สำนักข่าว NHK ได้รายงานว่า ขณะนี้ในประเทศญี่ปุ่นกำลังมีการหารือวางแผนที่จะกำหนดนโยบายซึ่งจะส่งผลทำให้รถทุกคันที่ขายในประเทศญี่ปุ่นจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าภายในช่วงกลางทศวรรษที่ 2030 ซึ่งในกรณีนี้ยังรวมรถพลังงาน Hybrid อยู่ด้วย โดยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ริเริ่ม และตอนนี้กำลังหารือกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์เพื่อที่จะประกาศแผนอย่างเป็นทางการต่อไปในอนาคต
แผนครั้งนี้เป็นไปตามกระแสโลกที่เกิดการกำหนดเป้าหมายลักษณะคล้ายกัน เช่นในอังกฤษที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ปี ค.ศ. 2035 แบบยังอนุญาตรถ Hybrid ให้วางจำหน่ายอยู่ ก่อนที่จะขยับเร็วขึ้นเป็น ค.ศ. 2030 และตัดรถ Hybrid ออกจากแผนที่ตั้งไว้ไป
2022 Toyota Mirai
สาเหตุที่การกำหนดแผนมีระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น ภายใน 1 ทศวรรษนี้ เนื่องมาจากกระแสของโลกยานยนต์ที่การพัฒนาแบตเตอร์รี่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด เทคโนโลยีใหม่ ๆ ถูกพัฒนาขึ้นและนำมาใช้ บริษัทรถยนต์เองก็เริ่มต้นที่จะเตรียมการเข้าสู่โลกที่รถยนต์ทุกคันไม่ใช้พลังงานฟอซซิลอีกต่อไป
รถยนต์ไฟฟ้า เทรนด์ใหม่ที่เริ่มเข้าใกล้ความเป็นจริงทุกวัน
รถยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เริ่มต้นมาพร้อม ๆ กับรถยนต์พลังงานฟอซซิล มอเตอร์ไฟฟ้ามีจุดเริ่มต้นที่ไม่ห่างจากเครื่องยนต์สันดาปมากนักในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แต่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 รถยนต์เครื่องสันดาปก็เอาชนะความนิยมไปได้เนื่องจากการเติมพลังงานนั้นทำได้อย่างรวดเร็ว ระยะทางวิ่งต่อการเติมพลังงาน 1 ครั้งนั้นก็ไกลกว่า และโครงสร้างเครือข่ายการกระจายพลังงานทำได้ง่ายกว่า
วิกฤติพลังงานปี 1973 ทำให้น้ำมันขาดแคลน
ทว่า ในช่วงยุค 1970 ได้เกิดวิกฤติพลังงานขึ้น ทำให้พลังงานฟอซซิลมีราคาแพงอย่างก้าวกระโดด และหาเติมยาก ผู้คนจึงเริ่มตระหนักว่าพลังงานน้ำมันเป็นพลังงานที่มีจำกัดและอาจจะขาดแคลนได้ พลังงานทางเลือกจึงเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจมากขึ้น แต่พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเทคโนโลยีสำคัญที่สุด คือแบตเตอร์รี่ ไม่ได้ถูกพัฒนามาเป็นระยะเวลากว่า 70 ปี ในตอนนั้น การเปลี่ยนผ่านจึงไม่สามารถทำได้ทันที
2004 Toyota Prius
ถัดมา ในช่วงยุค 1990 บริษัทรถยนต์ก็ได้เริ่มต้นที่จะพัฒนารถซึ่งช่วยริเริ่มการเปลี่ยนผ่านอย่างแท้จริง เช่น Toyota Prius และ Honda Insight ซึ่งใช้ระบบ Hybrid นำเครื่องยนต์สันดาปมาผสมกับมอเตอร์ไฟฟ้า หรืออย่าง GM EV1 ที่เป็นรถไฟฟ้ารุ่นแรก ๆ ที่ถูกพัฒนาและเผยแพร่จริงจากบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่
Reva G-Wiz รถไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมมากในช่วงยุค 2000
ในช่วงยุค 2000 ทางภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม จากการปล่อยไอเสียของรถเครื่องยนต์สันดาป จึงได้มีการกำหนดนโยบายที่สนับสนุนให้ผู้คนเริ่มซื้อรถไฟฟ้าเป็นครั้งแรก ซึ่งส่งผลให้บริษัทรถยนต์ต่าง ๆ คิดริเริ่มที่จะทำรถไฟฟ้าออกมาจำหน่ายกันแพร่หลายมากขึ้น มาจนถึงปัจจุบันที่ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกวัน
การสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นเรื่องที่สำคัญในการดึงดูดผู้คน
นานาประเทศมีการกำหนดนโยบายที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้คนซื้อรถไฟฟ้ากันมากขึ้น โดยที่ประเทศในยุโรปมักจะเป็นผู้นำนโยบายด้วยเหตุผลของความสนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อม มีหลายตัวอย่างของการสนับสนุนจากภาครัฐที่ริเริ่มมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
ญี่ปุ่นมีการสนับสนุนให้ผู้คนปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกเช่น ไฟฟ้า แก๊สธรรมชาติ และ Hybrid ตั้งแต่ปี 1996 ได้มีการกำหนดนโยบายช่วยเหลือทางภาษีให้กับรถยนต์ประเภทดังกล่าว นี่เป็นเหตุผลทำให้รถอย่าง Toyota Prius เป็นที่นิยมแพร่หลาย และเป็นรถพลังงานทางเลือกรุ่นแรกที่ได้รับความนิยมจริง ๆ แต่กระนั้น นโยบายซึ่งไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนมานานก็ยังคงให้การสนับสนุนรถ Hybrid อยู่
ประเด็นเรื่องแหล่งพลังงานเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเสมอ
ประเทศนอร์เวย์เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีการสนับสนุนด้วยการลดอัตราภาษีนำเข้ามาตั้งแต่ปี 1990 และในปัจจุบันนอร์เวย์มีอัตราส่วนของยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเทียบกับรถยนต์ทั้งหมดที่มากที่สุดในโลก อีกทั้งพลังงานที่ถูกใช้ชาร์จไฟฟ้า ก็เป็นพลังงานสะอาด และนอร์เวย์ก็มีแผนที่จะทำให้รถยนต์ใหม่ที่วางจำหน่ายในประเทศทุกคันเป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2025 นับได้ว่าเร็วที่สุดในขณะนี้
ปลั๊กชาร์จที่ถูกจัดแสดงในงาน Motor Expo 2020
ในช่วงต้นยุค 2010 ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปต่าง ๆ ได้เริ่มต้นนโยบายการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นของตัวเองแพร่หลาย สวีเดนเป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้การสนับสนุนด้วยการจ่ายเงินให้กับผู้ซื้อคืน ในต้นปี 2012 ซึ่งมีการให้เงินแก่ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และรถที่ปล่อยไอเสียในระดับต่ำมากอื่น ๆ และยังมีการลดเว้นภาษีประจำปีของรถยนต์ไฟฟ้าในช่วง 5 ปีแรก หรืออย่างประเทศอังกฤษก็มีนโยบายจ่ายเงินให้ผู้คนซื้อเช่นกัน
ในสหรัฐอเมริกา นโยบายต่าง ๆ ถูกกำหนดขึ้นแล้วแต่มลรัฐ ซึ่งแน่นอนว่ามลรัฐที่ให้ความสำคัญกับรถยนต์พลังงานทางเลือกที่สุดก็คือรัฐที่มีแนวคิดหัวก้าวหน้าที่สุดอย่าง California ซึ่งมีการกำหนดนโยบายสนับสนุนทางการเงินเช่นกัน แต่ในระดับประเทศ ในยุค 1990 กลับถูกต่อต้านการกำหนดสัดส่วนการขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเนื่องจากบริษัทรถยนต์มองว่ากำไรนั้นน้อยเกินไป
2020 Honda E
ในประเทศไทยเอง ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์ขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ ก็มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เกิดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้น ตามกระแสโลก โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 750,000 คันภายในปี 2030 และนโยบายแลกรถเก่าเป็นส่วนลดการซื้อรถยนต์พลังงานทางเลือกซึ่งแท้งไปแล้ว ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าขึ้น
บริษัทรถยนต์ก็ตอบสนองต่อนโยบายที่ภาครัฐ
Volvo S90 Recharge
เนื่องจากความคาดหวังของภาครัฐที่ถูกกำหนดขึ้น แม้ว่าจะฟังดูเป็นไปได้ยาก แต่บางบริษัทก็มีเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน Volvo (วอลโว่) มีการตั้งเป้าหมายว่ารถยนต์ใน Line-up ทุกคันจะกลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วนภายในปี 2030 ในปัจจุบันนี้รถยนต์ Volvo ในประเทศไทย ทุกรุ่นก็กลายเป็นตัว Plug-in Hybrid Vehicle ตามการเปิดตัว Volvo XC40 Recharge (วอลโว่ เอ็กซ์ซีสี่สิบ รีชาร์จ) และการถอดรถรุ่นดีเซลออกไปทั้งหมด
2021 Tesla Model 3
และเราก็ต้องไม่ลืมว่า ความคาดหวังของผู้คนจำนวนมากก็อยู่ที่รถยนต์จากบริษัท Start-up อย่างเช่น Tesla ซึ่งในตอนนี้เป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า แต่ในประเทศไทยเองยังไม่มีการจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ถ้าหากอยากได้รถ Tesla ก็ต้องซื้อจากตัวแทนนำเข้ารายย่อย อย่างเช่น BRG ที่เพิ่งเปิดตัว Tesla Model 3 (เทสล่า โมเดล3) ไปในงาน Motor Expo 2020
ทว่าไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะกำลังไปได้สวย เช่น Nikola ที่มีข่าว CEO ประกาศลาออก ทำให้หุ้นราคาตกเป็นอย่างมาก ผู้คนจำนวนมากสงสัยว่าเทคโนโลยีที่พวกเขาเคลมเป็นสิ่งที่จริงหรือไม่? หรือเป็นเพียงการตอบสนองต่อกระแสสังคมแบบที่ไม่มีวัตถุมารองรับจริง?
2021 MP EP
สิ่งหนึ่งที่มีความแน่นอนสำหรับผู้ที่สนใจและอยากได้รถยนต์ไฟฟ้า คือ นับจากนี้ไป ราคาจำหน่ายจะลดลงไปแปรผกผันกับความแพร่หลายในตัวเลือกที่จะมากขึ้น ในประเทศไทย MG EP (เอ็มจี อีพี) เปิดตัวด้วยราคา 989,000 บาท ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และผมเชื่อว่าหลายแบรนด์ก็จะนำรถไฟฟ้าที่ราคาถูกลง คุณภาพดีขึ้น วิ่งได้ระยะทางไกลขึ้นมาเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองทั้งความต้องการของตลาด และความต้องการของภาครัฐ
2021 Lexus UX300e
และในเมื่อประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างญี่ปุ่นกำหนดเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านสู่รถไฟฟ้า แน่นอนว่าค่ายเจ้าตลาดในไทยก็ย่อมที่จะมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อนโยบาย แม้แต่ Lexus เองก็ได้ทำการเปิดตัวรถไฟฟ้า Lexus UX300e (เล็กซัส ยูเอ็กซ์300อี) ไปในประเทศไทย การกำหนดนโยบายจึงไม่ได้ส่งผลต่อแค่ตลาดในประเทศ แต่รวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ที่ใช้โปรดักส์เดียวกันอีกด้วย
สรุป
แม้ว่าผู้คนจำนวนมากจะยังคงคุ้นเคย และอยากให้รถยนต์เครื่องสันดาปอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ เราก็ทวนกระแสน้ำที่ไม่มีวันไหลกลับไม่ได้ สักวันหนึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะกลายมาเป็นมาตรฐาน และรถยนต์เครื่องสันดาปกลายเป็นของเล่น
ความพยายามเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างลอย ๆ ทั้งหมดล้วนแล้วเกิดจากความจำเป็นทั้งด้านสิ่งแวดล้อม น้ำมันบนโลกจะมีจำนวนน้อยลงไปเรื่อย ๆ แม้ว่าจำนวนอาจจะไม่ได้น้อยอย่างที่เมื่อสัก 50 ปีที่แล้วมีคนคาดการณ์ไว้ว่าน้ำมันจะหมดโลกภายในปีนั้นปีนี้ แต่เราก็ละเลยไม่ได้อยู่ดี และประเด็นที่สำคัญกว่าคือเรื่องของมลพิษ ในวันที่เราต้องสูดดมควัน PM2.5 รถยนต์ไฟฟ้าก็ดูจะเป็นทางออกของทุกปัญหา
นั่นจะจริงหรือไม่ เราก็ต้องรอดูกันต่อไป