- ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร แก้ปัญหาอย่างไรแล้วบ้าง
- พนักงานในโรงงานที่เป็นฐานการผลิต มีปฏิกิริยาอย่างไร
- จะยังร่วมมือกับ Daihatsu อยู่ไหม
- ส่งมอบได้เมื่อไหร่
- จะผลกระทบต่อแผนการต่าง ๆ ในอนาคตหรือไม่
อากิโอะ โตโยดะ ประธานคณะกรรมการบริหาร โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น นำทีมชี้แจงในกรณีปัญหาความไม่เหมาะสมในการเตรียมการทดสอบการชนด้านข้างของ Toyota Yaris Ativ (โตโยต้า ยาริส เอทีฟ)
ทีมผู้บริหารท่านอื่นในทีมชี้แจง ได้แก่ โนริอากิ ยามาชิตะ ประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, มาซาฮิโกะ มาเอดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภาคพื้นเอเชีย และคุณสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
ภายในงาน โตโยดะได้กล่าวเริ่มชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในภาพรวม โดยเขาได้เดินทางไปยังโรงงานของโตโยต้าในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อพูดคุยกับพนักงานถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว พร้อมเน้นย้ำว่า Yaris Ativ เป็นรถที่มีความปลอดภัยและคุณภาพตามมาตรฐาน และใช้งานใช้ต่อได้อย่างไร้กังวล
หลังจากนั้น มาซาฮิโกะ มาเอดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภาคพื้นเอเชีย จึงเป็นผู้อธิบายรายละเอียดที่เกิดขึ้น และสุดท้ายจะเป็นในส่วนของการตอบคำถามกับสื่อมวลชน
เราจึงรวบรวมประเด็นคำถามจากสื่อมวลชนในแถลงการณ์ครั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่คุณผู้อ่านทุกท่าน ไม่มากก็น้อย
ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร แก้ปัญหาอย่างไรแล้วบ้าง
มาเอดะ กล่าวถึงมาตรฐานความปลอดภัยของโตโยต้า ว่าต้องมีแนวทางการปฏิบัติก่อนส่งถึงมือลูกค้า ต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานในไทยก่อนจึงจะสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้
ปัญหาครั้งนี้เกิดจากการเตรียมการที่ไม่เหมาะสมสำหรับการทดสอบการชนให้ได้มาตรฐานการรับรอง UNR95 โดยการทำรอยบากที่บริเวณแผงประตูด้านคนขับ ซึ่งไม่มีการทำเช่นนี้ในรถที่จำหน่ายจริง
การทดสอบนี้คือการทดสอบการชนด้านข้างที่ความเร็ว 50 กม./ชม. และวัสดุต่าง ๆ ภายในรถจะต้องไม่แตกเป็นขอบคมสัมผัสกับร่างกาย
เมื่อพบปัญหาเรื่องรอยบากดังกล่าว บริษัทจึงได้นำรถรุ่นที่จำหน่ายจริงมาทดสอบการชนอีกครั้ง ทั้งการทดสอบภายในและทดสอบต่อองค์กรอิสระ พบว่ายังเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย สามารถใช้งานรถต่อไปได้อย่างไร้กังวล
ในตอนนี้ จึงเป็นขั้นตอนของการยื่นเอกสารให้กับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เพื่อให้ทำการตรวจสอบ และคาดว่าจะสามารถส่งมอบรถให้กับลูกค้าได้อีกครั้งในอนาคต
อ่านเพิ่มเติม : Akio Toyoda ตอบคำถามกรณี Toyota Yaris Ativ ปัญหาเริ่มที่ใคร
ความผิดอยู่ที่ใคร
มาเอดะ ชี้แจงถึงสาเหตุของการเกิดปัญหานี้ว่าปัญหาน่าจะเกิดจากความกดดันที่หน้างานของการทดสอบการชนดังกล่าว ซึ่งทำโดย Daihatsu เนื่องจาก Yaris Ativ ถือเป็นรถที่มีขนาดใหญ่สำหรับไดฮัทสุซึ่งพัฒนารถเล็กมานาน บวกกับความซับซ้อนของโครงสร้างแผงประตูและเวลาอันจำกัดก่อนที่จะส่งมอบ อาจเป็นเหตุที่ทับซ้อนกันขึ้น
แต่บริษัทก็ได้ค้นหาสาเหตุของปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ได้เพียงหาผู้กระทำผิด อยากให้มีการเปิดใจสื่อสารกันสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นหน้างาน
พนักงานในโรงงานที่เป็นฐานการผลิต มีปฏิกิริยาอย่างไร
เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น โตโยดะจึงเดินทางไปยังโรงงานที่เป็นฐานการผลิตเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ซึ่งครั้งก่อนนั้นคือการขยายไลน์การผลิตของโรงงานแห่งนี้
โตโยดะกล่าวว่าเมื่อเข้าไปในโรงงานก็พบว่ามีรถรุ่นนี้ผลิตและจอดอยู่จำนวนมาก จึงคิดว่าพนักงานน่าจะมีความกังวลใจอยู่ไม่น้อยกับเหตุการณ์นี้ ตัวเขาจึงชี้แจงกับพนักงานเหล่านั้นว่าบริษัทกำลังทำอะไร ความกังวลมีมากแค่ไหน พบว่าหลังจากการพูดคุย พนักงานดูมีความอุ่นใจมากขึ้น
ยามาชิตะเสริมว่า จากการเดินทางไปยังโรงงานเมื่อเช้าพบว่าพนักงานดูเกร็งมาก เนื่องจากหลายคนมีความกังวลใจเกี่ยวกับรถที่ตนเองทำอยู่ แต่เมื่อท่านประธาน (โตโยดะ) ได้อธิบาย พนักงานเหล่านั้นก็เกิดความสบายใจ การที่ท่านมาอธิบายด้วยตัวเองทำให้อุ่นใจยิ่งขึ้น
อ่านเพิ่มเติม : ลองระบบ Safety Sense ในรถ Toyota Yaris Ativ ของดีที่ต้องรู้ไว้
จะยังร่วมมือกับ Daihatsu อยู่ไหม
มาเอดะ อธิบายว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการพัฒนารถยนต์ การแก้ปัญหาดังกล่าวจะเริ่มจากตรวจสอบรถให้แน่ใจก่อนว่ามีปัญหาหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบระบบบริหาร TDEM ด้วยว่ามีปัญหาหรือไม่ แต่ Toyota กับ Daihatsu จะยังร่วมกันเสริมสร้างรถยนต์ให้ดีกว่าเดิม
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อเข้าไปในทีเด็มก็มีคำถามว่า เราจะยังดำเนินการพัฒนากับไดฮัทสุหรือไม่ ก็แสดงถึงความกังวลใจของผู้ถามได้ทันที ทางแชร์แมน (โตโยดะ) ได้ตอบว่าเราไม่มีการขีดเส้นแบ่งระหว่างโตโยต้าหรือไดฮัทสุในการพัฒนารถยนต์
และท้ายสุดได้บอกพนักงานกว่าสองพันคนว่าให้คิดว่าตัวเองเป็นรถยนต์ เราไม่มีการแบ่งแยกแบรนด์ ไม่แบ่งสออฟฟิศหรือวิศวกร แต่เราจะทำให้ดีที่สุด
มาเอดะเสริมว่า ผมก็เชื่อว่าทีเดมที่ได้ฟังจะได้ขวัญกำลังใจเพิ่มขึ้นแน่นอน เราพยายามหาสาเหตุของที่เกิดขึ้น สร้างความไว้วางใจให้เกิด จะได้ผลิตรถที่ดีขึ้นให้ลูกค้าของเรา
ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากเรื่องการควบคุมต้นทุนหรือไม่
โตโยดะกล่าวว่า ความสำคัญและการผลิตรถเพื่อจำหน่ายมีหลายหัวข้อที่ให้ความสำคัญ อาจจะมีความแกว่งในประเด็นที่ไม่เท่ากัน เขาเล่าว่าตอนที่เขาเข้ามาทำงานเมื่อสามสิบปีก่อน เราเคยเกิดปัญหาทั่วโลกเรื่องคุณภาพ
เขาจึงได้กำหนดลำดับความสำคัญเป็นมาตรฐานไว้ตั้งแต่ 2009 ได้แก่ ลำดับแรกคือความปลอดภัย ต่อมาคือคุณภาพ ต่อมาคือปริมาณที่ผลิตได้มากพอ และสุดท้ายคือกำไร
โตโยดะกล่าวเสริมว่า เราอยากให้ผู้คนมีความสุขในการเดินทางที่เลือกได้ จึงต้องมีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มากพอ จริงอยู่ที่ทุกคนต้องการผลกำไร แต่ในบริษัทของเราจะมีผู้ที่ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยคิดถึงคุณภาพมาก่อน
ส่งมอบได้เมื่อไหร่
เนื่องจากการทดสอบการชนครั้งแรกมีความไม่เหมาะสม เพราะรถต้องมีความปลอดภัยเมื่อขับขี่บนถนนร่วมกับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ
ดังนั้น จึงต้องมีการทดสอบอีกครั้งด้วยรถที่จำหน่ายจริง เพื่อยืนยันว่ารถมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน ซึ่งในตอนนี้ถือว่าผ่านขั้นตอนการทดสอบ รวมถึงมีการส่งข้อมูลและผลการทดสอบยืนยันแล้ว เหลือเพียงการรออนุมัติจากทางการเท่านั้น
ซึ่งการนำรถกลับมาจำหน่ายภายใต้โครงการอีโคค่าร์ เฟส 2 จะต้องเอาผลการทดสอบยืนยันไปยื่นอธิบายเพื่อให้ได้การรับรอง รวมถึงความปลอดภัยข้อบังคับของไทยจึงจะสามารถกลับมาจำหน่ายอีกรอบ
จะผลกระทบต่อแผนการต่าง ๆ ในอนาคตหรือไม่
สำหรับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นต่อแผนการในอนาคตของ Toyota เช่น แผนความเป็นกลางทางคาร์บอน ไปจนถึงการร่วมเข้าแข่งขันรถยนต์ทางเรียบเอ็นดูรานซ์ 25 ชั่วโมงหรือไม่
โตโยดะตอบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีผลต่อโครงการดังกล่าว และได้อธิบายถึงแผนการความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ไม่เหมือนกับค่ายรถอื่น เพราะมีตัวเลือกให้ครบถ้วนมากที่สุด ตั้งแต่ไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด ไฟฟ้าล้วน (BEV) ไปจนถึงรถยนต์ที่ยังใช้น้ำมัน
เขากล่าวเสริมว่า มาตรการลดคาร์บอนในประเทศต่าง ๆ อาจทำให้ทางเลือกที่มีนั้นแคบลง ซึ่งเขาเชื่อว่าคนที่เลือกคือตลาดและลูกค้า
เขายังเสริมว่า Toyota ให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนอยู่ตลอดตั้งแต่เขายังเป็นหัวเรือใหญ่ แต่เขาก็ได้ส่งมอบบริษัทให้คนรุ่นใหม่เพื่อตอบสนองกับสังคมมากขึ้น
“ทางโตโยต้าบอกว่า ศัตรูของเราในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมคือคาร์บอน นี่คือการแก้ปัญหาของเรามาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม สังคมมองว่าผมชอบขับรถน้ำมัน มีกลิ่นน้ำมันติดตัว ก็เลยลงจากตำแหน่งครับ ส่งมอบบริษัทให้คนรุ่นใหม่พัฒนารถให้เหมาะสมกับสังคมมากขึ้น
อาจกล่าวได้ว่า นโยบายนี้จะเปลี่ยนไป หลังจากที่ประธานเก่าที่ชอบขับรถที่มีเสียงเครื่องยนต์ลงมา ก็น่าจะเปลี่ยนบ้างไม่มากก็น้อย”
อ่านเพิ่มเติม : โคจิ ซาโตะ คือใคร? ทำไมเป็นผู้ถูกเลือกนั่งเก้าอี้ซีอีโอ Toyota คนใหม่
ทำไมต้องมาเอง
โตโยดะตอบว่า “เพราะผมรักเมืองไทยครับ เนื่องจากผมเคยดูแลภูมิภาคนี้มาก่อน เห็นคนที่ทำการผลิต ตัวแทนจำหน่ายและลูกค้า รวมถึงคนรักรถมีรอยยิ้มเมื่อได้ใช้รถของเรา ครั้งนี้ที่มาก็อยากให้เห็นว่าเราก็มีความมุ่งมั่นพัฒนารถให้ดีขึ้นเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง”