ปิดฉากการจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 37 หรือ 2020 Thailand International Motor Expo กันไปเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนสื่อสากล โดยมียอดผู้เข้าชมงานที่ลดลงไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ แต่หากดูยอดจองรถยนต์ในงานแล้ว ก็ต้องถือว่าไม่ขี้เหร่ ด้วยกระแสรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่อัดเข้างานกันอย่างคึกคัก
ความคึกคักของการจับจองรถยนต์ในงานนี้ จบลงด้วยยอดจองรถยนต์ทั้งสิ้น 33,753 คัน รวมถึงยอดจองรถจักรยานยนต์จำนวน 4,946 คัน รวมไปถึงจำนวนผู้เข้าชมในงานกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งมากพอที่จะทำให้ผู้จัดงานนั้น ระบุเม็ดเงินหมุนเวียนภายในงานเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากถึงกว่า 4.9 หมื่นล้านบาท
แม้จะมีกระแสข่าวเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสระหว่างการจัดงาน แต่จากการตรวจสอบอย่างเข้มงวดก็พบว่าเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น ซึ่งจากผลตอบรับที่เห็นในงานนี้ ก็ทำให้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นวางใจอยู่บ้าง และเชื่อว่าจะทำยอดจำหน่ายรถยนต์ในปีนี้ได้ตามเป้าหมายแน่นอน
ยอดจองในงาน สะพานสู่ยอดขาย 7.8 แสนคัน
ยอดจองรถยนต์ทั้ง 31 แบรนด์ ที่ลดลงจากปีก่อนเพียง 9.9% ลงมาอยู่ที่เกือบ 3.4 หมื่นคัน คือการรับประกันว่าตลาดรถยนต์ในประเทศไทยนั้นไม่ได้เลวร้าย และพร้อมที่จะปรับตัวกลับสู่ภาวะใกล้เคียงปกติได้ไม่ยาก หากสถานการณ์ในภาพรวมนั้นไม่เลวร้ายลงไป ทั้งเรื่องโควิด-19 หรือภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ
และแน่นอนว่าการที่ยอดจองรถยนต์ในงานนั้นเติบโตกว่าการคาดการณ์ในเบื้องต้น ที่ผู้จัดงานประเมินไว้ว่าอาจจะหดตัว 25-30% ก็เป็นการตอกย้ำที่ดีว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเริ่มกลับสู่ภาวะฟื้นตัวดีขึ้นอย่างมาก จากความสามารถของภาครัฐที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างน่าชื่นชม
เป็นผลให้เศรษฐกิจต่าง ๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และแน่นนอนว่าน่าจะทำให้ผู้ประกอบการพร้อมที่จะลุยกันต่อในช่วงที่เหลือของปี เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ในปีนี้ คือการสร้างยอดจำหน่ายรถยนต์รวมไปให้ได้มากที่สุด โดยมีตัวเลขเป้าหมายการจำหน่ายรวมที่ 7.8 แสนคันได้อย่างแน่นอน
ชี้คนนิยมเก๋งลดลง - เอสยูวีโตสวนทาง
นอกจากนี้ จากยอดจองรถยนต์ในงานยังสามารถบอกทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวมได้ โดยอย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าความต้องการของรถยนต์นั่งในประเทศไทยเริ่มหดตัวน้อยลงในช่วงที่ผ่านมา และยอดจองในงานก็ลดลงไปเหลือสัดส่วน 40.9% แบ่งเป็นซีดาน 23.9% แฮชท์แบ็ค 15.6% และอื่น ๆ 1.4%
ขณะที่เอสยูวีนั้น มีสัดส่วนการจองเพิ่มขึ้นเป็น 40.4% เกือบจะมียอดจองมากกว่ารถยนต์นั่งเป็นครั้งแรก แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือรถกระบะนั้น กลับมีสัดส่วนการจองที่ลดลงไปเหลือ 12.2% ทั้งที่ตลาดรวมนั้นเติบโตกว่ารถยนต์นั่งอย่างเห็นได้ชัด และรถยนต์หรูหราก็มียอดจองที่ดีเช่นเดียวกันในงานปีนี้
นอกจากนี้ ราคาเฉลี่ยของรถยนต์ที่มีการจองในงานก็ปรับเช่นกัน โดยมีราคาจำหน่ายเฉลี่ยที่ 1,424,811 บาท ซึ่งถือว่ามีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวไทยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอาจจะสะท้อนถึงราคาจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยที่ปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกัน
ปัจจัยบวกยังมี ระวังปัจจัยลบปลายปีอีกนิด
ถ้าถามผู้ประกอบการตอนนี้ทุกราย แน่นอนว่าต่างก็ต้องแสดงความมั่นใจกันอย่างเต็มพิกัด ในเรื่องของยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยปีนี้ว่าจะสามารถผ่านหลักชัย 7.8 แสนคันไปได้ไม่ยากเย็น ด้วยปัจจัยบวกมากมายที่แสดงให้เห็นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการเติบโตที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ข่าวคราวความเคลื่อนไหวในรอบ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ทำให้ต้องมาพิจารณากันอีกครั้งในเรื่องของปัจจัยลบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ที่เริ่มกลับมาพบตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศรายวัน แม้จะยังควบคุมสถานการณ์กันได้อยู่ก็ตามที
มีผู้ประเมินว่าหากสถานการณ์ยังไม่เลวร้าย สามารถควบคุมได้ และไม่รุนแรงจนถึงขั้นต้องล็อกดาวน์กันอีกครั้ง ภาคธุรกิจสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างก็น่าจะไหล ๆ เข้าเป้าหมายได้อย่างไม่เหนื่อย และอาจจะมีโมเมนตัมที่ดีต่อไปถึงปีหน้า ที่อาจจะเห็นตลาดกลับมาบวก 5-10% อีกครั้ง
แต่หากสถานการณ์กลับกัน การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงอีกครั้งจนต้องล็อกดาวน์กันเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ก็ต้องทำใจกันอีกครั้งว่าตลาดอาจจะเกิดการชะลอ และยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ จะส่งผลรุนแรงกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยมากน้อยเพียงใด
ก็ขอภาวนาให้ชาวไทยการ์ดสูงกันเหมือนเดิม เพื่อช่วยลดวามเสี่ยงของโควิด-19 ไปพร้อม ๆ กัน เพราะรถยนต์รุ่นใหม่ยังรอเปิดตัวอีกเพียบในปีหน้า ใครที่กำเงินรอซื้อรถอยู่ก็เตรียมช็อปปิ้งกันได้อย่างสบายใจ ส่วนใครคิดว่าไม่รีบ อยากเก็บเงินต่อไปอีกนิดก็ไม่ได้ผิดกติกาเหมือนกัน!!!