Nissan GT-R (นิสสัน จีที-อาร์) นั้นเป็นซูเปอร์คาร์ที่มีเกียรติประวัติยาวนานย้อนหลังไปถึงยุคปี 1970 ก่อนที่หลาย ๆ คนจะเกิด และเติบโตมาเป็นก็อดซิลล่า หนึ่งในไอคอนของวงการอุตสาหกรรมยานยนต์โลกมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้มันจะดูน่าเบื่อลงไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นรถที่มีความโดดเด่นและเอกลักษณ์อยู่ดี
แต่ถ้าคุณไปถามเด็กยุคใหม่ที่มองว่าบางทีการขับรถก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้เร้าใจมากนัก และโยนโจทย์ให้ว่าอยากให้ทำรถขึ้นมาโดยได้รับแรงบันดาลใจจากไอคอนคันหนึ่ง เราคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรกับรถคันใหม่ที่เกิดขึ้นมาบ้าง Nissan Design America ได้คำตอบที่น่าสนใจในเรื่องนี้
เมื่อพวกเขาทำการช่วยพัฒนาโปรเจคต์เพื่อจบการศึกษาของนักศึกษาชาวเกาหลีที่มีชื่อว่า แจบอม 'เจบี' ชอย ที่นำดีเอ็นเอของก็อดซิลล่ามาทำการพัฒนาเสียใหม่ ให้ได้รถสปอร์ตที่เล็กลง ขับขี่ได้คนเดียว และสั่งการด้วยสมองในการควบคุมรถ นี่คือความคิดของเด็กที่เกิดมาไม่ทันยุครุ่งเรืองแบบสุด ๆ ของจีที-อาร์
และชื่อของรถต้นแบบคันนี้คือ Nissan GT-R (X) 2050 (นิสสัน จีที-อาร์ (เอ็กซ์) 2050)...
ซูเปอร์คาร์ ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และควบคุมด้วยมนุษย์
เมื่อโลกในอนาคตจะเป็นการผสานรวมกันระหว่างการขับขี่อัตโนมัติ การใช้งานระบบต่าง ๆ มากมายที่จะเข้ามาทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น ชอยเล่าว่า เขาเริ่มโครงการที่เขาเรียกว่า vision humanoid ในช่วงที่เริ่มทำงานที่บ้านหลังฝึกงานที่เอ็นดีเอ ซึ่งเขาไม่คิดเลยว่าทีมงานของนิสสันจะช่วยกันพัฒนารถคันนี้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างในท้ายที่สุด
นักศึกษาสาขาวิชาออกแบบในพาซาเดน่า แคลิฟอร์เนีย ตั้งโจทย์ว่ารถยนต์ที่เขาอยากจะเห็นในปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้าควรจะเป็นอย่างไร และเมื่อทำการพัฒนามาจนถึงที่สุด ก็ได้ออกมาเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่สามารถขับเคลื่อนไปได้ตามความรู้สึกของผู้ขับขี่ ผ่านการเชื่อมต่อทางกายภาพขณะขับขี่
ตัวรถที่มีความยาว 2,908 มิลลิเมตร กว้าง 1,537 มิลลิเมตร สูง 658 มิลลิเมตรรองรับผู้ขับขี่เพียงคนเดียว โดยผู้ขับขี่จะถูกจัดวางตำแหน่งการโดยสารในท่านอนคว่ำ กางแขน-ขาในรูปตัวเอ็กซ์ และจะต้องสวมชุดและหมวกขับขี่ที่ออกแบบมาสำหรับการใช้งานรถคันนี้โดยเฉพาะเมื่อต้องการใช้งาน
หมวกกันน็อคนั้นจะถูกสวมเข้ากับช่องด้านหน้าของตัวรถพอดีเมื่อเข้าไปอยู่ในห้องโดยสาร และจะเชื่อมต่อกับกล้องแสดงภาพด้านหน้าแบบวีอาร์ โดยที่หมวกจะทำการติดตั้งระบบที่เชื่อมต่อสมองไปที่แกนควบคุมหลักของตัวรถ ส่วนชุดขับขี่นั้น ออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยตลอดเวลาที่บนท้องถนน
เดวิด วู๊ดเฮาส์ รองประธานของเอ็นดีเอ บอกว่า ความคิดที่จะพัฒนาซูเปอร์คาร์แห่งโลกอนาคตที่ขับขี่จากสมองสู่เครื่องกลนั้นก็เข้ากันดีกับความคิดของนิสสัน ซึ่งธีสิสของเจบีเกี่ยวกับการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างอารมณ์และเทคโนโลยี รวมถึงผลประโยชน์ที่จะนำเสนอต่อลูกค้า
เมื่อก็อดซิลล่า กลายเป็นรถยนต์ที่สวมใส่ได้
ชอยอธิบายต่อว่าการออกแบบรถยนต์คันนี้ไม่ได้มองไปที่การพัฒนารถยนต์รูปแบบเดิม แต่เขากำลังพัฒนาเครื่องจักรที่สามารถสวมได้ ก็จะต้องทำให้มันดูฟิตกับรูปร่างของมนุษย์ที่สุด และการออกแบบในลักษณะดังกล่าว จะส่งผลดีในเรื่องของการปกป้องศีรษะของผู้ขับขี่เอาไว้ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
การเชื่อมต่อสมองของผู้ขับขี่เข้ากับเครื่องจักรกลเพื่อควบคุม ก็อาจจะเป็นการพัฒนาสมรรถนะของรถไปได้เหนือกว่ารูปแบบของการขับขี่แบบเดิม ๆ และเพิ่มเติมด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมายที่ติดตั้งเข้ามาในรถ ที่มีการออกแบบเพื่อสะท้อนดีเอ็นเอของนิสสันและจีที-อาร์อย่างชัดเจนตามตำแหน่งต่าง ๆ
เมื่อรถใช้ชื่อของจีที-อาร์ เขาได้ทำการติดตั้งดีเอ็นเอของก็อดซิลล่าไว้ทั่วคันรถ ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวของรถที่ดูแข็งแกร่ง บึกบึน กระจังหน้าแบบวี-โมชั่น ชุดไฟท้ายดวงกลมแบบ 4 ดวง รวมไปถึงการเลือกใช้แถบสีแดงติดตั้งรอบคันรถ เพื่อให้สะท้อนถึงความดุดันในแบบของนิสโม่ (NISMO)
ชอยพัฒนารถคันนี้โดยมีความคิดว่ารถของเขาจะต้องเน้นการขับขี่ในยามค่ำคืนเป็นหลัก ความคล่องตัวของรถถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากไม่แพ้กับเครื่องยนต์ไฟฟ้าสมรรถนะสูง และเขาได้เลือกใช้ล้ออะไหล่และยางที่รวมกันเป็นชิ้นเดียว และมีความสามารถในการทำให้รถหมุนได้ 360 องศาเมื่อขับขี่
ผลงานการขับคู่ของล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้วและยางที่มีขนาดใหญ่ 21 นิ้ว มาพร้อมเบรกสมรรถนะสูง การเข้าออกตัวรถนั้นทำได้ด้วยการเปิดปีกด้านบนของตัวรถออกมา ซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อช่วยเพิ่มแรงกดให้กับตัวรถเมื่อยามขับขี่ เพื่อให้ได้สมรรถนะในการขับขี่ที่สมบูรณ์แบบ
เป็นงานออกแบบที่ดี แต่คงเป็นจริงได้ยาก
ด้วยความเห็นส่วนตัว คิดว่าพ่อหนุ่มนักออกแบบนี่ก็คงได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงภาพยนตร์ไซไฟยุคใหม่ ๆ ที่มนุษย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งอันเดียวกันกับตัวรถ ทำให้ต้องมีการพัฒนาร่วมกันระหว่างรถและผู้ขับขี่ ซึ่งเป็นแนวทางที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันแสนไกลมาก ๆ
แต่ที่น่าชื่นชมมากกว่าก็คงจะเป็นตัวนิสสัน ดีไซน์ อเมริกาเอง ที่ร่วมกันพัฒนาความฝันของเจบีให้เป็นความจริงขึ้นมาได้ การทำรถยนต์สเกล 1:1 เพียงคันเดียวนั้น จริงอยู่ว่าไม่ได้เป็นเรื่องยากสำหรับนิสสัน แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะสามารถดีดนิ้วมือเปรี้ยงแล้วจะออกมาให้เห็นเป็นคันได้
ตัวรถต้นแบบนั้นดูสวยจริง แต่ก็ไม่ได้มีดีเอ็นเอของนิสสันเสียเท่าไหร่ เหมือนเอาชิ้นส่วนไปแปะ ๆ ไว้มากกว่า ไม่แน่ใจว่าเมื่อเรียนจบแล้ว เอ็นดีเอจะมีดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่ชื่อแจบอม ชอย ไปร่วมทีมออกแบบด้วยหรือไม่ ถ้าใช่ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีปรีดาอยู่ไม่น้อยกับดีไซเนอร์หน้าใหม่คนนี้