EGAT หรือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่พวกเรารู้จักกันดีในชื่อ กฟผ. นั้น นอกเหนือไปจากหน้าที่หลักในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้กับครัวเรือนทั่วประเทศแล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาแอบซุ่มเงียบทำการพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้าให้กับรถยนต์มาอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่าผู้ใช้รถหลายคนอาจจะไม่รู้ เพราะกฟผ.เองนั้นทำแบบเงียบจริง ๆ เมื่อเทียบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าอื่น ๆ แต่ผู้ใช้งานหลายคนก็จะรู้ดีว่า สามารถนำรถไฟฟ้าของพวกเขาไปชาร์จไฟได้ฟรี ตามสถานีบริการต่าง ๆ ของ EGAT ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
จะเรียกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเตรียมความพร้อมก็ได้ เพราะอีแกตนั้นลองการให้บริการที่หลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องของการส่งกำลังชาร์จที่แตกต่างกันออกไป การบริหารจัดการด้านอื่น ๆ รวมไปถึงการจัดหาและการให้บริการที่เข้าถึงประชาชนผ่านบริการใหม่ ๆ
เมื่อพวกเขาพร้อมเดินหน้ากันอย่างต่อเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้เปิดโครงการที่มีชื่อเรียกว่า EGAT EV Business Solutions โดยได้จับมือกับพันธมิตรค่ายรถยนต์ 6 แห่ง ประกอบไปด้วย Audi, BMW, Mercedes-Benz, MG, Nissan และ Porsche เซ็นสัญญาความร่วมมือในโครงการดังกล่าว
แม้ค่ายรถยนต์อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเดินหน้าขยายโครงข่ายของกฟผ.ในครั้งนี้สักเท่าไร นอกเหนือจากการให้ลูกค้าที่ใช้รถของพวกเขาเอารถมาชาร์จไฟที่สถานีได้ แต่ AutoFun Thailand มองว่าจริง ๆ แล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น และ EGAT เองกำลังเดินหน้าโครงการที่น่าสนใจ
และอาจจะตอบคำถามในใจคนใช้รถไฟฟ้าว่าควรใช้หรือไม่ได้เช่นกัน...
การเติบโตของรถไฟฟ้า เพื่อช่วยลดมลภาวะทางอากาศ
กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาพรวมของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและผลกระทบด้านมลภาวะ โดยระบุว่า 72.5% ของปัญหาฝุ่นมลภาวะ PM2.5 นั้น เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล
หากมองว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าคือทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะพบว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดขาย 2.3 ล้านคันในปี 2563 แต่ก็ยังคิดเป็นสัดส่วนแค่ 3.2% ในตลาดโลกเท่านั้น แต่สัดส่วนเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในปี 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า จะเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน 72.3% เป็นเครื่องยนต์ฟิวเซลล์ 0.1% เครื่องยนต์ปลั๊กอินไฮบริด 7.6% รถยนต์ไฟฟ้า 20% และรถยนต์ไฟฟ้าจะขึ้นมานำเครื่องยนต์สันดาปภายในในปี 2583
การเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
ปัจจัยที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตนั้น เกิดจากเหตุผลต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนที่ถูกลง นโยบายที่่เข้มงวดของภาครัฐเรื่องการปล่อยไอเสีย ซึ่งทำให้ทุกประเทศต้องปรับตัวมารองรับเป้าหมายนี้
สำหรับประเทศไทยนั้น ภาครัฐก็มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้มีการเติบโตสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานรถอีวีเป็น 7.5 แสนคนในปี 2573 และไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านคนในปี 2583 รวมไปถึงการผลักดันพลังงานไฟฟ้าตามแผนงานด้านพลังงานชาติ
นอกเหนือไปจากเรื่องของพลังงานรูปแบบต่าง ๆ ที่จะต้องเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งกันอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลยังมองไปที่เรื่องของการเดินหน้าลงทุนเพื่อเสริมโครงสร้างด้านพลังงานที่แข็งแกร่ง และอีแกตจะเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เดินหน้าเรื่องสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
การก้าวไปอีกขั้นของ EGAT กับสถานีชาร์จ
บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่า กฟผ. บอกว่านอกเหนือจากการจัดหาพลังงานไฟฟ้าแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา กฟผ. ได้เดินหน้าโครงการยานพาหนะที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบเรือไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสถานีชาร์จไฟฟ้าอีกหลายแห่งที่ให้บริการอยู่
และด้วยประสบการณ์และความเข้าใจถึงปัญหาและภาพรวมที่เกิดขึ้น กฟผ.มองว่าหากต้องการพัฒนาการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ก็จำเป็นที่จะต้องสร้าง EV Ecosystem ซึ่งเป็นการสร้างโครงข่ายที่สามารถเชื่อมโยงผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จและผู้ให้บริการได้อย่างง่ายดายครบวงจร
EGAT จึงได้เปิดตัวการให้บริการของระบบการชาร์จไฟแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นการสร้างโครงข่ายการให้บริการที่ครบวงจรสำหรับผู้ใช้งานรถยนต์ ทั้งการชาร์จไฟที่บ้าน การจัดสร้างสถานีชาร์จไฟ รวมไปถึงการให้บริการสนับสนุนและแอพพลิเคชั่นแบบครบวงจร ในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
4 บริการเพื่อการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจร
ด้วยการให้บริการอย่างครบวงจรของ EGAT ถูกแยกย่อยออกมาเป็น 4 บริการย่อยที่สำคัญ เริ่มด้วยสถานีชาร์จรถไฟฟ้า EleX by EGAT ที่อยู่ระหว่างการจับมือกับพันธมิตรในการขยาย ทั้งบนเส้นทางหลวงขนาดใหญ่ เขตชุมชนต่าง ๆ และการรองรับกลุ่มลูกค้าแบบฟลีตขนาดใหญ่
ในปัจจุบันอีแกตให้บริการสถานีชาร์จไฟอยู่ทั้งหมด 13 แห่งทั่วประเทศไทย และเตรียมที่ขยายเพิ่มอีก 48 แห่งทั่วประเทศในปีนี้ ซึ่งนอกเหนือจากการขยายโครงข่ายแล้ว พวกเขาวางแผนที่จะสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จไฟให้สามารถครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีบริการและผู้ใช้งานนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะเรื่องของเช็คสถานะหรือการจองเพื่อใช้บริการ eleXa จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเหมือนเป็นผู้ช่วยที่ช่วยเหลือให้ผู้ใช้บริการใช้งานได้อย่างง่ายดาย ตั้งแต่ค้นหาสถานีชาร์จไปยันจ่ายเงินค่าบริการ
อีแกตยังมองว่า ผู้ใช้งานที่ต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจริง ๆ ก็อาจจะมีความต้องการที่จะชาร์จไฟที่ที่พักอาศัยหรือฟลีตขนาดใหญ่ พวกเขาจึงได้เซ็นสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายวอลล์บอกซ์สำหรับใช้งานที่บ้าน รวมถึง DC Quick Charger สำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์มาจำหน่ายเช่นกัน
สุดท้ายก็คือเรื่องของการให้บริการงานหลังบ้านทั้่งหมด แม้จะเป็นเซอร์วิสที่ดูเหมือนไม่ยุ่งยาก แต่บริการ BackEN จะเข้ามาช่วยเหลือและบริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดหาและการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับสถานีชาร์จทั้งหมด ที่มีการติดตั้งไปโดยกฟผ. เพื่อการใช้งานอย่างราบรื่น
แล้วค่ายรถแต่ละแห่งว่าอะไรกันบ้าง
ในงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ค่ายรถทั้ง 6 แห่งได้ขึ้นมาแสดงวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ๆ อะไรนัก โดยทุกค่ายต่างก็ยืนยันว่า การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จะต้องประกอบไปด้วยปัจจัยด้านตัวรถและสถานีชาร์จในระดับที่เท่าเทียมกัน
นั่นคงเป็นสาเหตุที่ค่ายรถแต่ละรายยืนยันว่าทั้งในตลาดโลกและตลาดประเทศไทย พวกเขามีแผนที่จะเดินหน้าทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งรูปแบบของปลั๊กอินไฮบริดในปัจจุบัน รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ ในอนาคต เมื่อมีความพร้อมของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น
รวมไปถึง การเร่งมือในการเพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้าของแต่ละแบรนด์ ที่มีแผนงานที่ค่อนข้างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากดูจากตัวเลขแล้ว ในปีนี้ เราน่าจะมีสถานีชาร์จไฟฟ้าจากค่ายรถอีกเกือบ 1,000 แห่ง แต่จะเปิดให้ใช้บริการอย่างกว้างขวางกันขนาดไหนเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกัน
จะเห็นได้ว่า เรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ในอดีตเคยเป็นเรื่องของไก่กับไข่ ว่าอะไรควรจะมาก่อน เริ่มมีทางออกในระดับประเทศ เมื่อทุกคนต่างมองเห็นไปในทิศทางเดียวกันแล้วว่า ไม่จำเป็นจะต้องมีไก่หรือไข่อีกต่อไป ขอแค่ทุกคนพร้อมก็สามารถเดินหน้าได้ทันที
งานนี้ต้องขอติดตามกันต่อไปว่า เมื่อหน่วยงานภาครัฐออกมาเดินหน้า และจับมือกับค่ายรถเป็นพันธมิตรกันอย่างเหนียวแน่นแล้ว อนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าจะเดินหน้าไปในทิศทางใด และจะผลักดันประเทศไทยไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางเอาไว้ได้หรือไม่ในอนาคต