ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ระหว่างการเดินหน้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบ ที่หลาย ๆ คนเห็นด้วยว่าควรจะเดินหน้าแบบเต็มกำลัง โดยมองไปที่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มโอกาสในการจับจ่ายใช้สอย เพราะหากมีการผลิตออกมาหลากหลายจำนวนมาก ก็จะทำให้ราคาจำหน่ายถูกลง
แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น ก็มีการคัดค้านถึงความพยายามในการเร่งเร้าการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าให้ไปถึงเป้าหมายอย่างรวดเร็วเกินไป แม้กระทั่งยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Toyota (โตโยต้า) ยังต้องออกมาเตือนให้ระมัดระวังถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับโครงการดังกล่าวให้ดีดี แม้พวกเขาจะเปิดตัวเทคโนโลยีนี้ไปก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าในความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร ก็ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าความต้องการของรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มมีมากขึ้น จากข้อกำหนดและข้อบังคับในหลายประเทศทั่วโลกที่มุ่งเน้นไปที่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานสำคัญที่ค่ายรถทั่วโลกจะต้องเรียนรู้
มีการประเมินกันว่าแนวคิดและนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ จะกลายเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการนั้น สร้างผลกำไรหรือขาดทุนกันได้ในอนาคต หากพวกเขาไม่สามาถบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ดั้งเดิม (standard assets) และปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นทรัพย์สินสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าได้ในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงกฎที่สำคัญเริ่มต้นจากความเคร่งเครียดในการลดมลพิษในยุโรป ซึ่งน่าจะส่งผลโดยตรงกับผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปทั้งหมด จากนั้นก็เชื่อว่าจะเริ่มลามออกไปทั่วโลก เรามาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมรถยนต์ที่เราใช้งานมาเป็นศตวรรษ กำลังจะเป็นหอกทิ่มแทงค่ายรถผู้ผลิตเหล่านั้นเสียเอง
เมื่อยุโรปขยับตัวเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์
ความสำคัญของการเร่งเครื่องรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลกนั้น มาจากการที่สหภาพยุโรป (EU) ประกาศข้อจำกัดว่ารถยนต์ที่ทำการผลิตในทวีปยุโรปทั้งหมด จะต้องมีค่าการปล่อยไอเสียที่ลดลงเหลือเฉลี่ยเพียง 95 กรัมต่อ 1 กิโลเมตรในปีนี้ ซึ่งหากใครทำไม่ได้ก็จะมีค่าปรับมหาศาลที่รอให้ต้องจ่ายอยู่
มีการประเมินว่าค่ายรถที่ทำไม่ได้อย่าง Volkswagen (โฟล์กสวาเกน) ต้องเตรียมที่จะจ่ายเงินถึง 270 ล้านยูโรสำหรับค่าปรับในปีนี้ แม้ว่าพวกเขาจะมีรถไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดอย่าง Volkswagen ID.3 ก็ตาม แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะรถเล็กอย่าง Volkswagen Golf ที่ใช้เครื่องยนต์ธรรมดา ขายดีกว่าถึง 3 เท่าตัว
ความตื่นตัวดังกล่าวยังลามไปถึงค่ายรถอื่น ๆ อาทิ BMW (บีเอ็มดับเบิลยู) ที่มีการประกาศว่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2.5 แสนคันไปจนถึงปี 2023 และต้องการให้ 20% ของยอดขายเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 8% ในปีที่ผ่านมา โดยยอดจำหน่ายรถไฟฟ้าโดยรวมของยุโรปนั้นก็สูงขึ้นเป็น 8.7% ในปัจจุบัน
หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปมีสัดส่วนการขายที่ราว 2.7% เท่านั้นเอง ซึ่งกฎข้อต่อไปที่จะยากขึ้นเรื่อย ๆ ของค่ายรถในยุโรปก็คือการที่พวกเขาต้องลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ทั้งหมด 15% ภายในปี 2025 และลดเพิ่มให้ได้ 37.5% ตามข้อกำหนดภายในปี 2030
และอียูก็ประกาศแล้วว่า พวกเขาต้องการเห็นรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศเลยจากค่ายรถยุโรปภายในปี 2050 ซึ่งมีคนคาดการณ์ว่า รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงนั้น จะสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายในยุโรปได้จนถึงช่วงปี 2035 เท่านั้น จากนั้นก็จะหมดยุคเครื่องยนต์สันดาปภายในอย่างแท้จริง
การจัดการทุกอย่างที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน
มีการวิเคราะห์กันว่า ค่ายรถที่จะต้องโดนบังคับให้เดินหน้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้านั้น ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากการปิด ปรับหรือขายทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน เพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้โดยไม่ถูกทอดทิ้งไว้กับทรัพย์สินที่มีอยู่ดั้งเดิม ที่มีแต่จะเสื่อมถอยและด้อยค่าลงไปเรื่อย ๆ
มีการวิเคราะห์ว่า ราคาหุ้นของค่ายรถแต่ละรายในอนาคตอันใกล้ จะขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการบริการจัดการเพื่อลดการขาดทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ระบบเก่า รวมถึงความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการปรับตัวไปสู่โลกของยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะเข้ามาแทนที่อย่างแน่นอนในอนาคต
เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจที่เราได้เห็นค่ายรถยักษ์ใหญ่ของยุโรปออกมาปรับปรุงโรงงานกันอย่างจริงจัง ทั้ง BMW เองที่มีข่าวการเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ หรือ Mercedes-Benz (เมอร์เซเดส-เบนซ์) ที่มีข่าวปิดโรงงานเพื่อปรับไลน์ผลิต พร้อมแผนการเปิดตัวทั่วโลกอย่างยิ่งใหญ่ ก็เพื่อรองรับโครงการนี้
มันจะเป็นแบบนี้ไปทั่วโลกหรือไม่นะ
แม้จะไม่มีการวิเคราะห์สถานการณ์ในตลาดอื่น ๆ นอกยุโรป แต่เราก็พอจะฟันธงได้ว่า การเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าและการที่ผู้ผลิตรถยนต์ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแแปลงจะเกิดขึ้นทั่วโลกอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ผู้ผลิตรถยนต์ก็ต้องหันไปพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ากันทั้งหมด และทิ้งเครื่องยนต์เอาไว้เบื้องหลัง
นั่นคือสาเหตุที่ทำไมในตลาดโลกช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการเปิดตัวรถรุ่นแปลก ๆ ที่เราไม่คาดคิดว่ามันจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้ากันได้ หากนับจากตอนเริ่มต้นที่รถยนต์ไฟฟ้าถูกพัฒนาเพื่อเป็นรถรักษ์โลกและเน้นการปล่อยไอเสียที่ต่ำเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้าถือว่ามากันไกลมากหากเทียบจากจุดเริ่มต้น
และแม้แต่ที่นายใหญ่ค่ายรถขนาดใหญ่ออกมาแถลงว่าต้องระมัดระวังกันนั้น เอาจริง ๆ ก็เชื่อว่าพวกเขาก็การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้รอไว้แล้วล่ะ เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น รวมไปถึงค่ายอื่น ๆ ที่ไม่ได้ออกมาพูดอะไรมาก เอาจริง ๆ ยอมรับกันเลยก็ได้ว่าเรากำลังก้าวสู่โลกแห่งยานยนต์ไฟฟ้ากันอย่างเต็มตัว
อย่างไรก็ตาม มันก็มีสาเหตุอยู่เหมือนกันที่เราไม่สามารถเดินหน้ายานยนต์ไฟฟ้าได้เต็มรูปแบบ โดยไม่สนใจอะไรหน้าไหน เพราะอย่าลืมว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 100 ปีนั้น ถูกพัฒนาและสร้างสรรค์มาบนเครื่องยนต์สันดาปภายในทั้งหมด การปรับเปลี่ยนก็จำเป็นที่จะต้องให้เวลากันเป็นธรรมดา
ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการเอง การปรับตัวของบรรดาซัพพลายเออร์ที่จะต้องคิดค้นและหาทางที่จะอยู่รอดร่วมกันให้ได้ในโลกยุคใหม่ เรียกว่าหากมองภาพของการเปลี่ยนแปลงร่วมกันและพร้อมที่จะเดินหน้าเติบโตไปด้วยกัน โอกาสที่จะมีใครได้รับผลกระทบจนต้องปิดตัวบริษัทก็อาจจะลดน้อยลงไปเช่นกัน
ไม่ต้องรีบร้อนไปนะ ทุกอย่างมีที่และเวลาของมัน เครื่องยนต์สันดาปภายในไม่ใช่ผู้ร้าย เดี๋ยวพอถึงจุดที่รถไฟฟ้าใช่ แล้วค่อยซื้อหากันก็ทัน...