Honda ประกาศยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในชื่อ Prologue (ฮอนด้า โปรล็อก) เตรียมเผยโฉมครั้งแรกในปี 2023 และออกจำหน่ายจริงต้นปี 2024
ค่ายรถยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นคอนเฟิร์มด้วยว่า นอกจาก Prologue แล้วยังจะมีรถยนต์ไฟฟ้าอีก 1 โมเดลที่ยังไม่มีการยืนยันชื่อรุ่นออกจำหน่ายภายใต้แบรนด์หรู Acura สู่ตลาดสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันอีกด้วย
คำว่า Prologue แปลว่า “การอารัมภบท” หรือ “โหมโรง” บ่งชี้ชัดเจนว่า Honda ยังมีรถยนต์ไฟฟ้าอีกหลายรุ่นเตรียมทยอยเปิดตัวตามมาอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าและหลังจากปี 2025 เป็นต้นไปจะเข้าสู่ยุคของรถอีวีอย่างเต็มตัว
เผยข้อมูลเบื้องต้นของ Honda Prologue
Honda Prologue จะเป็นรถเอสยูวีไฟฟ้ารุ่นแรกของค่ายรถจากแดนปลาดิบในตลาดสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแบบลงรายละเอียด แต่มีรายงานว่าจะมีการนำเสนอสเปกบางส่วนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
รถเอสยูวีไฟฟ้า Prologue จะพัฒนาบนแพลตฟอร์ม EV แบบโมดูลาร์เทคโนโลยีของ General Motors หรือ GM ขณะที่รูปลักษณ์ภายนอกและการออกแบบภายในจะดำเนินการโดย Honda ที่มีรายงานว่าจะใช้เอกลักษณ์การออกแบบใหม่หมดจดด้วย
นอกจากการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า Honda ระบุด้วยว่าจะนำเสนอระบบไฮบริดอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างเครื่องยนต์สันดาปสู่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า 100% เพราะพวกเขาเชื่อว่าถ้าลูกค้ามีประสบการณ์ใช้งานรถไฮบริดที่ดีก็จะเต็มใจที่จะซื้อรถอีวีเป็นลำดับต่อไป
“กลยุทธ์ของเราคือการนำเสนอรถยนต์ไฮบริดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะเวลาอันสั้น เพื่อนำไปสู่การเปิดตัวจำหน่าย Prologue ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า” เดฟ การ์ดเนอร์ รองประธานบริหาร American Honda กล่าว
การ์ดเนอร์เปิดเผยด้วยว่า เป้าหมายยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า Prologue จะอยู่ระหว่าง 40,000 - 150,000 คันต่อปี แต่เขาไม่ได้ระบุช่วงเวลาแต่อย่างใด
นอกจากรถยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนาบนแพลตฟอร์ม EV ของ GM แล้ว Honda ยังมีแผนการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าบนโครงสร้าง Honda e-Architecture ของตนเองอีกด้วย เพื่อเป้าหมายการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าให้มีสัดส่วน 40% ของยอดขายทั้งหมดภายในปี 2030 ก่อนจะเพิ่มเป็น 80% และ 100% ในปี 2035 และ 2040 ตามลำดับ
ไฮไลท์ของ Honda Prologue คือแบตเตอรี่รุ่นใหม่
แบตเตอรี่อัลเธียม (Ultium) เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาโดย GM มีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างจากแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนหรือนิกเกิ้ลเมทัลไฮดรายที่ Tesla และ Toyota ใช้อยู่ เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่า รองรับการติดตั้งทั้งแบบแนวตั้งและแนวนอน เปิดโอกาสให้วิศวกรสามารถปรับขนาดความจุแบตเตอรี่และการวางเลย์เอาท์ในตัวรถได้ง่ายขึ้น
การออกแบบตัวแบตเตอรี่ให้มีขนาดใหญ่หมายถึงการลดจำนวนเซลส์แบตเตอรี่ลง ทำให้มีน้ำหนักลดลง มีจำนวนสายไฟน้อยลง ซับซ้อนน้อยกว่า และยังลดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย
ความจุของแบตเตอรี่อัลเธียมมีตั้งแต่ 50 – 200 กิโลวัตต์ชั่วโมง รองรับการขับขี่ได้ตั้งแต่ 400 ไมล์หรือประมาณ 640 กม. เป็นต้นไปต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง แถมยังสามารถทำอัตราเร่ง 0-96 กม.ต่อชม. ได้ภายใน 3 วินาทีอีกด้วย
มอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้กับแบตเตอรี่อัลเธียมติดตั้งได้ในรถขับเคลื่อนล้อหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง ขับเคลื่อน 4 ล้อ และขับเคลื่อน 4 ล้อแบบสมรรถนะสูง
อัลเธียมยังถูกออกแบบให้รองรับการชาร์จไฟเร็ว DC แบบ 200 กิโลวัตต์ในรถยนต์นั่งทั่วไป และ 350 กิโลวัตต์ในรถกระบะหรือรถเอสยูวีขนาดใหญ่ที่มีชุดแบตเตอรี่แบบ 800 โวลต์