Sony เริ่มต้นกระบวนการทดสอบสมรรถนะ Vision-S รถพลังงานไฟฟ้ารุ่นต้นแบบบนถนนจริงเป็นครั้งแรก แสดงถึงความก้าวหน้าของโปรเจคต์นี้และขยับเข้าใกล้การผลิตออกจำหน่ายจริงมากขึ้น
Vision-S เผยโฉมครั้งแรกที่งานแสดงเทคโนโลยี Consumer Electronics Show หรือ CES ของสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นปี 2020 ก่อนที่ในอีก 1 ปีต่อมา Sony จะใช้งานเดียวกันนี้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบสมรรถนะบนถนนจริงครั้งแรก
คลิปความยาว 2 นาทีเศษเผยให้เห็นเทคโนโลยีหลายอย่างในรถต้นแบบรุ่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอทรงกว้างเต็มแผงแดชบอร์ด การควบคุมด้วยการเคลื่อนไหวมือและอ่านปาก ระบบเสียงรอบทิศทาง 360 องศา การเชื่อมต่อ 5G ระบบขับขี่อัตโนมัติ และกระจกมองหลังแบบใช้กล้องตรวจจับ
เปิดข้อมูลทางเทคนิครถต้นแบบ Vision-S
โครงการพัฒนา Vision-S เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีของ Sony ล้วน ๆ และได้ว่าจ้างบริษัท Magna Steyr จากออสเตรียรับหน้าที่ผลิตรถต้นแบบคันจริงขึ้นมาเพื่อทำการทดสอบในครั้งนี้ ซึ่ง Magna Steyr ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการยานยนต์เพราะปัจจุบันรับจ้างผลิต BMW Z4 และ Toyota Supra ออกจำหน่ายทั่วโลกอยู่แล้ว
แน่นอนว่าเมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีอย่าง Sony ต้องการสร้างรถสักคัน พวกเขาต้องใส่ทุกนวัตกรรมที่ถือครองอยู่ไว้ในตัวรถ Vision-S มีทั้งเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ ระบบการตรวจจับ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบจัดการข้อมูลแบบคลาวด์ เป็นต้น
Sony ระบุว่าทำการติดตั้งเซ็นเซอร์สำหรับยานยนต์จำนวนทั้งหมด 33 ตัว รวมถึงเซ็นเซอร์ภาพ CMOS เพื่อตรวจจับบุคคล ทั้งภายในและภายนอกตัวรถ
Vision-S ยังมาพร้อมครูสคอนโทรลแบบแปรผัน ระบบจอดรถอัตโนมัติ และฟังก์ชั่นเปลี่ยนเลนอัตโนมัติ ซึ่งเทียบเท่าระบบขับขี่อัตโนมัติระดับ 2 หรือ Level 2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเวลานี้ แต่ Sony วางแผนไว้ว่า Vision-S จะรองรับการอัพเดทซอฟต์แวร์ให้ขึ้นไปถึงระดับ 4 หรือ Level 4 และสูงกว่านั้นในอนาคต
ระบบภายในห้องโดยสารตอบสนองการใช้งานเต็มพิกัด
Sony ยังใช้ความเชี่ยวชาญในการสร้างระบบเสียงด้วยการใส่ระบบ 360 Reality Audio ไว้ในเบาะทุกที่นั่ง ทำให้สามารถสัมผัสเสียงรอบทิศทางได้อย่างแท้จริง
เบาะคู่หน้ายังมีหน้าจอพาโนรามิกทรงกว้าง Sony ระบุว่าตัวจอด้านหน้าเป็นแบบแยกสามส่วนที่สามารถปรับแต่งการใช้งานได้ตามต้องการ ส่วนเบาะหลังมีจอแยกส่วนสำหรับผู้โดยสารซ้ายและขวาอีกด้วย
ภายในห้องโดยสารยังมีเซ็นเซอร์ที่คอยตรวจจับใบหน้าและการแสดงออกทางสีหน้าของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เพื่อตรวจสอบว่าผู้ขับขี่มีสมาธิหรือไม่ และกำลังเหนื่อยล้าเกินกว่าที่จะขับขี่รถต่อไปหรือเปล่า เพื่อจะสั่งการให้ระบบแจ้งเตือน
อุณหภูมิภายในห้องโดยสารจะปรับเปลี่ยนไปตามบรรยากาศภายในรถ ถ้าเสียงพูดคุยเงียบลง และระบบตรวจจับว่าผู้โดยสารบนเบาะหลังกำลังหลับ ระบบปรับอากาศก็จะเปลี่ยนอุณหภูมิให้มีความเหมาะสมมากขึ้น
สำหรับระบบขับเคลื่อนของ Vision-S มาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว แต่ละตัวมีกำลัง 200 กิโลวัตต์ อัตราเร่ง 0-100 กม.ต่อชม. ทำได้ที่ 4.8 วินาที และความเร็วสูงสุดทำได้ 240 กม.ต่อชม. ระยะทางขับขี่ยังไม่เปิดเผย แต่คาดว่าจะอยู่ที่ 320 กม.ต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง
สรุป
ถึงแม้จะยังไม่มีกำหนดผลิตออกจำหน่ายจริง แต่รถต้นแบบ Vision-S ถือเป็นการฉีกกรอบเทคโนโลยียานยนต์นวัตกรรมใหม่ที่บริษัทรถยนต์ยังต้องจับตามอง
รูปลักษณ์ของ Vision-S ก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ด้วยเช่นกัน มาพร้อมตัวถังแบบรถซีดานทรงสปอร์ต แผงหลังคาพารามิกบานใหญ่ยักษ์ เส้นแนวตัวถังยังมีความลาดเอียงเสริมความโฉบเฉี่ยว ล้ออัลลอยขนาดใหญ่สีดำทำให้มีภาพลักษณ์ดุดันผสานความหรูหราแบบรถระดับพรีเมียม
ถ้า Sony ให้ไฟเขียวผลิต Vision-S เป็นรุ่นโปรดักชั่น ปัจจัยสำคัญคือราคาจำหน่ายและแนวทางการทำตลาดที่จะบ่งชี้ได้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่ต้องไม่ลืมว่า Sony มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ น่าติดตามต่อไปว่าพวกเขาจะสั่นสะเทือนวงการยานยนต์ได้มากเพียงใด