ความโดดเด่นทางด้านการตั้งราคาจำหน่าของ New 2020 MG ZS (2020 เอ็มจี แซดเอส) นั้น ทำให้พวกเขาเกือบจะไร้คู่แข่งในตลาดเดียวกัน หากมองในรูปแบบของรถที่เป็นรถยนต์แบบเอสยูวี แต่สนนราคาระดับอีคาร์หรือรถยนต์นั่งกลุ่ม 7 ที่นั่งขนาดเล็กหลายคันก็ยังแพงกว่า
การเปิดตัวด้วยราคาท็อปเพียงแค่ 7.99 แสนบาท แน่นอนว่าแม้คนที่จะซื้อรถคันนี้ยังถามกันหลายครั้งว่ารถควรจะไปประกบจับคู่กับใครดี หากนับตามเซกเมนต์ที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงจะเป็นบรรดาครอสโอเวอร์ไซส์เล็ก ที่มีผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นหลายรายยึดหัวหาดอยู่นั่นเอง
มองไปในมุมของผู้ประกอบการญี่ปุ่นนั้น หลายคนบอกเลยว่าไม่อยากเปรียบเทียบด้วย เพราะราคาจำหน่ายรุ่นเริ่มต้นของแต่ละรายนั้น เกินไปกว่าราคารุ่นท็อปของรถลูกครึ่งอังกฤษ-จีนเสียด้วยซ้ำ แต่ถ้าหากต้องเลือกมาเปรียบกันจริง ๆ ก็คงต้องเลือกรถที่เปิดตัวมาใหม่ในช่วงเวลาใกล้เคียง
All-New 2020 Mazda CX-30 (2020 มาสด้า ซีเอ็กซ์-30) รถยนต์ครอสโอเวอร์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรถยนต์ที่มีขนาดกว้างขวาง การขับขี่อันทรงประสิทธิภาพ และการออกแบบห้องโดยสารภายที่สะดวกสบายและหรูหรา
แม้จะเปรียบกันได้ยากเอาเรื่อง เพราะรุ่นท็อปนั้นราคาห่างกัน 4 แสนบาท แต่หากมองในมุมของผู้บริโภคที่ไม่ได้มีเม็ดเงินสำหรับการจับจ่ายเรื่องรถยนต์เต็มที่ คำถามคือจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องจ่ายเพิ่มอีก 4 แสนบาท ทั้งที่รถที่ราคาถูกกว่าก็มีทุกอย่างเพียบพร้อมไม่แพ้กัน
การออกแบบภายนอกเน้นคนละตลาด
ถ้าจะให้พูดแบบรวม ๆ ก็ต้องบอกว่าการออกแบบของ มาสด้า ซีเอ็กซ์-30 เน้นไปที่ความสปอร์ต ด้วยรูปลักษณ์ที่โฉบเฉี่ยว บนแนวคิดการพัฒนารถยนต์ครอสโอเวอร์บนพื้นฐานที่ใช้ร่วมกับรถยนต์นั่ง ทำให้รถที่ดูสูงขึ้นและมีอรรถประโยชน์ในการใช้งานที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ เอ็มจี แซดเอส พัฒนามาด้วยแนวคิดการเป็นเอสยูวียกสูงที่แท้จริง ห้องโดยสารขนาดใหญ่ ห้องเก็บสัมภาระที่เพิ่มพื้นที่การใช้สอยได้หลากหลาย เลือกใช้ข้อดีของความสูงของตัวรถที่เหนือกว่ามาปรับใช้งานได้อย่างลงตัว
พื้นฐานของรถที่แตกต่างกันออกไป ลูกค้าก็คงต้องเลือกใช้งานกันให้เหมาะ หากเทียบมิติตัวถังกันแล้ว ซีเอ็กซ์-30 จะแคบกว่าแซดเอสอยู่ 14 มิลลิเมตร ยาวกว่า 73 มิลลิเมตร เตี้ยกว่ากัน 113 มิลลิเมตร และมีฐานล้อที่ยาวกว่ากันถึง 70 มิลลิเมตรเลยทีเดียว
มาสด้าเป็นผู้ชนะด้านรูปลักษณ์ภายนอก
แน่นอนว่ามาสด้านั้นขึ้นชื่อเรื่องการออกแบบรถยนต์ของพวกเขาให้มีความโฉบเฉี่ยวดุดันอยู่แล้ว และรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดของพวกเขาก็ยังมาในแนวทางของโคโดะ ดีไซน์ (KODO Design) และอัดเทคโนโลยีสกายแอคทีฟ (Skyactiv Technology) มาแบบเต็มคัน
ล้ออัลลอยภายนอกขนาด 18 นิ้ว กระจังหน้าและเสาบีเป็นสีดำมัน ไฟหน้าโปรเจคเตอร์เลนส์แบบแอลอีดี พร้อมระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ ไฟเดย์ไทม์และไฟท้ายแบบแอลอีดี มาพร้อมสปอยเลอร์หลังและปลายท่อโครเมียมคู่แบบสปอร์ต และฝาท้ายเปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า
ฟากเอ็มจีนั้น แม้จะไม่ได้ดูสปอร์ตเทียบเท่า แต่หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงหลักของการปรับโฉมปีนี้ ก็คือการออกแบบภายนอกให้มีความสวยงามมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนชุดกระจังหน้าและโคมไฟหน้า ที่ลดความเป็นเหลี่ยมสันลงไป ให้ความโค้งในลงตัวมากขึ้น
ล้ออัลลอยในรุ่นท็อปยังเป็นขนาด 17 นิ้ว มาพร้อมกระจังหน้าแบบสปอร์ต ไฟหน้าโปรเจคเตอร์เลนส์แบบแอลอีดี มาพร้อมระบบไฟส่องนำทางหลังดับเครื่องยนต์ ไฟตัดหมอกคู่หน้า-หลัง ไฟเบรกดวงที่ 3 แบบแอลอีดี ราวหลังคาและหลังคากระจกเปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า
ในฟากของความสปอร์ตโฉบเฉี่ยวนั้น แน่นอนว่ามาสด้า ซีเอ็กซ์-30 ทำได้ดีกว่า แต่หากมองในเรื่องของการใช้งานนั้น ต้องบอกว่าเอ็มจี แซดเอส ให้ของเล่นมาอย่างเพียบพร้อม จนกระทั่งทำให้หลายคนอาจจะต้องถามว่า มาสด้าจะต้องไมเนอร์เชนจ์อีกกี่ครั้ง จึงจะให้ของมาครบขนาดนี้
ห้องโดยสารภายในที่ดีกันไปคนละแบบ
การออกแบบรถยนต์ครอสโอเวอร์และเอสยูวีนั้นมีความแตกต่างกันในรายละเอียดของการใช้งานที่แตกต่างกันอยู่แล้ว และก็ต้องบอกว่าทั้งเอ็มจีและมาสด้านั้นก็ให้ความสำคัญต่อการใช้งานและความพึงพอใจในการโดยสารในรูปแบบของรถของตัวเองอย่างเต็มที่
แซดเอสนั้นมาพร้อมห้องโดยสารที่สูงใหญ่กว่า และพวกเขาก็เลือกใช้ความใหญ่โตของรถ ออกแบบรถที่สามารถเข้า-ออกจากห้องโดยสารได้ง่ายดายในทุกตำแหน่ง ตำแหน่งการเปิดประตูท้ายที่กว้าง ช่วยเหลือเรื่องการขนย้าย-สัมภาระ รวมถึงห้องโดยสารที่สามารถปรับใช้งานได้หลากหลาย
ห้องโดยสารตกแต่งด้วยโทนสีน้ำตาลและดำ มาพร้อมเบาะหุ้มหนังสีน้ำตาล-ดำ เบาะด้านหลังพับแยก 60:40 มาพร้อมระบบปรับอากาศดิจิตอล กรองฝุ่น PM2.5 ได้ การควบคุมระบบต่าง ๆ ทำได้ง่ายดายด้วยพวงมาลัยมัลติฟังชั่นส์ที่ใช้งานได้สะดวก
ซีเอ็กซ์-30 มาพร้อมห้องโดยสารโทนสีดำ คุมโทนความหรูหราด้วยวัสดุตกแต่งแบบโครเมียม ส่วนบนของแผงแดชบอร์ดหน้าหุ้มด้วยหนังสีน้ำตาล เพิ่มอุปกรณ์ใหม่ ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นระบบเปิดประตูหลังด้วยไฟฟ้า พื้นที่เก็บสัมภาระขนาดไม่เล็ก แต่ความเตี้ยของรถทำให้ต้องก้มตัวในการใส่ของมากหน่อย
ในห้องโดยสารอัดของเล่นกันมาแบบไม่ยั้งสมค่าตัว พวงมาลัยหุ้มหนัง พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย หัวเกียร์หุ้มด้วยหนัง ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ แยกอิสระซ้าย-ขวา ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง หน้าจอแสดงข้อมูลบนกระจกบังลมหน้า พร้อมใช้งานอย่างเต็มที่
เครื่องยนต์ต้องบอกว่าคนละชั้น
มาสด้าเลือกใช้เครื่องยนต์เบนซินสกายแอคทีฟ-จี ขนาด 1,998 ซีซี. ซึ่งเป็นเครื่องตัวเดียวกับที่ใช้ในมาสด้า 3 ให้กำลังสูงสุด 165 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที พร้อมแรงบิดสูงสุด 213 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า รองรับน้ำมันสูงสุดถึงแก๊สโซฮฮล์ อี85
ขณะที่เอ็มจีมาพร้อมเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1,498 ซีซี. ที่ให้กำลังสูงสุด 114 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที พร้อมแรงบิดสูงสุด 150 นิวตันเมตร ที่ 4,500 รอบต่อนาที เปลี่ยนมาใช้เกียร์ลูกใหม่ แบบอัตโนมัติซีวีที พร้อมโหมดแมนวล 8 สปีด ขับเคลื่อนล้อหน้า รองรับน้ำมันสูงสุดถึงแก๊สโซฮฮล์ อี85
อันนี้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมาสด้าที่ไม่มีทางเลือกเครื่องยนต์เบนซินที่ขนาดย่อมเยากว่านี้แล้วจะลากบอดี้รถคันนี้ได้ ก็ย่อมได้การตอบสนองที่ดีกว่าเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรของเอ็มจีอยู่แล้ว ลูกค้าที่ซื้อแซดเอสก็คงจะรับได้ถึงความอืดของตัวรถ เมื่อเทียบกับเงินที่จ่ายไปได้ล่ะ
ตารางเปรียบเทียบทางเทคนิค
|
|
MG ZS X+
|
Mazda CX-30 2.0SP
|
ราคาจำหน่าย
|
7.99 แสนบาท
|
1.199 ล้านบาท
|
กว้าง (มิลลิเมตร)
|
1,809
|
1,795
|
ยาว (มิลลิเมตร)
|
4,323
|
4,395
|
สูง (มิลลิเมตร)
|
1,653
|
1,540
|
ระยะฐานล้อ (มิลลิเมตร)
|
2,585
|
2,655
|
ระยะต่ำสุดถึงพื้น (มิลลิเมตร)
|
165
|
175
|
ที่เก็บสัมภาระด้านท้าย (ลิตร)
|
359
|
430
|
เครื่องยนต์
|
15S4C
|
Skyactiv-G
|
ปริมาตรกระบอกสูบ (ซีซี.)
|
1,498
|
1,998
|
กำลังสูงสุด (แรงม้า/รอบต่อนาที)
|
114/6,000
|
165/6,000
|
แรงบิดสูงสุด (นิวตันเมตร/รอบต่อนาที)
|
150/4,500
|
213/4,000
|
ระบบส่งกำลัง
|
อัตโนมัติซีวีที 8 สปีด
|
อัตโนมัติ 6 จังหวะ
|
ระบบขับเคลื่อน
|
ขับเคลื่อนล้อหน้า
|
ขับเคลื่อนล้อหน้า
|
ขนาดล้ออัลลอย (นิ้ว)
|
17
|
18
|
รองรับเชื้อเพลิงสูงสุด
|
แก๊สโซฮอล์ อี85
|
แก๊สโซฮอล์ อี85
|
ด้านของเล่นเอ็มจีมีดีไม่แพ้ใคร
สิ่งที่เป็นจุดขายมาโดยตลอดของเอ็มจี ก็คือระบบไอ-สมาร์ท ที่เรียกว่าเป็นผู้นำในตลาดกับการติดตั้งระบบดังกล่าวมาให้ ซึ่งเป็นการผสานงานของระบบสั่งงานด้วยเสียงภาษาไทย เข้ากับระบบอื่น ๆ ภายในตัวรถ รวมถึงการทำงานผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ต้องทำตามมา
มองไปที่เรื่องของความปลอดภัยก็ไม่ธรรมดา เพราะในรุ่นปรับปรุงนี้ มีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกล้องมองภาพรอบคัน 360 องศา เซนเซอร์กะระยะด้านหลัง ถุงลมนิรภัย 6 จุด และระบบช่วยเหลือด้านการขับขี่ที่ติดตั้งมาอย่างเพียบ ใช้งานได้อย่างเพียงพอ
มาสด้านั้นได้รับอานิสงค์ของห้องโดยสารแบบใหม่ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากไปอีกระดับ แต่ก็มีการตัดอุปกรณ์บางอย่างไป เช่น หน้าจอกลางขนาด 8.8 นิ้วนั้น ตัดระบบสัมผัสหน้าจอออกไป ขณะที่การเชื่อมต่ออื่น ๆ ระบบนำทางและเครื่องเสียงลำโพง 12 จุดของ BOSE ยังมีมาให้อยู่
ระบบด้านความปลอดภัยมาครบ ถุงลมนิรภัย 7 จุด ระบบกล้องรอบคัน 360 องศา เซนเซอร์กะระยะจอดรอบคัน พร้อมระบบช่วยเหลือด้านความปลอดภัยในการขับขี่ที่เหนือชั้น เรียกว่าเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับครอสโอเวอร์ยุคใหม่เลยทีเดียว เรียกว่าจ่ายแพงเพื่อได้ของที่ดีก็ไม่แปลก
ต้องขอชื่นชนทั้งเอ็มจีและมาสด้า ที่พยายามนำเสนอสินค้าที่มีความเหมาะสมกับตลาด มีการใส่อุปกรณ์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเข้าไปมากมาย และหากนับจริง ๆ ในอนาคตรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่จะผลิตออกมา ก็จะต้องแข่งกันเรื่องระบบและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างแน่นอน
เลือกซื้อตามราคาและความต้องการ
ในรุ่นท๊อปของ All-New Mazda CX-30 และ New 2020 MG ZS นั้น ราคาห่างกันถึง 4 แสนบาท แฟน ๆ มาสด้าอาจจะบอกว่าก็แหงสิ รถมันดีกว่าตั้งเยอะ สวยกว่า ระบบก็ดีกว่า ขณะที่คนที่ต้องการรถ 5 ที่นั่งยกสูงเอาไว้ลุยได้นิดหน่อย อาจจะถามว่าแล้วเราต้องจ่ายแพงขนาดนั้นเลยหรอ
4 แสนคืออีกครึ่งนึงของราคาแซดเอส ซึ่งหากคุณไม่ได้สนใจเทคโนโลยอะไรมากมาย แต่เน้นการใช้งานในชีวิตประจำวัน เงินจำนวนนี้เอาไปเติมน้ำมันและเข้าศูนย์บริการได้อีกเป็นปี แถมคุณได้รถที่มีของเล่นมากพอที่ต้องใช้เวลาพักใหญ่ ๆ กว่าจะเล่นมันหมดทั้งคัน
แต่หากเงินไม่ใช่ประเด็น คุณก็แค่อยากได้รถที่ขับสนุกสนาน ตัวรถสปอร์ตดูสะท้อนภาพลักษณ์อันโดดเด่นของเจ้าของ มาพร้อมระบบและอุปกรณ์ รวมถึงเครื่องยนต์สมรรถนะสูงที่ยืนยันได้แน่นอนว่าให้ความสนุกสนานในการขับขี่ ซีเอ็กซ์-30 ก็คือคำตอบที่ดีที่สุดในเซกเมนต์ในปัจจุบัน
ทุกอย่างอยู่ที่กำลังซื้อและความต้องการใช้งานของคุณเลย อย่าลืมว่าในเซกเมนต์นี้ยังมีโตโยต้า ซี-เอชอาร์ (Toyota C-HR) หรือฮอนด้า เอชอาร์-วี (Honda HR-V) ให้พิจารณาร่วมได้อีก แต่ถ้าอยากไปให้สุดทางใดทางหนึ่ง ก็ต้องเลือกจากลิสต์ที่เอามาเปรียบเทียบนี่ล่ะนะ