รถพลังงานไฟฟ้า New 2021 MG EP (2021 เอ็มจี อีพี) มาพร้อมกับราคาค่าตัวที่ 988,000 บาท คำถามคือเงินก้อนประมาณ 1 ล้านบาท สามารถซื้อรถพลังงานทางเลือกรุ่นอื่นใดได้อีกบ้าง
2021 MG EP เป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100% ที่มาพร้อมตัวถังแบบสเตชั่นวากอนครั้งแรกในประเทศไทย ทาง MG พร้อมให้ลูกค้าได้ยลโฉมตัวจริงและจับจองกันแล้วที่โชว์รูมเอ็มจีทุกสาขาทั่วประเทศและภายในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ชาเลนเจอร์ฮอลล์ เมืองทองธานี
ราคาระดับนี้มีทางเลือกอะไรบ้าง
ก่อนหน้านี้ MG เคยนำเสนอ ZS EV (เอ็มจี แซดเอส อีวี) รถเอสยูวีพลังงานไฟฟ้าออกมาแล้วด้วยราคา 1,190,000 บาท ขณะที่รถปลั๊กอินไฮบริดที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้าอย่าง HS PHEV (เอ็มจี เอชเอส พีเอชอีวี) เคาะอยู่ที่ 1,359,000 บาท
ทางด้านรถไฮบริดจากแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นยังมี Honda City e:HEV (ฮอนด้า ซิตี้ ไฮบริด) เคาะอยู่ที่ 839,000 บาท มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน Atkinson-cycle ขนาด 1.5 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว พละกำลังรวม 126 แรงม้า แรงบิด 253 นิวตันเมตร
ส่วน Nissan Kicks (นิสสัน คิกส์) มาพร้อมระบบ e-Power เป็นรถพลังงานไฟฟ้าแบบมีเครื่องยนต์ขยายระยะทางขับเคลื่อนมีทั้งหมด 4 รุ่นย่อย เริ่มต้นที่ 889,000 บาทไปจนถึง 1,049,000 บาท ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ส่วนเครื่องยนต์ 1.2 ลิตรทำหน้าที่สร้างกระแสไฟฟ้า พละกำลังสูงสุด 129 แรงม้า แรงบิด 206 นิวตันเมตร
ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota มีทั้ง C-HR 1.8 Hybrid (โตโยต้า ซี-เอชอาร์) ราคา 1,159,000 ล้าน และรถอเนกประสงค์ที่ใหญ่ขึ้นไปอีกเล็กน้อยอย่าง Corolla Cross (โตโยต้า โคโรลล่า ครอส) รุ่นไฮบริดมีราคาเริ่มต้น 1,019,000 – 1,199,000 บาท วางเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ Atkinson cycle ขนาด 1.8 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า กำลังรวมสูงสุด 122 แรงม้า
ราคารถพลังงานทางเลือกบวกลบ 1 ล้านบาท |
Honda City e:HEV Hybrid |
839,000 บาท |
Nissan Kicks e-Power |
889,000 – 1,049,000 บาท |
Toyota C-HR 1.8 Hybrid |
1,069,000 – 1,159,000 บาท |
Toyota Corolla Cross Hybrid |
1,019,000 – 1,199,000 บาท |
MG ZS EV |
1,190,000 บาท |
MG HS PHEV |
1,359,000 บาท |
MG EP พลังไฟฟ้า 163 แรงม้า
2021 MG EP ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงแบบ Permanent Magnet Synchronous Motor มีพละกำลังสูงสุด 163 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 260 นิวตันเมตร ทำงานร่วมกับเกียร์ไฟฟ้า สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม.ต่อชม. ได้ภายใน 8.8 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 185 กม.ต่อชม. มาพร้อมรูปแบบการขับขี่ทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ โหมด Normal, Eco และ Sport
แบตเตอรี่ Lithium-Ion มีความจุรวมถึง 50.3 kWh ทำให้สามารถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้ระยะทางไกลถึง 380 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง
การชาร์จไฟฟ้าทำได้ 2 แบบ คือแบบด่วน Quick Charge ผ่านระบบ DC หัวชาร์จประเภท CCS Combo 2 โดยชาร์จพลังงานตั้งแต่ 0 – 80% ในระยะเวลาประมาณ 40 นาที และแบบปกติ Normal Charge ผ่านระบบ AC ชาร์จพลังงานตั้งแต่ 0 – 100% ด้วย MG Home Charger ที่เป็นหัวชาร์จ TYPE II ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง 15 นาที
นอกจากนี้ ยังสามารถชาร์จพลังงานในระหว่างการขับขี่กลับเข้าแบตเตอรี่ (Regenerative) ด้วยระบบคืนพลังงาน KERS Mode (Kinetic Energy Recovery System)
ค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าของค่อนข้างประหยัด
MG เคลมว่า 2021 MG EP มาพร้อมกับการดูแลรักษาที่ง่าย และมีค่าใช้จ่ายต่ำ ทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ได้จากการชาร์จผ่าน MG Home Charger ง่ายๆที่บ้าน โดยสามารถชาร์จจาก 0%-100% และมีค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 200 บาทต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้ขับขี่จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 0.50 บาทหรือ 50 สตางค์ต่อการขับขี่ 1 กม.
นอกจากนี้ รวมค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาตามระยะทางตลอดระยะเวลา 5 ปีหรือ 100,000 กิโลเมตร อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อนจะมีค่าใช้จ่ายรวมไม่เกิน 8,000 บาท อีกทั้งการบำรุงรักษาแบตเตอรี่ในระยะยาว MG ยังนำเทคโนโลยีการเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบ Module มาใช้ ในกรณีหากจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษานั้น สามารถแยกเปลี่ยนเฉพาะ Module นั้นๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งชุด จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายระยะยาวได้
สำหรับข้อมูลทางเทคนิคฉบับเต็มของ MG EP คลิกชมเพิ่มเติมที่นี่