การแพร่ระบาดของ Covid-19 และสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยส่งผลต่อตลาดรถยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ยอดขายลดลงฮวบฮาบและรถบางรุ่นเงียบหายไปจากท้องตลาดจนหลายคนอาจสงสัยว่าเลิกขายไปแล้วหรือยัง
นอกจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อยอดขาย ปัจจัยภายในของแต่ละบริษัทก็มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการวางแนวทางการทำตลาด การกำหนดราคา อายุของผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงบริการหลังการขาย ทั้งหมดส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคทั้งสิ้น
วันนี้ เรานำรถยนต์ 5 รุ่นที่ยังมีขายในประเทศไทยแต่เหมือนถูกลืมเลือนจางหายไปกับสายลมแห่งการเงินที่ฝืดเคืองมาฝากกัน
1. Nissan Terra
รถกระบะดัดแปลงอเนกประสงค์หรือพีพีวี Nissan Terra (นิสสัน เทอร์ร่า) ออกจำหน่ายทั้งหมด 3 รุ่นย่อย เริ่มต้นที่รุ่น 2.3 V 2WD 7AT ราคา 1,316,000 บาท รุ่นกลาง 2.3 VL 2WD 7AT ราคา 1,349,000 บาทและรุ่นท็อป 2.3 VL 4WD 7AT ราคา 1,457,000 บาท ทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ 4 สูบ ขนาด 2.3 ลิตร พละกำลัง 190 แรงม้า ส่งกำลังด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติ 7 สปีด พร้อมโหมดแมนนวล
ยอดขายสะสมของ Terra รั้งอันดับบ๊วยในกลุ่มรถพีพีวีในประเทศไทย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ Nissan แก้ไม่ตก และแฟน ๆ อาจต้องรอการปรับโฉมบิ๊กไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2021 พร้อมความหวังว่าจะช่วยกู้สถานการณ์กลับมาได้
2. Toyota Vios
รถซีดานบีเซกเมนท์แบบดั้งเดิมที่โลดแล่นอยู่ในตลาดยาวนานที่สุดรุ่นหนึ่งในเมืองไทย Toyota Vios (โตโยต้า วิออส) จำหน่ายในประเทศไทย 3 รุ่น คือ Entry ราคา 609,000 บาท Mid ราคา 699,000 บาท และ High ราคา 789,000 บาท ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ขนาด 1.5 ลิตร พลัง 108 แรงม้า จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ CVT 7 สปีด
ยอดขายรถยนต์ Vios ลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากการเปิดตัว Toyota Yaris Ativ (โตโยต้า ยาริส เอทีฟ) ซีดานอีโคคาร์ที่มีราคาจำหน่ายย่อมเยากว่า อยู่ระหว่าง 539,000 – 674,000 บาท ถึงแม้เครื่องยนต์ของ Yaris Ativ จะมีเรี่ยวแรงน้อยกว่าโดยเป็นบล็อก 3 สูบ ขนาด 1.2 ลิตร 92 แรงม้า แต่ก็มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยเพียบพร้อมโดยเฉพาะรุ่นไมเนอร์เชนจ์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
3. Hyundai Kona และ IONIQ
เว็บไซต์ของ Hyundai ระบุว่ารถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยเวลานี้มีทั้งหมด 4 รุ่น ได้แก่ H-1 (เอช-1), Grand Starex (แกรนด์ สตาร์เร็กซ์), Kona (โคน่า) และ IONIQ (ไอโอนิค) แต่ดูเหมือนว่าค่ายรถยักษ์ใหญ่จากเกาหลีจะมุ่งเน้นอัดโปรโมชั่นเฉพาะรถอเนกประสงค์ 2 รุ่นแรกเท่านั้น ด้วยความที่รถพลังงานไฟฟ้า 2 รุ่นหลังทำยอดขายรวมกันนับได้ไม่เกินสิบนิ้วมือในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
สาเหตุหลักคาดเดาได้ไม่ยาก คู่หูรถพลังงานไฟฟ้า Kona และ IONIQ มีราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 1.849 ล้านบาทและ 1.749 ล้านบาทตามลำดับ สูงลิบลิ่วเมื่อเทียบกับขนาดของตัวรถ ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า 100% คือจุดขายสำคัญแต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานในประเทศไทย
แม้แต่รถอีวีที่ทำราคาได้น่าสนใจอย่าง MG ZS EV เคาะที่ 1,190,000 บาทก็ยังทำยอดขายได้ไม่กี่ร้อยคันเท่านั้น
4. Honda Brio Amaze
ถึงแม้จะมีกระแสข่าวว่าเลิกผลิตและจำหน่ายไปแล้ว แต่ในเว็บไซต์ทางการของ Honda ยังมีการจำหน่าย Honda Brio Amaze (ฮอนด้า บริโอ อเมซ) ทั้งหมด 2 รุ่นย่อยคือ V CVT ราคา 517,000 บาท และ Black Sport ราคา 579,000 บาท โดยรุ่นหลังนี้มาพร้อมคำนิยามว่าเป็นอีโคคาร์พรีเมียม เพิ่มความสปอร์ตโฉบเฉี่ยวในทุกเส้นสาย
Brio Amaze วางเครื่องยนต์ 4 สูบ 16 วาล์ว i-VTEC ขนาด 1.2 ลิตร พละกำลัง 90 แรงม้า ด้วยความที่เป็นรถซีดานขนาดกะทัดรัด มิติตัวถังยาวเพียง 4,085 มม. รูปทรงไม่ค่อยเข้าตา และมีสมรรถนะการขับขี่เป็นรองคู่แข่งระดับเดียวกัน ทำให้ถูกเมินเฉยจากลูกค้าจนรั้งอันดับท้าย ๆ ด้านยอดขายในกลุ่มนี้
5. Mazda CX-3
ตัวเลขยอดขายหดหายต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วจนมีกระแสข่าวว่าจะถูกยกเลิกการทำตลาด Mazda CX-3 (มาสด้า ซีเอ็กซ์-3) กลับมาเกิดใหม่อีกครั้งหลังถูกปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยยกเลิกจำหน่ายรุ่นดีเซลและมีการปรับลดราคาจำหน่ายลงเพื่อไม่ให้ทับตำแหน่งการตลาดกับ CX-30
ยอดขาย CX-3 กระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อยในเดือนมิถุนายนและสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่าลูกค้าส่วนใหญ่กว่า 60% เลือกรุ่นเริ่มต้นและรุ่นสูงขึ้นมาที่มีราคาไม่เกิน 9 แสนบาท ส่วนลูกค้าที่มีงบประมาณสูงกว่านี้ก็จะขยับไปคบหากับ CX-30 แทน ซึ่งเปรียบเสมือนชายหนุ่มรูปงามและมีคุณสมบัติครบครันมากกว่า นั่นทำให้รถเอสยูวี-บีอย่าง CX-3 กลายเป็นน้ำพริกถ้วยเก่าเข้าข่ายรถที่ถูกลืมเลือนจากผู้บริโภคเช่นกัน