเชีย รวมถึงอเมริกาเหนือ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาหลักที่ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย ออสเตรียและเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นถึงความไม่ธรรมดาของพวกเขาจริง ๆ
แล้วในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อ
แน่นอนว่าข้อกำหนดของการส่งมอบโรงงานทั้งหมดจากจีเอ็ม ประเทศไทย ให้กับจีดับบลิวเอ็มนั้น เกิดขึ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้โรงงานของจีเอ็มนั้นกลายเป็นโรงงานของจีดับบลิวเอ็มไปทันที พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะเดินหน้าโครงการต่าง ๆ ได้ไม่ยาก ตามแผนการที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำหรับตลาดในประเทศ และการส่งออกสำหรับตลาดพวงมาลัยขวาในอนาคต
แต่แม้โรงงานผลิตรถยนต์ของจีเอ็มจะดีขนาดไหน จีดับบลิวเอ็มก็คงไม่สามารถกลับมาเริ่มการผลิตรถของพวกเขาได้อย่างทันที แต่ที่แน่ ๆ พวกเขาเริ่มมีการว่าจ้างพนักงานทั้งระดับปฏิบัติการและระดับบริหารเข้าไปบ้างแล้วหลายตำแหน่ง โดยบางส่วนเป็นการถ่ายโอนไปจากจีเอ็ม ประเทศไทยเดิม ซึ่งก็ทำให้ยังสงสัยกันอยู่ว่า เกรทวอลล์จะต้องใช้เวลาสักเท่าใดในการคิดหาสินค้า หาซัพพลายเออร์ และเปิดสายการผลิตรถของพวกเขา
ให้เดากันเลย น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 12 เดือนกว่าที่เกรทวอลล์จะพร้อมเดินหน้าทำตลาดอย่างเป็นทางการ นั่นก็หมายความว่า ไวที่สุดที่พวกเขาน่าจะออกมาโชว์ตัวกันก็อาจจะเป็นช่วงมอเตอร์ เอ็กซ์โป สิ้นปีนี้ หรือมอเตอร์โชว์ในปี 2564 แต่กว่าจะเริ่มทำตลาดและขายกันได้อย่างเต็มรูปแบบก็น่าจะรอให้พ้นช่วงครึ่งแรกของปีหน้าไปก่อน ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเครื่องอะไรมากมายในตอนนี้ ไหนจะตลาดขาลง ไหนจะเรื่องของโควิด
ตัวแทนจำหน่ายนั้น ก็มีข่าวลือมาแล้วว่าพวกเขาได้ทำการผูกมิตรไว้กับตัวแทนจำหน่ายเดิมของเชฟโรเลตหลายรายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ว่าจะให้สานต่อในการเป็นตัวแทนจำหน่ายของพวกเขา โดยในช่วงนี้ ดีลเลอร์เหล่านี้ก็จะทำหน้าที่ในการดูแลลูกค้าของเชฟโรเลตไปพลาง ๆ ก่อนด้วย ซึ่งจริง ๆ ถือเป็นมาตรการที่เข้าท่า เพราะว่าสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิม สร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ ให้กับแบรนด์เอาไว้ได้ล่วงหน้าเลยในอนาคตที่จะเข้ามา
จีดับบลิวเอ็มประกาศเอาไว้แล้วว่าจะทำตลาดสินค้า 3 กลุ่มในประเทศไทย ประกอบไปด้วย ตลาดรถยนต์เอนกประสงค์ หรือ เอสยูวี ที่แน่นอนว่าจะต้องมี Haval H6 เป็นหัวหอกแน่ ๆ ตามมาด้วยกลุ่มรถปิกอัพ ที่น่าจะนำทัพมาด้วย GWM Pao และรถยนต์ไฟฟ้าทางเลือกใหม่ ที่พวกเขาเพิ่งเปิดตัว ORA Good Cat ไปก็ถือว่าดูดีไม่หยอก และหากเป็นสินค้าเหล่านี้เข้ามาทำตลาดจริง ด้วยราคาจำหน่ายที่เหมาะสม ก็เชื่อว่าพวกเขาน่าจะสร้างตลาดได้พอสมควร
ที่เหลือก็ต้องดูแผนงานของพวกเขาอีกครั้งเมื่อยามเข้ามาในตลาด ว่าจะไปได้รุ่งเหมือนในหลาย ๆ ที่ หรือจะแป๊กเหมือนหลาย ๆ แบรนด์ที่หาญกล้าเข้ามา งานนี้ ต้องรอวัดใจผู้บริหารสูงสุดที่ว่ากันว่าคัดเลือกกันมาอย่างอยากเย็น ต้องบินไปสัมภาษณ์กันถึงแดนมังกร ว่าจะเข้าใจตลาดและสามารถเจรจากับผู้บริหารให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกันได้หรือไม่
งานนี้ต้องบอกว่าเตรียมตัวสนุกกันได้เลย..