รถกระบะรุ่นท็อปในไทย มีราคาทะลุล้านบาทเข้าไปแล้ว ทำให้การซื้อต้องใช้ความละเอียดในการเลือกมากตามราคารถ เพื่อให้ได้รถที่ตรงกับการใช้งานของเรามากที่สุด คอลัมน์วันนี้จะมุ่งตรงเข้าสู่ประเด็นระหว่างรถกระบะ 2 รุ่นดังนี้ Isuzu D-Max VS Mitsubishi Triton ที่เป็นตัวท็อปทั้งคู่
ใหม่กว่าย่อมดีกว่ารึเปล่า?
2019 Mitsubishi Triton (มิตซูบิชิ ไทรทัน) เป็นเจเนเรชั่นที่ 2 ของไทรทัน ออกขายตั้งแต่ปี 2014 แล้วถูกปรับปรุงหน้าตาในปี 2019 นับว่ามีอายุของรุ่นรถเก่ากว่า Isuzu D-Max V-Cross (อีซูซุ ดี-แมกซ์ วี-ครอส) ที่เปิดตัวโฉมใหม่หมดจรดในปี 2020 ล่าสุดนี้ ในเมื่ออายุต่างกันขนาดนี้ หลายคนคิดว่าของใหม่ย่อมดีกว่าเก่า จริงหรือไม่ วันนี้มาลองขับให้รู้กัน
ราคาตัวท็อปสูสี
- Mitsubishi Triton Double Cab 4WD 2.4 GT Premium : 1,109,000 บาท
- Isuzu D-Max V-Cross 4x4 3.0 Ddi A/T 4-door : 1,157,000 บาท
2019 Mitsubishi Triton
โฉมไมเนอร์เชนจ์เมื่อปีที่แล้ว มีเอกลักษณ์ด้านหน้าแบบ Dynamic Shield ใหม่ที่ทำให้รถดูไม่ตกยุค ยังมีไฟหน้า LED กับเดย์ไลท์ที่ครบเครื่อง ไฟท้ายทรงใหม่ ทุ่มทุนสร้างเปลี่ยนเปลือกตัวถังทั้งหัวและท้ายจนไม่เหลือเค้าเดิม โดยรวมกับทรงเหลี่ยมสันมากที่สุดในรถกระบะยุคนี้ ถ้าใครชอบดีไซน์แนวเรขาคณิต ก็ไม่มีเหตุผลที่จะเมินรุ่นนี้เลย
คอนโซลด้านในก็เปลี่ยนใหม่หลายชิ้น พวงมาลัย 4 ก้านทรงสอดคล้องกับ Dynamic Shield ภายนอก สิ่งที่ชอบมากของฟังก์ชั่นภายในคือ ช่องแอร์เพดานตอนหลัง ที่แยกส่วนซ้ายขวาเสร็จสรรพ พร้อมกับมีบานพับปรับทิศทางลมได้
เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ 2.4 ลิตร เทอร์โบ ให้กำลัง 181 แรงม้า ที่ 3,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 430 นิวตัน-เมตร ที่ 2,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดแบบ Gate Type แบบขั้นบันไดที่ดูไฮโซและปลอดภัยจากการเข้าเกียร์ผิด ส่วนระบบขับเคลื่อนเป็น 4 ล้อ
2020 Isuzu D-Max 3.0 4x4
2020 อีซูซุ ดีแมคซ์ เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว นับเป็นรุ่นปี 2020 ด้วยการเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน ตั้งแต่เปลือกนอก จนถึงโครงสร้างแชสซีส์ที่เน้นการขับขี่มากขึ้น พร้อมใส่นวัตกรรมใหม่ ๆ มากมายที่ใส่เข้ามาในรถ โดยเฉพาะรุ่น V-cross นี้ที่ให้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย กับหน้าตาที่แยกออกมาจากรุ่นกระบะทริมล่าง เพื่อให้คนจ่ายเงินระดับ 1 ล้านบาทรู้สึกถึงความแตกต่างจากรถกระบะขนของทั่วไป
ภายในดีแมคซ์นั้นออกแบบห้องโดยสารสไตล์เหลี่ยม เล่นรูปทรง 6 เหลี่ยมรับกับกระจังหน้าเช่นเดียวกับไทรทัน ใช้สีตกแต่งโทนสีน้ำตาลเข้ม มีการบุนวมนุ่มมากกว่ารุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง แต่เป็นช่องแอร์ที่ตรงกลาง ที่ทำความเย็นสะใจสู้แอร์เพดานแบบไทรทันไม่ได้
เครื่องยนต์ 4JJ3-TCX มาทำการปรับปรุงใหม่ แบบดีเซลขนาด 3.0 ลิตร เทอร์โบ ให้กำลังสูงสุดที่ 190 แรงม้าที่ 3,600 รอบต่อนาที พร้อมแรงบิดสูงสุดที่ 450 นิวตันเมตรที่ 1,600-2,600 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ขับเคลื่อน 4 ล้อเช่นเดียวกับไทรทัน
ชอบความแรง เลือก Triton
เมื่อได้ลองขับจริงแล้วในตอนแรกขึ้นควบ Isuzu D-Max พบว่ายังมีฟิลลิ่งความแรงเหมือนรุ่นเดิม ทั้งการเร่งออกตัว และการแซง เทอร์โบติดแล้วก็ให้แรงฉุดลากต่อเนื่องดี พอกลับลงมาขับ Mitsubishi Triton ที่มีเครื่องเล็กกว่า ม้าน้อยกว่า แต่เมื่อขับแล้วกลับเร่งขึ้นได้แรงอย่างโดดออกทันทีที่คันเร่งแตะพื้น หรือจะไล่น้ำหนักกดคันเร่งลงไปจมพื้น ก็มีความเร็วเพิ่มขึ้นอย่างรู้สึกได้
สาเหตุความพุ่งของ Triton น่าจะเป็นเพราะน้ำหนักตัวเบากว่าประมาณ 50 กก. และมีอัตราทดเกียร์ช่วงต้นที่จัดจ้านกว่า ทำให้เครื่องแรงน้อย แต่ทดเฟืองให้ล้อหมุนได้พริ้วกว่าอย่างรู้สึกได้ แต่ต้องแลกกับอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13 กม./ลิตร ส่วนทางอีซูซุ ประหยัดข้นมานิดหน่อยได้ที่ 13.5 กม./ลิตร ตามหน้าปัดคำนวนให้
ชอบความหนึบ เลือก D-Max
แม้ความแรงจะสู้รุ่นเก่าไม่ได้ แต่ดีแมกซ์ก็ไม่ทำให้เราถอนคันเร่งตอนเจอโค้ง สามารถยัดโค้งก้นหอยขึ้นทางด่วนได้ที่ความเร็วประมาณ 80 กม./ชม. ได้อย่างสบายๆ ด้วยความที่แหนบด้านหลังมีความดีดดิ้นน้อย ทำให้เกิดการซับแรงใกล้เคียงกับปีกนกหน้ามากขึ้น ดังนั้นแรงเหวี่ยงและกระชากด้านข้าง จึงซับได้อย่างสมมดุลกว่า Triton ที่มีแหนบแข็งดีดเด้งกว่า ทำให้ช่วงล่างหน้าหลังมีการซับแรงแตกต่างกันเกินไป เกิดความไม่สมดุลย์เมื่อมีแรงกระทำด้านข้าง
ส่วนการโดยสารในทางตรง เพื่อพิสูจน์ความนิ่ม ก็พบว่าไทรทันมีช่วงล่างหน้านิ่มกว่า แต่แหนบหลังไทรทันกลับแข็งกว่า เหมือนว่าทำออกมาเน้นบรรทุกหนักอยู่ ในขณะที่แหนบหลังของ D-Max มีการซับแรงในทางตรงได้เยอะกว่า ส่วนช่วงล่างหน้าอาจจะนิ่มไม่เท่าไทรทัน แต่ก็จัดอยู่ในระดับพอใช้ไม่ขี้เหร่
คุณกัสคาดการณ์: รุ่นเก่าเก๋มเกม แต่เลือกรุ่นใหม่ดีกว่า
การจะตัดสินใจเลือกระหว่าง 2 รุ่นนี้ ยังไม่ได้มีแค่ความแรงและความหนึบเท่านั้น ยังต้องดูวัสดุงานประกอบ ระบบความปลอดภัย ซึ่งเราขอเลือกมาทางอีซูซุ แม้ว่าดีแมกซ์ยังขาดกล้องรอบทิศทาง และระบบเตือนการชนด้านหน้า อย่างที่ไทรทันให้มาครบ แต่เรายังเลือก D-Max เนื่องจากรสนิยมส่วนตัวของผู้เขียนที่ชอบกระบะหนึบ มากกว่ากระบะแรงนั่นเอง หากใครมีความชอบสวนทางกับบทความนี้ ก็เลือกซื้อTriton ได้โดยไม่ต้องลังเลได้เลยครับ
ตารางเปรียบเทียบข้อมูลทางเทคนิค |
|
Mitsubishi Triton |
Isuzu D-Max V-Cross |
กว้าง (มิลลิเมตร) |
1,815 |
1,870 |
ยาว (มิลลิเมตร) |
5,300 |
5,265 |
สูง (มิลลิเมตร) |
1,795 |
1,810 |
เครื่องยนต์ |
4N15 VG-Turbo |
4JJ3-TCX |
ปริมาตรกระบอกสูบ (ซีซี.) |
2,442 |
2,999 |
กำลังสูงสุด (แรงม้า/รอบต่อนาที) |
181/3,500 |
190/3,600 |
แรงบิดสูงสุด (นิวตันเมตร/รอบต่อนาที) |
430/2,500 |
450/1,600-2,600 |
ระบบส่งกำลัง |
อัตโนมัติ 6 จังหวะ |
อัตโนมัติ 6 จังหวะ |
ระบบขับเคลื่อน |
Super Select II |
Terrain Command |
ความจุถังน้ำมัน (ลิตร) |
75 |
76 |
ราคาจำหน่าย (ล้านบาท) |
1.146 |
1.157 |