ตลาดรถยนต์อีโคคาร์กำลังจะปรับโฉมหน้าอีกครั้งอย่างแน่นอน หลังจากการมาถึงของอีโคคาร์ยุคใหม่ 2 รุ่นรวด ที่ทำการปรับลดเครื่องยนต์หันมาใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กที่จับคู่กับเทอร์โบ รวมถึงมีการเพิ่มอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยมาตรฐานมาใหม่ และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในรถอีกเพียบ
การเข้ามาของ All-New 2020 Nissan Almera และ All-New 2020 Honda City คือการเซตมาตรฐานใหม่อีกครั้งของเครื่องยนต์ 1.0 ลิตรพ่วงเทอร์โบ ที่เคยมีผู้ประกอบการรายหนึ่งเปิดตัวไว้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในอดีตที่คนไทยยังไม่ค่อยไว้ใจกับเครื่องยนต์ประเภทนี้นัก
เมื่อฮอนด้า (Honda) ตัดสินใจลงมาลุยตลาดอีโคคาร์อย่างจริงจังอีกครั้ง พวกได้ส่งรถยนต์รุ่นที่ขายดีที่สุดอย่างฮอนด้า ซิตี้ (Honda City) ลงมาลุยสู้ศึกนี้ ด้วยความมั่นใจลึก ๆ ว่า แม้จะเปลี่ยนเครื่องยนต์เล็กมาแทนที ก็ยังสามารถขยายฐานลูกค้าไปคลอบคลุมตลาดเดิมของพวกเขาได้อย่างไม่มีปัญหา
ฟากนิสสัน (Nissan) ที่เป็นผู้นำตลาดอีโคคาร์มาตั้งแต่ต้น และมีการปรับแผนงานไปมาหลายต่อหลายครั้ง นิสสัน อัลเมร่า (Nissan Almera) คือผู้ที่อยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายครั้ง และการกลับมาในครั้งนี้ ต้องบอกว่าพวกเขาปรับภาพลักษณ์ของรถไปใหม่อย่างมากมาย
แน่นอนว่าการแข่งขันหลักของรถกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการเป็นรถเล็ก ประหยัดน้ำมันอีกต่อไป เมื่อข้อกำหนดของอีโคคาร์ เฟสสอง บังคับให้รถทุกคันที่เข้าโครงการนี้ กลายเป็นรถที่ต้องมีมาตรฐานในระดับสูง ทั้งเรื่องสมรรถนะ การประหยัดเชื้อเพลิงและความปลอดภัยที่ครบครัน
ทั้งอัลเมร่าและซิตี้นั้น ถือเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อที่สุดหากเทียบกันในช่วงเวลาเปิดตัวและสิ่งที่ใส่เข้ามากันอย่างเต็มที่ ส่วนใครจะมีดีกว่าด้านไหนบ้าง เราขอพาไปเปรียบเทียบกันให้ดูเห็น ๆ กัน ณ ที่นี้
ขนาดตัวถังซิตี้ขี่อยู่เล็กน้อย
เพราะการขยายตัวถังของฮอนด้า ซิตี้ ออกไปทั้งแนวกว้างและแนวยาว ทำให้ฮอนด้า ซิตี้ นั้นมีขนาดตัวถังในภาพรวมที่ใหญ่กว่านิสสัน อัลเมร่าในทุกมิติ โดยซิตี้นั้นกว้างกว่า 8 มิลลิเมตร ยาวกว่า 58 มิลลิเมตร และสูงกว่า 7 มิลลิเมตร แต่อัลเมร่ากลับมีฐานล้อที่ยาวกว่าถึง 31 มิลลิเมตร
อัลเมร่ามาพร้อมห้องโดยสารที่ได้รับการรีเฟรชใหม่หมดจด เน้นความกว้างและยาวของตัวรถ แนวคิดในการออกแบบใหม่ที่เรียกว่า Emotional Geometry หรือรูปทรงเลขาคณิตที่สื่อถึงอารมณ์ สะท้อนความทันสมัยในการใช้งานรถยนต์คันใหม่นี้อย่างมาก
จุดเด่นของการออกแบบภายนอก อยู่ที่กระจังหน้าแบบวี-โมชั่น (V-Motion) ดูลงตัวกับไฟหน้าและไฟท้ายทรงบูมเมอแรง เสาหลังคาด้านหลังที่ถูกยกตัวขึ้น เพิ่มความสง่างามและพื้นที่ห้องโดยสารตอนหลัง ลงตัวกับหลังคาแบบลอยตัวอันเป็นเอกลักษณ์การออกแบบใหม่
ขณะที่ฮอนด้า ซิตี้ มาพร้อมแนวคิด Ambitious Sedan ได้ออกมาเป็นรถที่ดูใหญ่ขึ้น บึกบึน ดูมีความแข็งแกร่งที่พร้อมที่จะปกป้องดูแลผู้ขับขี่และผู้โดยสารทุกคน โดยที่การออกแบบรถคันนี้มีความลงตัวและการเก็บรายละเอียดของรถที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ดีไซน์ตัวถังด้านหน้า Solid Wing เน้นความโฉบเฉี่ยวอย่างเส้นไฟแอลอีดีด้านหน้า วัสดุอุปกรณ์แบบพรีเมียม รุ่นท็อปมาพร้อมกระจังหน้าแบบตาข่าย กระจกมองข้างและสปอยเลอร์หลังสีดำเงา กันชนท้ายแบบสปอร์ต เรียกว่าใส่ความสปอร์ตมาเต็มพิกัด
ในด้านการดีไซน์นั้น ภาพรวมของฮอนด้า ซิตี้ นั้นอาจจะดูสปอร์ตมากกว่าเล็กน้อย แต่การเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ของนิสสัน อัลเมร่าก็ถือว่าทำได้ดีแบบไม่มีที่ติ อันนี้ก็ต้องแล้วแต่คนชอบจริง ๆ ว่าจะเทใจไปให้ฝ่ายไหน
ห้องโดยสารที่แข่งกันที่ความสบาย
ทีมออกแบบของฮอนด้าทำการลบปัญหาเรื่องฐานล้อที่สั้นลง ด้วยการจัดดีไซน์ห้องโดยสารใหม่เกือบทั้งหมด เพื่อเพิ่มพื้นที่การใช้งาน แม้การกระทำบางอย่างจะทำให้รถดูสปอร์ตน้อยลง เช่น การย่นระยะของแดชบอร์ด หรือการลดความสูงของแป้นเกียร์ลงไป แต่ก็ได้ห้องโดยสารขนาดใหญ่ที่โปร่งโล่งตา
มีการดีไซน์ตำแหน่งการวางเท้าเพื่อให้ผู้โดยสารตอนหลังสะดวกสบายมากขึ้น แผงแดชบอร์ดตกแต่งสีดำสลับเงิน มีการดีไซน์ตำแหน่งวางอุปกรณ์ใหม่หมดจด เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถคันนี้ได้อย่างง่ายดายและสะดวกที่สุดในทุกสภาวะการขับขี่
ขณะที่ นิสสัน อัลเมร่า มาพร้อมห้องโดยสารที่มีความโปร่งสบาย ดีไซน์ยุคใหม่เน้นความกว้างขวางมาพร้อมเทคโนโลยีอัจฉริยะมากมาย ที่จะช่วยตอบสนองความต้องการด้านความสะดวกสบายและความปลอดภัยอย่างครบครัน เรียกว่าไม่ต้องไปหาเพิ่มจากที่ไหนอีก
ห้องโดยสารที่ได้รับการออกแบบให้มีแผงหน้าปัดที่ทันสมัย หน้าจออินโฟเทนเมนต์ขนาดใหญ่ เก้าอี้โดยสารแบบโอบกระชับ เลือกใช้วัสดุคุณภาพสูงในการออกแบบ พื้นที่ว่างเหนือศีรษะและที่วางขา ห้องโดยสารด้านหน้ากว้างสบาย ด้านหลังมีปัญหาเรื่องการดันศีรษะสักเล็กน้อย
เรื่องของห้องโดยสารภายในนั้นขอบอกว่าไม่มีความแตกต่างกันมาก แต่หากเทียบกับรุ่นก่อนหน้าแล้ว ต้องบอกว่าฮอนด้าทำงานหนักมากเพื่อให้ห้องโดยสารของพวกเขานั้นสบายเหมือนกัน บนพื้นฐานที่ว่าฐานล้อสั้นลง ซึ่งในภาพรวมแล้ว บรรยากาศของห้องโดยสารซิตี้ก็ดูดีกว่านะ
เครื่องยนต์ 1.0 ลิตรเทอร์โบที่แรงไม่เท่ากัน
นิสสัน อัลเมร่า ใหม่ เลือกใช้เครื่องยนต์ใหม่ HRA0 ขนาด 999 ซีซี. พร้อมเทอร์โบเพิ่มสมรรถนะ ให้กำลังสูงสุด 100 แรงม้า พร้อมแรงบิดสูงสุด 150 นิวตันเมตร ให้อัตราการสิ้นเปลืองตามโหมดการประหยัดพลังงานที่ 23.3 กิโลเมตรต่อลิตร
ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ เอ็กซ์ทรอนิก ซีวีที ช่วงล่างด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท หลังแบบทอร์ชั่นบีมพร้อมเหล็กกันโครง ขณะที่ระบบเบรกเป็นหน้าดิสก์พร้อมช่องระบายความร้อน หลังดรัม โดยมีปริมาตรความจุถังน้ำมันที่ 35 ลิตร
ขณะที่ฮอนด้า ซิตี้ มาพร้อมความแรงอย่างเดือด กับเครื่องยนต์ P10A6 แบบเบนซิน 3 สูบ ขนาด 988 ซีซี. หัวฉีดไดเรคต์อินเจคชั่น มาพร้อมระบบวาล์วแปรผันแบบดูอัล วีซีทีและวีเทค พ่วงระบบอัดอาการเพิ่มสมรรถนะ เน้นการประหยัดน้ำมันและลดการปล่อยไอเสียเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
พละกำลังสูงสุด 122 แรงม้าที่ 5,500 รอบต่อนาที พร้อมแรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตรที่ 2,000-4,500 รอบต่อนาที รองรับเชื้อเพลิงสูงสุดที่อี20 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำเพียง 99 กรัมต่อกิโลเมตร และผ่านมาตรฐานไอเสียระดับยูโร 5 เกียร์อัตโนมัติแบบซีวีที ล็อกอัตราทดได้ 7 จังหวะ
แน่นอนว่ามองจากตัวเลขหลาย ๆ คนคงบอกว่าฮอนด้าแรงกว่าเห็น ๆ แต่เอาเข้าจริง ๆ หากมองว่านี่คือรถสำหรับการใช้งานในเมืองเป็นหลัก ตัวเลขของอัลเมร่านั้นก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไรเลย มันดีกว่าอีโคคาร์ในอดีตที่มีม้าไม่ถึง 100 ตัวกันด้วยซ้ำ ใครที่ใช้งานในเมืองเป็นหลักก็อย่าลืมคิดเรื่องนี้
ตารางเปรียบเทียบทางเทคนิค |
|
2020 Nissan Almera |
2020 Honda City |
ราคาจำหน่าย (แสนบาท) |
4.99-6.39 |
5.79-7.39 |
กว้าง (มิลลิเมตร) |
1,740 |
1,748 |
ยาว (มิลลิเมตร) |
4,495 |
4,553 |
สูง (มิลลิเมตร) |
1,460 |
1,467 |
ระยะฐานล้อ (มิลลิเมตร) |
2,620 |
2,589 |
เครื่องยนต์ |
HRA0 |
P10A6 |
ปริมาตรกระบอกสูบ (ซีซี.) |
999 Turbo |
988 Turbo |
กำลังสูงสุด (แรงม้า/รอบต่อนาที) |
100/5,000 |
122/5,500 |
แรงบิดสูงสุด (นิวตันเมตร/รอบต่อนาที) |
152/2,400-4,000 |
173/2,000-4,500 |
ระบบส่งกำลัง |
อัตโนมัติซีวีที |
อัตโนมัติซีวีที |
รองรับน้ำมันเชื้อเพลิง |
E20 |
E20 |
อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยและสบายที่ใส่มาเต็ม
การเป็นรถยนต์ในโครงการอีโคคาร์ เฟสสอง หมายความว่าคุณจะต้องผ่านข้อกำหนดอันเข้มงวดด้านความปลอดภัย ด้วยการติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อก ระบบกระจายแรงเบรก ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวและควบคุมการหมุนฟรีของล้อ ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน มาในทุกรุ่น
ซิตี้นั้น เพิ่มระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ กุญแจรีโมตที่สามารถเปิดฝากระโปรงท้ายได้จากรีโมต เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่น ระบบสตาร์ทเครื่องยนต์แบบปุ่มอัจฉริยะ มาพร้อมระบบสมาร์ทคีย์ ยกเว้นในรุ่นล่างสุด โดยมาพร้อมระบบตัดการทำงานของเครื่องยนต์อัตโนมัติเมื่อรถหยุดนิ่ง
ในรุ่นอาร์เอสมาพร้อมระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ โครงสร้างตัวถัวแบบนิรภัย G-CON อันลือชื่อถูกนำมาใช้ ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่งเพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการเดินทาง กล้องถอยหลังแบบปรับมุมมองได้ 3 รูปแบบ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่
ขณะที่อัลเมร่านั้นจัดเต็มมากด้วยเทคโนโลยี นิสสัน อินเทลลิเจนต์ โมบิลิตี (Nissan Intelligent Moblility) ที่ช่วยตรวจสอบความปลอดภัยและปกป้องผู้โดยสารในรถ นอกเหนือไปจากระบบความปลอดภัยพื้นฐานที่ต้องติดตั้งมาอยู่แล้ว
ความดีงามของรถคันนี้อยู่ที่รุ่นท็อปที่แม้จะค่าตัวถูกกว่า แต่ก็เป็นอีโคคาร์รุ่นเดียวในตลาดที่มาพร้อมระบบเบรกอัตโนมัติ ระบบเตือนมุมอับสายตา และกล้องรอบทิศทาง 360 องศา มาพร้อมกันอย่างครบครัน ในราคาที่อีโคคาร์รุ่นอื่น ๆ ที่แพงกว่านี้ก็ยังติดตั้งมาให้ไม่ครบเยี่ยงนี้
เลือกที่ชอบใจกันได้เลย
ในการเปรียบเทียบหลายต่อหลายครั้ง ผู้เปรียบเทียบมักจะพูดว่าให้นำรุ่นเอสวีของฮอนด้า ซิตี้ ซึ่งมีอุปกรณ์มากมายพอใช้งานอยู่แล้วมาเปรียบเทียบกับนิสสัน อัลเมร่า รุ่นวีแอล ที่เป็นตัวท็อปของรุ่น โดยมองไปที่เรื่องของราคาจำหน่ายที่ใกล้เคียงกันมากกว่า
แต่หากบอกว่านิสสันนั้นทำงานของพวกเขามาอย่างดีมาก หากนำรุ่นเอสวีมาเปรียบเทียบกับวีแอลจริง ฮอนด้าจะกลายเป็นรถที่อุปกรณ์ไม่ครบไปเลย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความพร้อมของอัลเมร่า ที่ติดอุปกรณ์มาให้แบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน
หากเทียบกับตัวต่อตัวและต้องตัดสินใจเลือกสักคัน ก็ต้องถามว่าคุณต้องการสมรรถนะอันยอดเยี่ยมของฮอนด้า ซิตี้ หรือคุณจะเน้นรถที่ตอบสนองด้อยกว่านิดนึง แต่ให้ของเล่นที่ไม่สามารถไปติดตั้งเพิ่มทีหลังได้มาอย่างครบครัน แถมยังมีราคาจำหน่ายที่น่าคบหากว่ากันมาก
อย่าลืมว่าเมื่อเทียบรุ่นท็อปต่อรุ่นท็อปนั้น Nissan Almera ราคาถูกกว่า Honda City ถึง 1 แสนบาท ราคาที่แตกต่างกันนี้ เอาไปเติมน้ำมันขับกันได้หลายปี เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ใช่สายเท้าหนักมากมาย รถคันนี้ก็สามารถตอบสนองความต้องการในการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างดี
ขณะที่ซิตี้ รุ่นท็อปที่ทำเก๋ด้วยระบบฮอนด้า คอนเนคต์เอาไว้เชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือเก๋ ๆ เครื่องยนต์สุดแรงที่เรียกพละกำลังมาได้ทุกรอบเครื่อง แพดเดิลชิฟท์ก็ดูเท่ดีไม่หยอก ถ้าคำนวนแล้วคิดว่าจ่ายไหว ได้รถขับไปต่างจังหวัดชิลล์ชิลล์ได้ด้วย ก็ถือเป็นเรื่องที่คุ้มค่าอยู่
ถือเป็นรถที่ดีทั้งคู่ล่ะนะ เพียงแต่ว่าคันไหนจะโดนใจ ตรงกับความต้องการมากกว่าเท่านั้นเอง