การประกาศหยุดการทำตลาดรถยนต์ Nissan (นิสสัน) อย่างเป็นทางการอีก 3 รุ่น อันประกอบไปด้วย Nissan Sylphy (นิสสัน ซิลฟี่) Nissan Teana (นิสสัน เทียน่า) และ Nissan X-Trail (นิสสัน เอ็กซ์เทรล) นั้น เอาจริง ๆ ก็ไม่ได้สร้างความประหลาดใจอะไรให้กับบรรดาผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
เพราะเอาจริง ๆ นิสสันเริ่มแสดงสัญญานนี้ออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่พวกเขาเริ่มเอารถหลากหลายรุ่นที่ทำตลาดอยู่ในประเทศไทยออกจากเวบไซต์อย่างเป็นทางการไปทีละคัน โดยในเบื้องต้นมีการให้ข้อมูลเพียงว่ารถยนต์เหล่านั้นจำหน่ายหมดสต๊อกไปแล้ว และยังไม่มีแผนการอะไรเพิ่มเติมในช่วงเวลาที่ผ่านมา
กลับกลายเป็นว่า จดหมายถึงตัวแทนจำหน่ายเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายและแผนงานทั้งหมด ตามที่หลุดรอดออกมานั้น กลับสร้างความสับสนและความไม่สบายใจให้กับทั้งตัวแทนจำหน่ายและลูกค้า รวมถึงเริ่มมีคำถามถึงอนาคตของแบรนด์ ว่าจะอยู่รอดหรือไม่ในอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศไทย
สถานการณ์ที่แย่ลงเรื่อย ๆ ในตลาด
ถ้านับนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เป็นทีมฟุตบอล และนับปีปฏิทินนี้เป็นฤดูกาลแข่งขันที่ผ่านมาครึ่งฤดูกาลมาแล้ว ทีมระดับกลางอย่างนิสสันนั้น มีพัฒนาการที่แย่ลงตั้งแต่เปิดฤดูกาลมา นอกจากตัวเลขจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ แล้ว แผนงานแต่ละอย่างที่ออกมานั้นทำให้ลูกค้าและดีลเลอร์บ่นปวดหัวกันไปตาม ๆ กัน
ถ้าจำกันได้ พวกเขาเปิดปีด้วยการไล่ลดราคารถยนต์ รถปิกอัพและเอสยูวีของตัวเองมาอย่างเรื่อย ๆ และไม่ได้ลดกันแค่หลักหมื่น แต่หลาย ๆ รุ่นลดกันเป็นตัวเลข 6 หลัก แม้จะมีเหตุผลสวยงามห้อยท้ายว่าเพื่อเป็นการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ช่วงโควิด แต่ก็รู้กันอยู่วา ใครก็เดินไปเลือกช็อปรถในโปรนี้กันได้ทั้งสิ้นแบบไม่เลือกอาชีพ
จากนั้นก็ยังมีข่าวลือเรื่องกระแสการมีเรื่องกับตัวแทนจำหน่ายหลายรายออกมาเป็นระยะ ซึ่งเป็นคดีความต่อเนื่องกันมาจากช่วงหลายปีก่อน มีการเปลี่ยนแปลงทีมบริหารหลายตำแหน่ง จากนั้นก็มาต่อด้วยการปลดรถหลาย ๆ โมเดลลงจากเวบไซต์อย่างเป็นทางการ เรียกว่าเป็นคอมโบข่าวร้ายที่ฟาดลงมาอย่างต่อเนื่อง
หันไปดูที่ด้านยอดจำหน่ายกันบ้าง แม้จะทำโปรโมชั่นโหมกระหน่ำกันอย่างหนักในช่วงต้นปีเพื่อการระบายสต็อก แต่หากดูยอดจำหน่ายของนิสสันแล้วก็ถือว่ายังเหนื่อย 7 เดือนแรกของปีนี้ พวกเขาขายรถรวมกันไปที่ 25,502 คันเท่านั้น หดตัวถึง 35.6% ซึ่งเป็นตัวเลขการหดตัวเหนือตลาดรวมที่หดตัวอยู่ 34.9%
แยกลงไปในแต่ละเซกเมนต์ กลุ่มรถยนต์นั่งที่ตลาดหดตัว 41.8% นั้น นิสสันทำยอดจำหน่ายไปได้ 14,777 คัน หดตัว 34.8% ซึ่งแม้จะดูเหมือนดีกว่าตลาด แต่ต้องบอกว่านิสสันควรจะทำได้ดีกว่านี้ ในปีที่มีการเปิดตัวรถยนต์นั่งในโครงการอีโคคาร์อย่าง Nissan Almera (นิสสัน อัลเมร่า) ที่มีสมรรถนะและคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยม
ตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งรวมเอสยูวีด้วยตามการรวบรวมตัวเลขของคนรวม นิสสันหดตัว 36.6% หรือมียอดขาย 10,725 คัน หดตัวมากกว่าตลาดที่ลดลง 31.7% หากลงไปดูในรายละเอียดของปิกอัพ 1 ตัน นิสสันก็มียอดหดตัวเหนือกว่าตลาดที่ 39.5% หรือมียอดขาย 9,386 คัน ขณะที่ตลาดหดตัวเพียง 33% เท่านั้น
หากไล่ลงไปในรายละเอียดอีก Nissan Navara (นิสสัน นาวาร่า) มียอดจำหน่ายในช่วง 7 เดือนแรกของปีที่ 8,319 คัน หดตัว 43.2% ขณะที่ตลาดรวมหดตัว 31.1% และดูเหมือน Nissan Terra (นิสสัน เทอร์ร่า) จะเป็นสินค้าที่มียอดขายเพิ่มขึ้น 20.8% หรือขายไป 1,067 คัน สวนทางตลาดที่หดตัว 46.6%
ถ้ามาดูยอดขายเดือนกรกฎาคมกันบ้างล่ะ อัลเมร่ามียอดขายที่ดีที่สุดของนิสสันที่ 1,428 คัน เป็นอันดับ 2 ของตลาดที่ห่างจากผู้นำเกือบ 1 ,000 คันและนำผู้ตามเพียงหลักสิบ Nissan Note (นิสสัน โน๊ต) มียอดขายที่ 296 คัน และ Nissan March (นิสสัน มาร์ช) ขายได้ 207 คัน อยู่อันดับที่ 7 และ 9 ของรถเล็ก 5 ประตูตามลำดับ
นิสสัน เทียน่า มียอดจำหน่ายหลักเดียวอย่างต่อเนื่องที่ 8 คัน และน่าจะมีสต็อกที่ดีลเลอร์อีกไม่มาก ปิกอัพอย่างนาวาร่านั้น มียอดขายที่ 1,346 คันเป็นอันดับ 5 ของตลาดที่มียอดขาย 10% ของผู้นำ ขณะที่ความหวังอย่าง Nissan Kicks (นิสสัน คิกส์) ก็มียอดส่งมอบกระท่อนกระแท่นที่ 211 คัน อยู่อันดับ 7 ของกลุ่มครอสโอเวอร์
ทำไมต้องยกเลิกทำตลาด 3 โมเดล
การประกาศยกเลิกการทำตลาดเอ็กซ์-เทรล, เทียน่าและซิลฟี่ แน่นอนว่าเป็นการประกาศแผนงานกลาย ๆ ว่ารถยนต์ทั้ง 3 รุ่นที่เคยทำตลาดในประเทศไทย ใช้ประเทศไทยเพื่อเป็นฐานการผลิตส่งออกในอาเซียน จะถูกยกเลิกการทำตลาดด้วยเหตุผลที่ทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกันว่าไม่มีความคุ้มค่าในการพัฒนาโมเดลใหม่
เอาจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหนก็ตามที่ยกเลิกไปนั้น หากมองไปที่ตลาดโลกและหยิบเอาโมเดลใหม่ ๆ ที่เปิดตัวไปแล้วมา ก็จะพบว่าเป็นรถที่มีความน่าสนใจทั้งการออกแบบและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ใส่เข้าไปมากมาย และก็น่าจะพอขายได้มากขึ้นจากเดิมแน่นอน หากตัดสินใจประกอบและทำการขายในประเทศไทยอีกครั้ง
ปัญหาก็คือ เมื่อพิจารณาถึงความล้มเหลวในการทำตลาดรถแต่ละรุ่นในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในแต่ละเซกเมนต์ นิสสันเองก็ต้องประเมินกำลังของตัวเองด้วยว่าอยากจะทุ่มไปกับรถยนต์กลุ่มไหน และพวกเขาก็เลือกรถเล็ก รถกระบะและรถยนต์พลังงานทางเลือก เพื่อใช้ในการปรับทัพในครั้งนี้
ก็คงจะไวเกินไปที่จะบอกว่าทีมงานของนิสสันนั้นคิดผิดหรือคิดถูก ตอนนี้หลาย ๆ คนอาจจะยังโอดโอยที่อยากจะเห็นรถทั้ง 3 โมเดลทำตลาดอีกครั้ง แต่เราก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า หากพวกเขายังเดินหน้าต่อโดยที่ตลาดนั้นดูเหมือนจะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีไปแล้ว ก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะก่อร่างสร้างทุกสิ่งใหม่อีกครั้ง
เทียน่าและเอ็กซ์เทรลนั้น นิสสันทำพังไปกับมือตัวเองด้วยการประกาศดัมพ์ราคาครั้งใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาในตลาดมือสองและภาพลักษณ์ของสินค้าไปอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ซิลฟี่นั้น นอกจากเวอร์ชั่นเทอร์โบแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่ให้จดจำมากมาย ถ้านิสสันจะตัดสินใจไปทุ่มเทกับอะไรที่เป็นโลกอนาคตที่แท้จริงก็น่าจะดีกว่า
ฝากความหวังกับเทคโนโลยีแห่งโลกใหม่
ภายใต้แผนการของนิสสันที่ร่อนจดหมายถึงดีลเลอร์ ทำให้พอคาดการณ์ได้ว่าพวกเขาจะเดินหน้าทำตลาดสินค้าที่มีความเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่อาจจะเป็นแฟนพันธุ์แท้ของพวกเขา หรือไม่ก็กลุ่มลูกค้าที่ต้องการทดลองอะไรใหม่ ๆ ให้กับชีวิตบ้าง แม้จะยังไม่มีรายละเอียดอะไรที่ชัดเจนออกมามากมายก็ตามที
แน่นอนว่านิสสันจะไม่หยุดการทำตลาดรถกระบะอย่างนิสสัน นาวาร่า ที่มีคนเริ่มเห็นรถรุ่นใหม่พรางตัววิ่งกันบ้างแล้วในประเทศไทย ซึ่งน่าจะเปิดตัวกันในช่วงปีหน้า และแน่นอนว่าอนุพันธ์ของนาวาร่าอย่างเทอร์ร่าเอง ก็น่าจะยังอยู่ในแผนงานที่วางเอาไว้ เพียงแต่อาจจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาหน้าตากันอย่างจริงจัง
อัลเมร่า ก็น่าจะเป็นสินค้าที่อยู่รอดต่อไป รถเล็กในโครงการอีโคคาร์ ที่มาพร้อมเครื่องยนต์เทอร์โบขนาดเล็ก เป็นความหวังของหมู่บ้านนิสสัน ด้วยยอดจำหน่ายที่ยังพอไปได้ และความที่เป็นโครงการที่มีความผูกพันในระยะยาวเพื่อให้ทำได้ตามแผนที่กำหนดเอาไว้กับภาครัฐ ใครที่สนใจรถคันนี้อยู่ก็ถือว่าสบายใจได้
ต่อกันที่กลุ่มพลังงานทางเลือกใหม่ นิสสันนั้นได้แนะนำเทคโนโลยีไฮบริดอย่างอี-พาวเวอร์กับคิกส์ไปในช่วงที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร แต่พวกเขาก็ติดปัญหาเรื่องการผลิตจากการที่ซัพพลายเออร์มีปัญหาในการส่งมอบชิ้นส่วน ทำให้ยังตอบได้ยากเหมือนกันว่าอนาคตของอี-พาวเวอร์นั้นจะเป็นอย่างไร
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม นิสสันนั้นมีสินค้าอีกรุ่นที่มาพร้อมเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์เหมือนกันอย่าง Nissan Note (นิสสัน โน๊ต) ที่เป็นอีโคคาร์อีกรุ่นในรุ่นที่ผ่านมา และเริ่มมีคนเห็นรถรุ่นใหม่ออกมพรางตัววิ่งกันแล้ว หากกระแสอี-พาวเวอร์ดี แน่นอนว่าโน๊ตเองก็น่าจะได้ไปต่อในตลาด พร้อมกับเครื่องยนต์ทางเลือกใหม่นี้แน่นอน
อีกคันที่เริ่มมีกระแสข่าวมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือรถเอสยูวีไฟฟ้าอย่าง Nissan Ariya (นิสสัน อาริยะ) ที่แว่วว่าอาจจะเห็นถึงการเปิดสายการผลิตใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออก แต่ก็ยังต้องระวังประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ที่ประกาศแผนดึงดูดเงินลงทุนและสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ว่าจะน่าสนใจมากน้อยเพียงใด
เอาจริง ๆ นี่ก็เป็นแค่การคาดเดาล่ะว่านิสสันน่าจะต้องขยับและปรับตัวอย่างรุนแรง หากแพลนของพวกเขาคือการยกระดับตัวเองเป็นผู้ผลิตยานยนต์เฉพาะทางเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็ต้องฝากความหวังไว้กับระบบอี-พาวเวอร์และระบบไฟฟ้าของพวกเขาว่าอย่ามีปัญหาให้ต้องตามแก้ไขอะไรกันในช่วงนี้
ทุ่มหมดหน้าตักตัดเนื้อร้ายรักษาชีวิต
การทำงานของนิสสันในตอนนี้ ถ้ามองผ่าน ๆ ก็เหมือนกับการรักษาโรคด้วยการตัดส่วนที่เป็นปัญหาหรืออาจจะเป็นปัญหาออกไปให้หมด แล้วไปฝากความหวังกับยารักษาโรคใหม่ ที่ยังไม่รู้ว่าผลการรักษานั้นจะออกหัวหรือก้อย แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้โรคลามไปเรื่อย ๆ จนไม่สามารถจะควบคุมสถานการณ์อะไรใดใดได้อีก
แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายที่แบรนด์อย่างนิสสันจะคาดหวังถึงการตอบรับที่ยอดเยี่ยม แต่ในอดีตก็มีค่ายรถบางค่ายเหมือนกันที่เลือกเฉือนปัญหาอย่างรถยนต์นั่งออกไป แล้วหันมาบุกตลาดกระบะและพีพีวีแทน ซึ่งก็ทำให้พวกเขาอยู่รอดได้อย่างประคองตัวในตลาดประเทศไทยได้ และนิสสันเองก็น่าจะทำได้เหมือนกันแบบง่ายดายกว่า
แบรนด์นิสสันนั้นถือเป็นแบรนด์เก่าแก่อีกแบรนด์ในประเทศไทย ที่มีการลงทุนมหาศาลในประเทศนี้ โรงงานทั้ง 2 แห่งมีขีดความสามารถที่ยังไปต่อได้สบายในฐานะฐานการผลิตระดับโลก เอาเป็นว่าเราก็ได้แต่เอาใจช่วยให้พวกเขาแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ไวไว และกลับมาผงาดได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยสินค้าใดในเซกเมนต์ไหนก็ตาม
แต่ถ้างานนี้พลาด บอกเลยว่าเดิมพันของพวกเขาก็ไม่ได้แตกต่างจากหลาย ๆ ค่ายที่พับกระเป๋ากลับบ้านไปนั่นล่ะนะ... มาลุ้นกันดีกว่าว่าจะหัวหรือก้อยกับการทุ่มหมดหน้าตักในครั้งนี้!!!