รถยนต์ที่มีเกียร์อัตโนมัติทั่วไปจะมีปุ่มสำหรับใช้งานโอเวอร์ไดรฟ์ (O/D) บนคันเกียร์ ซึ่งโดยค่ามาตรฐานจากโรงงาน มันถูกเปิดใช้งานตั้งแต่เริ่มอยู่แล้ว แต่ถ้าลองกดปุ่มนั้นอีกครั้ง จะเป็นการปิดระบบนี้ทิ้งไป (O/D off)
เจ้าของรถหลายคนไม่ค่อยได้ปิด เพราะพวกเขาคิดว่าการปิดโอเวอร์ไดรฟ์บ่อยครั้ง จะทำให้เกียร์อัตโนมัติในรถพังเร็ว จริงหรือไม่? มารู้จักการทำงาน และการใช้ Overdrive นี้อย่างคร่าว ๆ ไม่มีศัพท์เทคนิคซับซ้อน ก่อนพบคำตอบว่าทำรถพังหรือไม่
O/D คืออะไร
เกียร์อัตโนมัติแบบพื้นฐาน ที่ไม่มีโหมดแมนนวล (เกียร์ +-) แต่เป็นการเปลี่ยนเกียร์แบบเลื่อนปกติ โดยใช้คันเกียร์ด้วยระบบ P-R-N-D-L ที่มักจะมีระบบโอเวอร์ไดรฟ์นี้ อยู่ตรงแป้นเกียร์ หรือตรงหัวเกียร์ ลักษณะเป็นปุ่มกด หรือสวิตช์ขนาดเล็ก มีอักษรกำกับว่า O/D เมื่อลองกดดูจะพบว่า มีไฟขึ้นที่หน้าปัดว่า O/D off เป็นสีแดง นั่นคือการปิดโอเวอร์ไดร์ฟ หากกดอีกครั้ง ไฟสีแดงนั้นจะหายไป แสดงว่าโอเวอร์ไดร์ฟทำงานอยู่
อ่านเพิ่มเติม : รถอาจตกเหว ถ้าคุณยังขับรถลงเขา ด้วยเกียร์ออโต้โหมด D
O/D ทำงานอย่างไร
Overdrive เข้าใจง่าย ๆ คือเกียร์สุดท้าย เช่น รถรุ่นหนึ่งมีเกียร์ออโต้ 5 สปีด โอเวอร์ไดร์ฟก็คือเกียร์ 5 นั่นเอง เมื่อเราเข้าเกียร์ D แล้วเหยียบคันเร่งไป เกียร์ออโต้ก็จะเปลี่ยนอัตราทดไปเรื่อย ๆ หากไม่มีการลดความเร็ว ก็จะเปลี่ยนจนถึงระดับสูงสุดตามที่บอกไว้ในสเปค เช่น ออโต้ 4 สปีด, 5 สปีด เป็นต้น ซึ่งหลักการทำงานก็เหมือนเกียร์สูงสุดในเกียร์แมนนวล อธิบายง่าย ๆ คือ ทำให้เครื่องยนต์จะมีจำนวนรอบ/นาทีช้ากว่าล้อ เพื่อความประหยัดน้ำมันเท่านั้นเอง
O/D off คืออะไร
O/D off คือการปิดโอเวอร์ไดร์ฟ เป็นโปรแกรมที่ยกเลิกการเข้าเกียร์สูงสุดออกไป เช่น รถคันเดิมมีเกียร์ออโต้ 5 สปีด หากกดปุ่มปิด O/D แล้วจะใช้ได้แค่ 4 สปีดเท่านั้น ทำให้เมื่อวิ่งในความเร็วสูง จะมีรอบเครื่องสูงขึ้น กินน้ำมันมากขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยพละกำลัง ที่เพิ่มตามรอบเครื่อง มาใช้ในการเร่งแซง หรือลากจูง เช่น ขับรถที่ความเร็ว 80 กม./ชม. เครื่องหมุน 2,000 รอบ/นาทีแบบเปิดโอเวอร์ไดร์ฟ แล้วต้องการจะแซงรถอื่น จึงกด O/D off ทำให้รอบเพิ่มเป็น 2,500 รอบ/นาที ความเร็วเพิ่มเป็น 100 กม./ชม. แบบนี้เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม : 4 พฤติกรรมทำร้ายเกียร์อัตโนมัติ ใครทำอยู่ควรเลิกก่อนสายเกินไป
O/D off ต่างอะไรกับ Kick down
บางคนขับรถแซงด้วยการ Kick down ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ต้องเข้าใจความแตกต่างด้วยว่า การคิกดาวน์ คือกดลดระดับเกียร์กี่ระดับก็ได้ และจะเปลี่ยนเกียร์ขึ้นมากี่ระดับก็ได้ แล้วแต่กล่องควบคุม (กล่องเกียร์) จะเห็นสมควร ส่วนการปิด O/D คือการงดใช้เกียร์สูงสุด ลดระดับลงมา 1 อัตราทดเท่านั้น และจะไม่มีการเปลี่ยนระดับเกียร์เพิ่มใด ๆ ตลอดการใช้งาน
ข้อดีของการ kick down คือมือไม่ต้องละจากพวงมาลัย มากดปุ่ม O/D off ใช้แค่เท้ากดแป้นคันเร่งลึก หากกดลึกมากพอ จะได้ระดับเกียร์ลดลงมาก ทำให้ที่รอบสูงขึ้น เรียกแรงม้ามาใช้ได้มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า การกินน้ำมันมากตามไปด้วย
ส่วนข้อดีของการปิด Overdrive คือ ได้รอบเครื่องขึ้นมาคงที่ สามารถคาดเดาระดับเกียร์ได้ เพราะมันจะคาอยู่ที่เกียร์รองสุดท้าย เอาไว้ตลอดเวลา เช่น จากเดิม 5 เกียร์ ปิดโอเวอร์ไดร์ฟแล้วใช้เกียร์ 4 วิ่งคาไว้ ไม่ต้องลุ้นว่าจะลดเกียร์ลงกี่ระดับ แถมได้ความประหยัดน้ำมันกว่าคิกดาวน์เล็กน้อย
อ่านเพิ่มเติม : เพิ่มแรงม้าด้วยกล่องบาลานซ์ไฟได้ไหม ? ถ้ามันดีจริง ทำไมบริษัทรถไม่ใส่มาให้เลย
O/D off ใช้งานอื่นได้นอกจากแซง
การปิดโอเวอร์ไดร์ฟ สามารถใช้ขึ้นทางชันได้ดีมาก โดยเฉพาะเป็นทางชันยาว ๆ การปิด O/D จะเป็นการปิดไม่ใช้เกียร์สูงสุด คาไว้ที่ระดับรองลงไป เช่น ทางขึ้นสะพานแขวน กับรถเกียร์ออโต้ 5 สปีด หากปิด O/D จะเหลือ 4 เกียร์ใช้ได้สบายตลอดทางชัน โดยไม่ต้องกังวลว่า ระหว่างที่รถไต่ขึ้นอยู่ แล้วเกียร์ 5 จะทดขึ้นมาให้เสียกำลัง
อ่านเพิ่มเติม : เข้าเกียร์แล้วกระตุก ออกตัวกระชาก มาเช็ค 5 อาการเกียร์อัตโนมัติใกล้ลาโลก
O/D off ทำบ่อย ๆ แล้วรถพังง่ายจริงหรือไม่
การปิดโอเวอร์ไดร์ฟนั้นทำให้รอบเครื่องสูงขึ้น หลายคนจึงกังวลว่า รอบเครื่องสูงเท่ากับเครื่องพังง่าย ทั้งที่จริงก็เป็นแค่ การสึกหรอจากการใช้งานปกติ ไม่ต่างอะไรจากการลากรอบ หรือคิกดาวน์ เพราะเครื่องยนต์และเกียร์นั้น ถูกออกแบบมาให้ทนกับรอบเครื่องสูง ในช่วงเวลาหนึ่งได้อยู่แล้ว
แม้แต่การเผลอกด O/D off ค้างไว้ตลอดการเดินทาง ก็ไม่มีผลอะไร แค่เหมือนขับรถรอบสูงขึ้นตลอดการเดินทางเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ทำให้อุณภูมิน้ำหล่อเย็น หรือน้ำมันเครื่องสูงขึ้น จนเครื่องระเบิดหรือเกียร์แตก (เว้นแต่ว่าคุณบำรุงรักษารถได้แย่มาก)
ปัจจุบันนี้รถที่มี O/D เริ่มน้อยลง เพราะรถบ้านในปัจจุบัน ถูกเพิ่มอัตราทดมากว่า 5 สปีดแล้ว อีกทั้งเพิ่มโหมด S เพื่อการลากรอบที่สูงขึ้น โดยคุณไม่จำเป็นต้องกด O/D off อีกต่อไป บางคันยังมีโหมดปรับเล่นเกียร์ได้เองแบบบวกลบ ทำให้ในอนาคต ระบบโอเวอร์ไดร์ฟ จะอยู่ในรถราคาประหยัด หรืออาจจะสูญพันธ์ไป ในยุครถยนต์ไฟฟ้า
บทความนี้ เป็นแค่การตอบคำถามการใช้งานสั้น ๆ ที่หลายคนสงสัยเท่านั้น หากต้องการลงลึกรายละเอียดจริง ยังมีคู่มือรถที่คอยอธิบายให้เข้าใจอีกทางหนึ่ง ลองเปิดอ่านศึกษา แล้วท่านจะได้ใช้รถยนต์อย่างคุ้มค่าเงิน ที่เสียไปกับทุกฟังก์ชั่น
อ่านเพิ่มเติม : เกียร์ CVT มันไม่ดีหรอก ถ้าคุณมัวแต่ขยี้คันเร่ง มาดูสภาพสายพานชัด ๆ ว่ามันพังง่ายจริงหรือไม่ ?