รถยนต์ไฟฟ้ามักจะมีน้ำหนักมากกว่ารถสันดาปภายใน ICE แต่อย่างไรก็ตาม น้ำหนักส่วนใหญ่มีการจัดการที่ดีอย่างน่าประหลาดใจ เพราะวางอยู่ในพื้นรถ หรือจุดต่ำสุดของรถ ทำให้เกิดชื่อเสียงว่า EV ทั้งหลายมักจะมีแฮนด์ลิ่งที่ดี แต่งานนี้มีรถที่ไม่ผ่านการทดสอบการหักเลี้ยวกะทันหันหรือ Moose test รถคันนั้นก็คือ
2021 Ford Mustang Mach-E (ฟอร์ด มัสแตง มัค-อี) คือรถที่ไม่ผ่านการทดสอบดังกล่าว แม้ว่าจะเป็น EV จุดศุนย์ถ่วงต่ำ แถมยังใช้ชื่อเดียวกับรถสปอร์ต เมื่อมาเทียบกับคู่แข่งอย่าง Tesla Model Y (เทสล่า โมเดล วาย) กลับพบว่าเทสล่าทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ เป็นเพราะอะไร แล้วการทดสอบแบบนี้มันน่าเชื่อถือหรือไม่ ?
การทดสอบ Moose test คืออะไร
การทดสอบการหักเลี้ยวกะทันหันหรือ Moose test ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกโดยสื่อยานยนต์สวีดิชอย่าง Teknikens Varld เป็นผู้นำการสนับสนุนการทดสอบประเภทนี้ เพราะถนนประเทศดังกล่าว มักมีสัตว์ป่าออกมาเดินเพ่นพ่านบนถนน ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนสัตว์ป่าจนมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 7 ครั้ง แบ่งออกเป็นอุบัติเหตุชนกวาง 1 รายและชนตัวมูสถึง 6 ราย จึงเกิดการทดสอบสมรรถนะของรถยนต์ในการหักหลบตัวมูสหรือสัตว์ป่าขนาดใหญ่
วิธีทดสอบ
การทดสอบนี้ จะจัดเรียงกรวยจราจรบีบให้รถหักหลบ และการหักกลับเข้าสู่เลน จำลองการหักหลบสัตว์ตัดหน้ารถ แล้วผู้ทดสอบจะเพิ่มความเร็วมากขึ้นในครั้งต่อไป จนกว่าตัวรถจะเสียการทรงตัว และชนเข้ากับกรวยจราจร เพื่อหาผลลัพธ์ว่า ยิ่งรถสามารถใช้ความเร็วสูงได้มากเท่าไหร่ ยิ่งแสดงให้เห็นว่า รถเกาะถนนมากเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม : เผยผลสำรวจลูกค้า 2021 Ford Mustang Mach-E ร้อยละ 70 เคยใช้เทสล่ามาก่อน
ผลลัพธ์ของ Ford Mustang Mach-E
คำตอบสั้น ๆ คือไม่ เมื่อเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ เช่น Tesla Model Y, Mazda MX-30 และ Fiat 500e ทำได้ดีในการทดสอบด้วยจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ แต่ยกเว้น Ford Mustang Mach-E กลับมีชะตากรรมพลิกผัน ในการทดสอบนี้ รถครอสโอเวอร์ของฟอร์ดได้รับการประเมินว่า ยากต่อการจัดการที่ความเร็ว 65, 68 และ 70 กม./ชม. ตามลำดับ และมีการควบคุมล้มเหลวโดยสิ้นเชิงด้วยความเร็ว 72 กม./ชม.
ผู้ทดสอบยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ESC ของรถตอบสนองช้า เมื่อแรงเหวี่ยงออกทางด้านหลัง ทำให้เกิดความไม่สมดุลย์ที่ความเร็วสูงขึ้น
อ่านเพิ่มเติม: Ford Mustang Mach-E มีดีจนติ่ง Tesla อิจฉา ตามไปบูลลี่คนซื้อในโลกโซเชียล
เมื่อเทียบกับ Tesla Model Y พบว่าค่ายของอีลอนมัสก์ ทำการทรงตัวได้ดีกว่า ไม่มีเป๋ปัด รอดการทดสอบที่ความเร็วมากกว่าถึง 75 กม./ชม. อีกทั้งยังเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าค่ายเกาหลีใต้นั่นคือ Hyundai Ioniq 5 ซึ่งก็ทำได้ดีกว่าที่ความเร็ว 72 กม./ชม.เท่ากับฟอร์ด
อ่านเพิ่มเติม : Ford Mustang Mach-E โชว์ขับลุยดินโคลน และทุบหน้าจอ ไม่มีอะไรบุบสลาย เทสล่าทำได้รึเปล่า ?
การทดสอบ moose test น่าเชื่อถือหรือไม่
กล่าวกันว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของการทดสอบ moose test คือความสามารถของผู้ขับขี่ การกดคันเร่ง ยกคันเร่ง และการหักพวงมาลัยด้วยความเร็วและองศาที่แตกต่างกันย่อมส่งผลต่อการเคลื่อนที่ของตัวรถ ถ้าควบคุมผิดจังหวะ รถมักเกิดอาการยกตะแคงข้างได้อย่างง่ายดาย
อีกทั้งการทดสอบหักหลบสัตว์ป่าขนาดใหญ่ระดับเฮฟวี่เวท และมีการเคลื่อนที่อันรวดเร็วอย่างตัวมูสยังเป็นสถานการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นในบางประเทศเท่านั้น
ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมบริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่จึงไม่ทำการทดสอบนี้ ยกเว้น Volvo ที่มีธรรมเนียมทดสอบ moose test กับรถใหม่ทุกรุ่น ส่วนค่ายรถอื่นใช้วิธีการทดสอบการเปลี่ยนช่องจราจรตามมาตรฐาน ISO 3888-2 ขององค์การสหประชาชาติแทน ซึ่งจะใช้หุ่นยนต์ทำการควบคุมคันเร่งและพวงมาลัยให้ได้มาตรฐานเดียวกันทุกครั้ง บนถนนที่มีความกว้างไม่เท่ากัน
การทดสอบ moose test ในระยะหลังจึงถูกมองว่าเป็น “เครื่องมือประชาสัมพันธ์” ของสื่อสัญชาติสวีดิชอย่าง Teknikens Varld ไปโดยปริยาย และเป็นสื่อรายหลักรายเดียวที่ยังคงเดินหน้าทดสอบต่อไปโดยมีรถที่สอบตกจนเป็น “เหยื่อ” ให้ได้พูดถึงอย่างสนุกปากเป็นประจำทุกปี
อ่านเพิ่มเติม: เผย 3 จุดอ่อนทำรถยนต์ไฟฟ้า Tesla คุณภาพตกต่ำที่อีลอน มัสก์เองยังยอมรับ