ลองขับ Honda WR-V และ BR-V รถที่หลายคนคิดว่ารถเครื่อง 1.5 ลิตรจะขึ้นทางชันระยะทางไกลไม่ไหว แต่เราได้ไปขับมาแล้วทั้ง 2 รุ่น พบว่าผ่านทุกอุปสรรค
เจาะจงเลือกเครื่อง 1.5
การลองขับรถฮอนด้าครั้งนี้มีรถเอสยูวีทั้งหมด 4 รุ่นตั้งแต่รุ่นเล็ก WR-V, BR-V, HR-V และ CR-V ซึ่งเราเจาะจงเลือกรถรุ่นเล็ก ที่มีเครื่องเบนซิน 1.5 ลิตร แบบไม่มีระบบไฮบริด หรือเทอร์โบมาช่วยเพิ่มแรง เพื่อพิสูจน์ความคิดบางคนที่ว่า รถเครื่อง 1.5 มันจะไม่เพียงพอต่อการขึ้นเขา
ใช้งานแบบคนเดินทางปกติ
เส้นทางทดสอบครั้งนี้ เป็นเขาสูงชันที่ชื่อว่าภูทับเบิกด้วย มันมีระยะทางไป-กลับกว่า 800 กม. มีทั้งทางราบและทางชัน ถึงขั้นชันมากบนยอดภู ที่มีความสูง 1.6 กม.จากพื้นราบ โดยขับแบบคนใช้งานปกติ ไม่ต้องปั้นแต่งตัวเลขประหยัดน้ำมัน และมีคนโดยสารด้วย รวมกัน 3 คนในรถพร้อมสัมภาระอีกด้วย
ขับทางราบก่อน
สเปคเครื่องของรถทั้ง 2 รุ่นนี้ เป็นแบบเบนซิน 1.5 ลิตร DOHC i-VTEC 4 สูบ 16 วาล์ว กับระบบเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT มีกำลังสูงสุด 121 แรงม้า ที่ 6,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุดที่ 145 นิวตัน-เมตรที่ 4,300 รอบต่อนาที
การขับขี่ในทางราบ เริ่มต้นด้วยรถ Honda BR-V ซึ่งมีอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักมากกว่าใครในกลุ่มนี้ โดยมีการใช้แป้นแพดเดิ้ลชิฟต์ช่วยแซง ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ค่ายคู่แข่งไม่มี พบว่ามันสามารถเรียกกำลังในรอบเครื่องกลาง ๆ ได้ดี โดยไม่ต้องกดคันเร่งลึกจนติดพื้น ทำความเร็วจาก 60-100 กม./ชม. ให้สามารถแซงรถสิบล้อได้สบาย หากต้องการเร่งจาก 100-120 กม./ชม. ก็ยังสามารถทำได้ แค่กะจังหวะแซงยาว ๆ ไม่ต่างจากรถเก๋ง 1.5 ลิตรที่ทำได้
ระบบช่วยขับทำงานแม่น
ระหว่างทางก็ได้ลองใช้ฟังก์ชั่นเด่น ด้วยระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ทำงานที่ความเร็ว 30 กม./ชม.ขึ้นไป และเลือกระยะห่างได้ด้วย ซึ่งทีมงานออโตฟันเลือกระยะใกล้สุด เพื่อป้องกันรถเปลี่ยนเข้ามาแทรก ส่วนระบบรักษารถในเลนก็ทำงานได้ครบถ้วน ทั้งการเตือนด้วยการสั่นพวงมาลัย จนไปถึงช่วยหมุนพวงมาลัยกลับเข้าเลนให้เอง
ไต่ขึ้นด้วย BR-V
หลังจากการขับขี่ต่อเนื่องมายาว ๆ ก็พักกินข้าวแล้วต่อด้วยการนำรถขึ้นเขาภูทับเบิก โดยราได้ใช้แป้นแพดเดิ้ลชิฟต์ช่วยอัตราทดได้อย่างสนุกสนาน รอบฟาดขึ้นตามความชันของถนน พารถไต่ขึ้นไปด้วยความรวดเร็ว และไม่ลืมการเกาะถนนในทางโค้ง ซึ่งมันสามารถเข้าโค้งแรงจนเสียงยางออกให้ได้ยิน ทำให้เราใช้เบรคน้อย ยัดโค้งแล้วทำความเร็วขึ้นเนินต่อได้อย่างไม่เสียจังหวะมาก
นอกจากนี้เรายังลองขับแบบคนทั่วไป ที่ไม่กล้ายัดโค้งแรง เบรคเมื่อเจอทางโค้ง ทำให้ความเร็วตก แล้วออกโค้งทำความเร็วเพิ่มใหม่ ซึ่งมันเสียจังหวะในการไต่เขาชันก็จริงอยู่ แต่รถกำลัง 121 แรงม้าก็สามารถทำความเร็วขึ้นทางชันแบบไม่ล้อฟรีทิ้ง พาไปถึงที่พักได้
ลองใช้ WR-V
เส้นทางบนภูทับเบิกยิ่งแคบและชัน เราก็ได้มีโอกาสลองใช้งาน Honda WR-V โดยเลือกจุดที่เป็นทางเลี้ยวหักมุม และมีองศาชัน ซึ่งต้องพึ่งพากำลังและเพลาขับที่หักเลี้ยวอยู่และต้องส่งกำลังลงล้อไปพร้อมกัน ก็พบว่ามันมีการออกตัวล้อฟรีนิดเดียว แล้วพารถออกจากทางชันมุมแคบได้ โชคดีที่ขณะทำการลองขับนั้น พื้นทางชันมีความแห้ง จึงช่วยให้รถมีแรงยึดเกาะส่งรถขึ้นไปได้ด้วย
ได้เปรียบกว่ารถเก๋งเล็ก
ภูทับเบิกเป็นถนนซีเมนต์เกือบทั้งหมด จึงไม่มีปัญหาเรื่องการติดหล่มแล้ว แม้แต่รถเก๋งขนาดเล็กก็ยังขึ้นไปได้ เพียงแต่รถเอสยูวีขนาดเล็กอย่าง WR-V มีความแตกต่างกว่าตรงที่ ตำแหน่งการขับอยู่สูง เพิ่มทัศนวิสัย เพิ่มความมั่นใจ โดยที่ยังคงมีกำลังไม่แพ้รถขนาดเล็กหลายรุ่น
เมื่อเราลองหยุดที่กลางเนินชันแล้วออกตัว มันก็มีระบบช่วยออกตัวพาผู้โดยสารขึ้นไปได้ง่าย โดยที่ล้อไม่ฟรีทิ้ง (ในสภาพทางแห้ง) และสามารถใช้เกียร์ S ช่วยให้ลากรอบเพิ่มขึ้นได้อีกแรง
ตัวเลขการกินน้ำมัน
หลังจากขับกลับจนจบทริปแล้ว เราลองดูอัตราสิ้นเปลืองของทั้ง 2 รุ่นจากข้อมูลที่โชว์อยู่บนหน้าปัด พบว่า Honda WR-V ทำอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยทั้งทริป 15.7 กม./ล. น้อยกว่าที่ผู้ผลิตเคลมไว้ที่ 16.7 กม./ล. ส่วนรถคันใหญ่กว่า Honda BR-V ทำอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยทั้งทริปได้ 15.3 กม./ล. น้อยกว่าที่เคลมไว้ 16.1 กม./ล. ซึ่งนับว่าดีมากแล้วสำหรับการขับขี่แบบคนทั่วไป โดยไม่มีเบาคันเร่งเพื่อตัวเลขประหยัดน้ำมันเลย
สรุปว่าไปได้ทุกที่
สรุปแล้วว่ารถทุกคันในยุคปัจจุบัน สามารถขึ้นภูทับเบิกได้โดยไม่ต้องใช้ทักษะพิเศษมาก ขอแค่ตอนลงใช้เกียร์ S ตลอดเวลา แล้วรู้จักการควบคุมแป้นเบรค ก็ขับได้ปลอดภัยไม่แพ้รถใหญ่ แต่สิ่งที่ทำให้คุณต้องซื้อรถ SUV มากกว่ารถเก๋ง ความได้เปรียบอยู่ที่ตำแหน่งการขับขี่ที่เหนือกว่า ใต้ท้องรถสูงที่ไม่กลัวน้ำท่วม ซึ่งรถเก๋งให้ไม่ได้
Honda WR-V และ BR-V มีจุดเด่นที่เครื่อง 1.5 ลิตรมีกำลังสูงสุดในบรรดา B-SUV ระดับเดียวกัน ซึ่งมันก็ต้องสามารถขึ้นทางชันได้ดีในทางทฤษฎีอยู่แล้ว ดังนั้นทีมงาน Autofun ก็แค่มาลองขับดูเพื่อความแน่ใจว่า แรงม้าที่มีนั้น สามารถพารถไปทุกที่ที่มีทางได้จริง
รุ่นและราคา Honda BR-V
รุ่น |
สีขาวทาฟเฟต้า |
สีดำคริสตัล (มุก) |
สีขาวพรีเมียมซันไลท์ (มุก) |
EL |
- |
973,000 บาท |
977,000 บาท |
E |
915,000 บาท |
921,000 บาท |
- |
รุ่นและราคา Honda WR-V
- รุ่น RS ราคา 869,000 บาท
- รุ่น SV ราคา 799,000 บาท
อ่านเพิ่มเติม : ขับรถทางไกล ควรใช้รถใหญ่มากกว่ารถเล็ก เหตุผลที่หลายคนทำตามไม่ได้ เพราะมีรถคันเดียว