กลายเป็นหนังยาวไปอีกโครงการหนึ่งสำหรับการประกาศนโยบายส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีของรัฐบาล ที่มีกระแสข่าวตีปี๊ปกันมาตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ ว่ารัฐบาลจะเดินหน้าส่งเสริมให้ผู้ใช้รถยนต์นั้นเลือกใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างคึกคัก
ทั้งมาตรการด้านการลดภาษีนำเข้าก็ดี การลดภาษีสรรพสามิตก็มี เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกันในช่วงที่ค่ายรถทุกรายยังไม่พร้อมจะเดินหน้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย แม้จะมีผู้ยื่นขอลงทุนกับบีโอไอเอาไว้หลายราย
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวนั้นดูเหมือนจะยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด มาจนถึงปลายเดือนมกราคม 2565 ดูเหมือนว่าหลาย ๆ คนที่รอซื้อรถไฟฟ้าภายใต้โครงการสนับสนุนนี้ก็ยังไม่ได้ดั่งใจหวัง เกิดอะไรขึ้นกับโครงการนี้ที่ดูเหมือนจะจบไม่ง่าย
AutoFun Thailand พาไปดูรายละเอียดและวิเคราะห์กันอีกครั้ง...
เปฺ็นโครงการที่มีหน่วยงานเกี่ยวข้องด้วยจำนวนมาก
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้โครงการนี้มีความล่าช้าและคืบหน้าไปได้อย่างยากลำบาก เป็นเพราะการประกาศสนับสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในครั้งนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เพราะมีการขอลดทั้งภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต รวมถึงเกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ที่มีการขอสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ทำให้ต้องมีการพิจารณาจากหน่วยงานเหล่านี้ก่อนที่จะประกาศอีกครั้ง
ปรับภาษีนำเข้าลดความเหลื่อมล้ำ
การประกาศปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเพื่อให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้นระหว่างผู้ประกอบการจากหลายประเทศ จากในปัจจุบันที่นำเข้าจากประเทศจีนจะเสีย 0% หากนำเข้าจากญี่ปุ่นจะเสียภาษี 20% จากยุโรปเสีย 80% และจากเกาหลีใต้เสียที่ 40% เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การยกเลิกภาษีนำเข้าจะเกิดกับค่ายรถที่มีเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในอนาคตเท่านั้น นั่นก็หมายความว่าผู้นำเข้าอิสระและค่ายรถที่ไม่มีโรงงานในประเทศไทยจะไม่ได้รับการยกเว้น
ลดภาษีสรรสามิตให้อีก 6% พร้อมเงินสนับสนุน
นอกจากนี้ ยังมีการแยกแพคเกจย่อยลงไปอีก โดยหากเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท นอกจากจะได้รับการลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% แล้ว ยังจะได้ลดภาษีสรรพสามิตรเหลือ 2% พร้อมได้เงินอุดหนุนอีก 1.5 แสนบาทในกรณีซื้อรถไฟฟ้าเป็นรถยนต์คันแรก ขณะที่รถไฟฟ้าที่ราคาเกิน 2 ล้านบาท จะได้ภาษีนำเข้าที่ 40% ได้ภาษีสรรพสามิตที่ 2% แต่ไม่ได้เงินอุดหนุน เนื่องจากมองว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีกำลังซื้อที่สูงกว่า
จะกระทบกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยหรือไม่
แน่นอนว่าภาครัฐนั้นแม้จะมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย แต่ก็มองว่าการนำเข้ามาทำตลาดอาจจะไม่ใช่คำตอบในระยะยาว ค่ายรถทุกค่ายที่มีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าภายใต้เงื่อนไขนี้ จะต้องทำการผลิตรถยนต์ในประเทศในสัดส่วน 1.5 คันต่อการนำเข้า 1 คันภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งหากทำผิดเงื่อนไขก็จะถูกเรียกคืนภาษีในอนาคต ใครที่คิดจะใช้มาตรการนี้ก็คงต้องพิจารณาความพร้อในการเปิดสายการผลิตในประเทศไทยให้ดีด้วย
ปัญหาจริง ๆ อยู่ที่การหางบประมาณสำหรับโครงการนี้
มีการประเมินว่าโครงการสนับสนุนอีวีด้วยการลดภาษีและให้เงินอุดหนุนการใช้งานของรัฐบาลในครั้งนี้ อาจจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถือว่าสูงมากในภาวะที่ประเทศกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากปัญหารอบด้าน ทำให้ไม่สามารถหางบประมาณมาได้อย่างคล่องมือ นอกจากนี้ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเป็นโครงการที่เอื้อผู้ประกอบการหรือลูกค้าบางกลุ่มมากกว่าการสนับสนุนอุตสาหกรรมในภาพรวม
โครงการดี แต่ไม่จำเป็นต้องเร่งเครื่องขนาดนั้น
โดยส่วนตัวของผมแล้วมองว่าการเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับการแข่งขันและการพัฒนาขึ้นเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และประเทศไทยเองก็คงต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการให้มากขึ้น ในสถานการณ์ที่คู่แข่งรอบด้านพร้อมท้าชิงในด้านนี้
หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าการให้ผู้ผลิตรถยนต์ที่มีฐานการผลิตในประเทศจีนได้ภาษีนำเข้า 0% เป็นการอิงให้กับผู้ผลิตบางราย อันนั้นก็อาจจะมองได้ แต่ก็เป็นการเจรจาที่ต่างวาระต่างเงื่อนไขกัน หากรัฐบาลจะแก้ไขให้เท่าเทียมก็เป็นเรื่องด่ แต่ก็อาจจะต้องตอบคำถามว่างบประมาณที่จะต้องใช้ทั้งหมดนั้น ควรเอาไปแก้ปัญหาเรื่องอื่นที่เร่งด่วนกว่าหรือไม่
มองในมุมของผู้บริโภคก็คงจะเป็นเรื่องดีที่ทำให้ตลาดรถยนต์กลับมาคึกคักกันได้ช่วงสั้น ๆ หลังจากไม่มีการเคลื่อนไหวระดับนโยบายมานานแสนนาน และเท่าที่เช็คดู ค่ายรถหลายรายต่างก็ประเมินความเป็นไปได้และความพร้อมเกี่ยวกับโครงการนี้มากพอสมควร เรียกว่าเปิดโครงการเมื่อไร น่าจะมีคนพร้อมเดินหน้าทันทีหลายรายอยู่
มารอลุ้นกันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าได้ก่อนจบไตรมาสแรกตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ไหมละกัน...