แม้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นหนึ่งในทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ทำให้มองว่าภูมิภาคอาเซียนที่เป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ค่อนข้างสูงในตลาดโลกนั้น น่าจะเติบโตอย่างว่องไวไปในทิศทางเดียวกัน
การจัดงานมอเตอร์โชว์ที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงการจัดงานแสดงรถยนต์ในประเทศไทยก่อนหน้านี้ ค่ายรถยนต์หลายค่ายก็นำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่มาจัดแสดงกันทั้งสิ้น แต่มีเพียงไม่กี่ค่ายเท่านั้น ที่เดินหน้าทำตลาดอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ ยังมีข่าวเรื่องของการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งจากประเทศไทยและอินโดนีเซีย ที่ต่างก็แย่งกันออกมาตรการเพื่อเป็นผู้นำด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ขณะที่มาเลเซียนั้น ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องนี้
AutoFun Thailand ขอพาไปเยี่ยมชมสถานการณ์ในปัจจุบัน และความพร้อมของแต่ละประเทศ เน้นไปที่ยักษ์ใหญ่ของวงการยานยนต์ของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย ที่มียอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในกลุ่ม
แล้วก็จะพบเห็นตรงกันว่า แม้ว่าความต้องการของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตมากเพียงใด หากไม่มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานมาก่อนแล้ว โอกาสที่รถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วก็ถือว่าแทบจะไม่มีเช่นกัน
อินโดนีเซีย กับรถยนต์ไฟฟ้าที่หลากหลาย
ในงานแสดงรถยนต์ครั้งล่าสุดของพวกเขา MG ZS EV (เอ็มจี แซดเอส อีวี) รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมด้วยรถไฟฟ้าสุดล้ำอย่าง Renault Zoe Electric (เรโนลต์ โซ อีเลคทริค) ถูกนำมาจัดแสดงในงาน โดยไม่ได้เปิดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เพื่อสำรวจตลาดในประเทศ
ถ้าไม่นับรถที่เอามาจัดแสดงแล้ว รถรุ่นอื่น ๆ ที่จำหน่ายอยู่ในประเทศก็จะประกอบไปด้วย Hyundai Ioniq (ฮุนได ไอออนิค) Hyundai Kona (ฮุนได โคน่า) Tesla (เทสล่า) Renault Twizy (เรโนลต์ ทวิซี่) และ BMW i3s (บีเอ็มดับเบิลยู ไอ3เอส) ที่มียอดจำหน่ายไม่มาก
สอบถามความเห็นจากเพื่อนของเราอย่าง AufoFun Indonesia พวกเขาระบุว่าความต้องการของตลาดยังไม่มากนัก และแน่นอนว่าความต้องการในการใช้งานหลัก ๆ ยังมาจากเมืองใหญ่อย่างจาการ์ต้า ขณะที่เมืองเล็ก ๆ อื่น ๆ นั้น ยังไม่มีความต้องการมากนัก
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีขนาดของตลาดที่ไม่ได้ใหญ่โตมาก แต่แบรนด์รถไฟฟ้าชื่อดังอย่างเทสล่าก็มีการเข้าไปทำตลาดอย่างเป็นทางการ และอินโดนีเซียเองก็ยังมีความพร้อมในเรื่องของการเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้ในอนาคต
ปัญหาของพวกเขาก็คงเป็นเรื่องของสภาวะของท้องที่ที่อาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้า รูปแบบของการกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ที่ไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการผลักดันการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบเท่าที่ควรจะเป็นนั่นเอง
มาเลเซีย ที่ยังปกป้องรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่
ขณะที่ประเทศที่ดูแล้วน่าจะเดินหน้ายานยนต์ไฟฟ้าได้ดีด้วยขนาดของประเทศ การกระจายตัวของหัวเมืองใหญ่ และรูปแบบการใช้งานของประชากรในประเทศ กลับมีการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มากนัก อันเป็นผลมาจากนโยบายภาครัฐเป็นหลัก
ในมาเลเซียนั้น มีรถยนต์ไฟฟ้าที่ทำตลาดอยู่ไม่มากนัก โดยที่ยังทำตลาดจนถึงปัจจุบันประกอบไปด้วย MINI Cooper SE (มินิ คูเปอร์ เอสอี) และ Nissan Leaf (นิสสัน ลีฟ) เท่านั้น ขณะที่ บีเอ็มดับเบิลยู ไอ3เอส และ เรโนลต์ โซ ได้ยุติการทำตลาดไปเป็นที่เรียบร้อย
แน่นอนว่าความไม่เป็นที่นิยมของยานยนต์ไฟฟ้าในมาเลเซียนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของพวกเขานั้นมีราคาจำหน่ายค่อนข้างถูก จากการอุดหนุนบางส่วนของภาครัฐ เพื่อให้สอดรับกับการใช้งานของประชนในประเทศ
นอกจากนี้ จากการสอบถามจากเพื่อนของเราจาก Wapcar.my พวกเขามองว่าปัญอีกอย่างของรถยนต์ไฟฟ้าในมาเลเซียก็คือราคาจำหน่ายที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากมาตรการป้องกันรถยนต์แห่งชาติอย่าง Proton (โปรตอน) และ Perodua (เปอโรดัว)
ทำให้มองดูแล้ว มาเลเซียอาจจะเป็นประเทศที่มีความพร้อมน้อยที่สุดในการพลิกไปสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยอาจจะต้องรอจนถึงวันที่รถยนต์แห่งชาติของพวกเขามีความสามารถในการแข่งขันมากกว่านี้ก่อน เพื่อผลักดันตลาดในภาพรวมอีกครั้ง
ประเทศไทยล่ะ พร้อมขนาดไหนกันนะ
ถ้าดูจากลิสต์รายชื่อรถยนต์ที่ทำตลาดกันอยู่ในปัจจุบัน เทียบกับอีก 2 ประเทศที่เหลือ เราอาจจะคิดว่าประเทศไทยนั้นมีความพร้อมมากที่สุด เพราะนอกจากรถยนต์ไฟฟ้าที่ทำตลาดกันกว่า 10 รุ่นแล้ว รัฐบาลเองยังดูมีความตั้งใจที่จะเดินหน้าขยายสถานีชาร์จไฟกันใหญ่
อย่างไรก็ตาม หากไปดูตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าโดยรวมก็จะพบว่า สัดส่วนการขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเองก็ไม่ได้สูงมาก มีหลายแบรนด์ที่ไม่สามารถสร้างยอดขายได้เลยด้วยซ้ำในรอบปีที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นตลาดที่เปิดตัวเอาไว้งั้น ๆ ก็คงไม่ผิด
ทั้งที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเองมีข้อได้เปรียบในเรื่องการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่ก็ไม่สามารถทำราคาจำหน่ายให้ดึงดูดกว่าที่ควรจะเป็นได้ ขณะที่รถที่นำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ก็ถือว่าราคาแพงไปจนเกินกว่าที่จะเอื้อมถึง
รถยนต์ไฟฟ้าที่ดูคึกคักและเติบโตจริง ๆ กลับอยู่ในกลุ่มตลาดระดับบน ที่มีข่าวของ Porsche Taycan (ปอร์เช่ ไทคันน์) Volvo XC40 Recharge (วอลโว่ เอ็กซ์ซี40 รีชาร์จ) หรือกลุ่ม Audi e-tron (อาวดี้ อี-ตรอน) เข้ายึดพื้นที่ของตลาดรถยนต์ระดับหลักล้านไปเสียหมด
ขณะที่ด้านระบบสาธารณูปโภคด้านการรองรับความเตรียมพร้อมการใช้งานก็ไม่ได้มีอย่างเพียงพอ แม้หน่วยงานภาครัฐจะเริ่มขยับตัวกันมากขึ้น แต่จะเป็นตัวเร่งให้เกิดความต้องการตามแผนงานที่มีการปรับเร่งขึ้นมา บอกเลยว่ายังถือว่ายากอยู่เหมือนกันในขณะนี้
ตอนจบที่อาจจะไม่ใช่แค่ 3 ตลาดใหญ่
ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนจะต้องจบลงที่ 1 ใน 3 ประเทศนี้ เอาจริง ๆ ก็ไม่สาสามารถสรุปในรูปแบบนั้นได้สักเท่าไร เพราะหากมองไปที่ประเทศอื่น ๆ ก็ถือว่ามีการขยายตัวที่ไม่ธรรมดาเหมือนกัน และมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดี
ยกตัวอย่างเช่น เวียดนาม ที่นอกจากจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มผู้ประกอบการทั่วโลก เริ่มเห็นการขยับขยายฐานการผลิตรถยนต์หลากหลายรูปแบบไปมากขึ้น และเริ่มมีการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านการประกอบขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ อย่าลืมว่า Vinfast (วินฟาสต์) ที่เป็นรถยนต์สัญชาติเวียดนามนั้น ก็มีการออกแบบรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว ซึ่งเรียกว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการเปิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และแรงดูดสำหรับรถยนต์ยี่ห้ออื่น ๆ จากตลาดใหม่อย่างเวียดนามได้เลยทีเดียว
แน่นอนว่าไฮไลท์การแข่งขันสำหรับการแย่งชิงเพื่อเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้านั้น น่าจะอยู่ที่ประเทศไทยที่มีโครงการส่งเสริมการลงทุนมาก่อนหน้า แข่งขันกับอินโดนีเซียที่เร่งเครื่องด้วยมาตรการด้านภาษีต่าง ๆ มากมาย เพื่อแย่งผู้ผลิตที่ยังไม่ได้ตัดสินใจทั้งหมด
แต่หากไม่เดินหน้าเรื่องนโยบายรองรับการใช้งานสำหรับผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กัน ก็อาจจะต้องระวังการเบียดเข้ามาของประเทศอื่น ๆ ในอนาคต เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้านั้นมีความแตกต่าง และอาจจะไม่ได้ต้องการความชำนาญของผู้ผลิตรถยนต์ยุคเก่าอีกต่อไป...