ถ้านับย้อนหลังในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หากถามว่าค่ายรถยนต์ค่ายไหนที่เข้ามาใหม่ และสร้างสีสันให้กับตลาดรถยนต์เมืองไทยมากที่สุด แน่นอนว่าคงไม่มีใครปฏิเสธว่า คำตอบนั้นก็น่าจะเป็นน้องใหม่ลูกครึ่งอังกฤษ-จีนอย่าง MG (เอ็มจี) ที่เข้ามาในประเทศไทยนับเบ็ดเสร็จได้ประมาณ 7 ปีพอดี หากนับถึงปีปัจจุบัน
แม้ว่าพวกเขาจะลงทุนเปิดโรงงานเพื่อสร้างความมั่นใจในประเทศไทย เปิดสายการผลิตอย่างเป็นทางการ และมีการตั้งตัวแทนจำหน่ายมากมายเพื่อที่จะดูแลลูกค้าทั่วประเทศ แต่การเดินทางของพวกเขาในช่วงแรกนั้น เต็มไปด้วยคำสบประมาทและการปรามาสทั้งจากลูกค้าและคู่แข่ง ว่าพวกเขาจะอยู่รอดในประเทศไทยได้หรือไม่
หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน พันธมิตรของยักษ์ใหญ่มากมายในโลก มาในเมืองไทยพร้อมคำถามติดตลก ตกลงเป็นรถอังกฤษหรือรถจีน จะอยู่นานไหม จะสู้ไหวหรือเปล่า จะรอดหรอ... ยอมรับกันเถอะน่าว่าคำถามพวกนี้ก็เคยอยู่ในหัวของพวกเราทุกคน แม้แต่ผมเองในตอนแรกก็แอบหวั่น ๆ ใจอยู่เอาเรื่อง
นับตั้งแต่การเปิดตัว MG6 (เอ็มจี6) ในปี 2014 พร้อมยอดขายปีแรกที่ 204 คัน ที่มีคนกระแซะว่าขายกันเองในองค์กรก็เกินครึ่งแล้ว เอ็มจีไต่เต้ามาเรื่อย ๆ จนมายอดขายระดับ 2 หมื่นคันในปี 2018 และเติบโตมาเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ด้วยกลยุทธ์ด้านราคาที่ผูกกับการนำเสนอสินค้าที่น่าสนใจให้กับผู้บริโภคชาวไทยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
และมาถึงตอนนี้ ไม่ว่าเราจะเคยรู้สึกอะไรกับแบรนด์นี้มาก่อน ก็ต้องไม่ปฏิเสธว่าพวกเขานั้นมีอนาคตที่สดใสพอสมควรสำหรับตลาดในประเทศไทย และการเริ่มปรับฐานการผลิตในประเทศไทยให้สามารถส่งออกได้ และการแนะนำสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้พวกเขานั้นดูน่าสนใจมากขึ้นจริง ๆ นะ ในปัจจุบันนี้
การเติบโตบบนพื้นฐานของการโดนมองผ่าน
เอ็มจีนั้นเคยเป็นแบรนด์รถยนต์ที่มีผู้บริหารค่ายรถบางแห่งใช้คำว่า 'รถจีน แข่งขันไม่ได้หรอก' เมื่อมีการถามว่าค่ายรถยักษ์ใหญ่จากแดนมังกรกำลังจะเข้ามาบุกตลาดในประเทศไทย ท่ามกลางการพ่ายแพ้ของแบรนด์รถยนต์ขนาดเล็ก ที่เริ่มทยอยปิดตัวไปจากประเทศไทยหลายราย รวมถึงแบรนด์จีนที่ทำตลาดก่อนหน้านั้นก็เช่นกัน
ในฟากผู้บริหารที่มานั่งประจำการณ์อยู่นั้น ไม่มีใครรู้จักจาง ไห่โป โอเคล่ะว่าอาจจะรู้จักเจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ ที่ช่วงนั้นมีชื่อไปพัวพันกับแคนดิเดตรมว.อุตสาหกรรมอยู่บ้าง รวมถึง ธนากร เสรีบุรี ก็เป็นที่รู้จักกันอยู่จากความพยายามบุกตลาดรถจักรยานยนต์จากจีนของซีพีหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีใครเป็นบิ๊กเนมของอุตสาหกรรม
ผู้บริหารที่ไปร่วมทีมแล้วเป็นที่รู้จักกันจริง ๆ ก็คือ พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ อดีตผู้บริหารเก่าจากค่ายใหญ่ ที่ในช่วงนั้นก็มีปัญหากับค่ายเดิมในเรื่องของการดูแลลูกค้าอยู่พอดี เรียกว่าอะไรมันก็ไม่ค่อยจะเป็นใจเท่าไหร่ พร้อมที่จะก่อให้เกิดกระแสการมองข้ามได้ทุกที่ และเอ็มจีก็โดนกระแสนั้นอยู่นานนับตั้งแต่เปิดตัวโรงงาน
เมื่อเปิดโรงงานได้และเปิดสายการผลิตเอ็มจี6 เป็นรุ่นแรก พวกเขาก็เจอดราม่าการดูดพนักงานข้ามบริษัทจากโรงงานฝั่งตรงข้ามไปอีก เรียกว่าขยับตัวทีไรมีประเด็นได้ตลอด จนกระทั่งสินค้าตัวแรกออกมา พร้อมการตั้งราคาแบบไม่เกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น เอ็มจีก็ได้รับบทเรียนแรกไปด้วยยอดขายที่น้อยริบหรี่จนน่าตกใจ
จะเห็นได้ว่าการเข้ามาเปิดตลาดปีแรกของพวกเขานั้นไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบเอาเสียเลย แต่ด้วยเม็ดเงินมหาศาลที่ลงทุนเข้ามาในประเทศไทย พร้อมด้วยการแพ้ไม่ได้ของเอสเอไอซี ในการผลักดันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกตามแผนที่วางไว้ พวกเขาก็เลยต้องเดินหน้าต่อกันอีกสักตั้ง
เริ่มแข่งด้วยความแปลกและความคุ้มค่า
บทเรียนราคาแพงที่แลกมาด้วยการตั้งราคาจำหน่ายรถที่คนทั่วไปมองว่า 'แพงเกินไป' น่าจะเป็นเรื่องแรกที่เอ็มจีเรียนรู้ เพราะผู้บริหารเอ็มจีหลายคนก็ออกมายอมรับว่ามันผิดพลาดไปจริง ๆ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะมันผ่านไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือการเก็บเอาประสบการณ์ทั้งหมดไปเดินหน้าทำสิ่งที่ดีกว่าออกมาอีกครั้ง
จริง ๆ แล้วถามว่าเอ็มจี6 นั้นก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนะ จริงอยู่ว่ามันไม่ได้ขับดีมาก แต่ก็เป็นหนึ่งในศูนย์รวมเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีค่ายรถรายไหนให้มาก่อน เครื่องยนต์นั้นเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบ รุ่นท็อปมีซันรูฟมาให้ในเซกเมนต์นี้ แถมยังให้ระบบรักษาความปลอดภัยระดับสูงมากมายติดตั้งมาอย่างเหลือเชื่อ
เมื่อบอกว่ารถยนต์ของพวกเขาแพงไป ปีถัดไปที่มีการพัฒนาสินค้า เอ็มจีได้ทำการติดตั้งระบบเทเลมาติกให้กับรถของพวกเขา พร้อม ๆ กับการเปิดตัว MG3 (เอ็มจี3) รุ่นแรก ที่มาพร้อมตัวถังสีทูโทนสุดน่ารัก แต่ดันมาตกม้าตายเอาง่าย ๆ ด้วยเกียร์เซเลสปีด ที่ใช้งานยากมาก ทำให้ยอดขายนั้นไม่พุ่งไปเท่าที่ควรแม้จะทำราคามาดีงามมากขึ้น
ต่อด้วยการเลือกใช้เครื่องยนต์เทอร์โบให้กับ MG5 (เอ็มจี5) รถยนต์นั่งขนาดเล็กเป็นครั้งแรก ที่โดนติอยู่ดีว่าหน้าตาไม่โดนใจ แม้จะมองอย่างเป็นธรรมว่าตัวคูเป้ก็ดูสวยไม่หยอก เรียกว่าภายใน 1 ปี พวกเขามีรถยนต์ทำตลาด 3 รุ่น พร้อมด้วยการจัดโมบาย เซอร์วิสและบริการช่วยเหลือ 24 ชั่วโมงให้กับลูกค้าที่ซื้อรถของบริษัททุกคัน
จากนั้นพวกเขาก็เริ่มจับกระแสของตลาดได้ด้วยการกระโจนเข้าไปเล่นในกลุ่มเอสยูวี ที่มาพร้อมเครื่องยนต์เทอร์โบ และเมื่อลูกค้าอยากได้สมรรถนะ ก็จัดไปกับ MG GS (เอ็มจี จีเอส) ที่วิ่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในเวลา 8.2 วินาที ก่อนจะมีเครื่องยนต์เทอร์โบตัวเล็กตามออกมา แต่ก็ยอดขายไม่วิ่งเท่าไรนัก
การเปลี่ยนแปลงตัวเองที่รวดเร็วของพวกเขานั้นถือว่าดีมาก อะไรที่ไม่ใช่หรือขายไม่ดี พวกเขาพร้อมปรับตัวตลอด จะเห็นว่ารถทั้งหมดที่เราเอ่ยชื่อมาก่อนหน้านี้ แทบจะกลายเป็นอดีตสินค้าของบริษัทไปแล้วทั้งหมด และปี 2017 เอ็มจีก็เริ่มลุยด้วยความพร้อมในการศึกษาตลาดมา 3 ปี กับสินค้าที่มีชื่อว่า MG ZS (เอ็มจี แซดเอส)
เอสยูวีเล็กที่ราคา 7 แสนบาทคันนั้นไงล่ะ
เพราะเอ็มจีเรียนรู้มาจากประสบการณ์แล้วว่า การทำราคาจำหน่ายที่โดนใจจะเรียกลูกค้าเข้ามาดูรถของพวกเขาได้ ในช่วงนั้น รถเอ็มจีที่ขายดีที่สุดคือ 3 ที่แม้จะโดนบ่นว่าใช้งานยาก แต่มันน่ารักและราคาดีนี่หน่า ผู้บริโภคหลายราย ยอมเรียนรู้ที่จะจัดการชีวิตกับเกียร์ที่ใช้งานยาก ๆ คันนั้น แต่ซื้อรถคันนี้ล่ะ ใครจะทำไม
แซดเอสนั้นถูกเปิดตัวด้วยเงื่อนไขที่ลงตัวและเหมาะเจาะ หนึ่ง ตลาดเอสยูวี/ครอสโอเวอร์กำลังเป็นที่ต้องการ สอง ราคาจำหน่ายประมาณ 7 แสนบาท พอพอกับรถยนต์นั่งขนาดเล็กถึงกลางเลย และสาม ใส่ของเล่นเข้ามาเยอะ ๆ เอาใจลูกค้าชาวไทยที่อาจจะไม่ได้ใช้ด้วยซ้ำ แต่ขอมีระบบไอ-สมาร์ทติดตั้งเอาไว้ก่อน
แต่เมื่อมันเป็นระบบใหม่ ที่มาพร้อมกับบริษัทที่ใหม่เหมือนกัน ลูกค้าหลายคนตั้งคำถามทันทีว่ามันจะดีไหม เสถียรไหม ปลอดภัยหรือเปล่า ใช้งานได้จริงไหม กว่าเอ็มจีจะตอบคำถามและลูกค้าเลือกซื้อก็ผ่านไปนานแสนนาน ยอดขายของปี 2017 ก็ยังไม่กระเตื้องเท่าไร แล้วจะทำอย่างไรดีไปกว่าการไมเนอร์เชนจ์รถที่ขายดีที่สุดซะเลย
เอ็มจี3 ที่เปิดตัวในปีถัดมา เลยมาพร้อมหน้าตาแบบใหม่ สดใสไฉไลมากขึ้น เลือกเปลี่ยนเกียร์มาใช้เกียร์อัตโนมัติแบบธรรมดา บนเครื่องยนต์ที่สมรรถนะสูงขึ้น สนนราคาไม่ต่างจากตัวเดิมเท่าไร และที่สำคัญ พวกเขาติดตั้งไอ-สมาร์ท ที่มีฟังชันส์ลดน้อยลง มาเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าในการได้ทดลองใช้กันเสียเลย
ผลก็คือ เมื่อลูกค้าเริ่มมั่นใจและไว้ใจ แถมมีสินค้าหน้าตาดี ราคาเหมาะสม ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่ถ้าไม่จ่ายแพงเกินไป คุ้มค่า ก็น่าเสี่ยง ยอดขายรถยนต์ของเอ็มจีในประเทศไทย เติบโตถึงหลัก 2 หมื่นคันเป็นครั้งแรกในปี 2018 ที่พวกเขามียอดจำหน่ายสะสม 23,740 คัน พลิกสถานะจากค่ายรถโนเนมเป็นซัมวันในท้องตลาด
หาตลาดใหม่ เพื่อสร้างฐานลูกค้าและชื่อของตัวเอง
เมื่อสามารถลงหลักปักฐานในตลาดเอสยูวีและรถยนต์นั่งขนาดเล็กได้แล้ว พวกเขาก็พยายามหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าของตัวเอง และเราจะบอกหรอกว่า MG V80 (เอ็มจี วี80) รถตู้ร่างใหญ่ที่พวกเขาเลือกทำตลาดแทนเอ็มพีวี 11 ที่นั่งที่เอามาทดลองตลาดตั้งนาน จะเรียกได้ว่าความสำเร็จของบริษัทในประเทศไทย
แต่ก็เป็นเหมือนเดิม เมื่อขายไม่ได้ก็แอบเฟดออกไปจากตลาดเงียบ ๆ และเอ็มจีก็เดินหน้าหาลูกค้ากลุุ่มใหม่ที่ต้องการเทคโนโลยีระดับสูง เมื่อประเทศจีนเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเขามีสินค้าในมืออย่าง MG ZS EV (เอ็มจี แซดเอส อีวี) อยู่แล้ว ทำไมจะไม่ลองเอาเข้ามาสร้างสีสันกันเสียหน่อยเล่า
1.19 ล้านบาท คือค่าตัวของรถยนต์นำเข้าไฟฟ้าแบบสำเร็จรูป ที่กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาจำหน่ายถูกที่สุดในประเทศไทย ถามว่ายอดขายมากไหม ตอบเลยว่าไม่ แม้จะเป็นผู้นำตลาดเซกเมนต์นี้ แต่สิ่งที่เอ็มจีได้กลับไปเต็ม ๆ ก็คือชื่อเสียงและการเป็นที่รู้จักในการกล้าทำตลาดที่ค่ายรถอื่นไม่กล้าทำต่างหาก
เอ็มจียังเดินหน้าต่อด้วยการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเพื่อการผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดในประเทศไทย และก็เป็นค่ายรถรายแรกที่ส่งรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดอย่าง MG HS PHEV (เอ็มจี เอชเอส พีเอชอีวี) ออกมาทำตลาดตัดหน้าคู่แข่งรายใหญ่ ต่อยอดจากที่ส่งเอสยูวีใหญ่อย่าง MG HS (เอ็มจี เอชเอส) ออกมาก่อนหน้านี้
หรือแม้แต่ในตลาดรถปิกอัพที่มีส่วนแบ่งมากที่สุดในประเทศไทย พวกเขาก็ยังร่วมวงด้วยการเปิดตัว MG Extender (เอ็มจี เอ็กซ์เทนเดอร์) ที่มาพร้อมจุดขายความฉลาดของตัวรถ ที่มาบนตัวถังขนาดใหญ่ และพื้นที่การบรรทุกสินค้าที่เหนือกว่าใครในท้องตลาด ซึ่งตอนนี้มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการอัดแคมเปญของแบรนด์
มองในมุมของผมเอง ถ้าเอ็มจียอมแพ้ไปตั้งแต่วันที่รถยนต์นั่งกลุ่มแรก ๆ ของพวกเขานั้นขายไม่ดี ในวันนี้เราอาจจะไม่ได้เห็นรถเอสยูวีของเอ็มจีทั้ง 2 รุ่นวิ่งกันอยู่เต็มถนนไปหมด และเชื่อเถอะว่าเดี๋ยวพวกเขาก็จะทำพลาดอะไรกับสินค้าใหม่ ๆ อีก แล้วมันก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะทุกคนก็มีพลาดกันทั้งนั้น
ก้าวต่อไปของค่ายรถอายุงานเกือบ 7 ปี
ช่วงนี้ผมได้ยืนคุยกับผู้บริหารเอ็มจีหลายต่อหลายคนหลายครั้ง มีประโยคเด็ดมากมายที่เกิดขึ้น เอ็มจีนั้นมองว่าตัวเองเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมยานยนต์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย พวกเขานั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยหลายครั้ง เช่น ตัวถังสีทูโทน หรือระบบคอนเนคต์กับผู้ขับขี่ พวกเขานำโด่งมาก่อน
หรือแม้แต่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและตลาดรถยนต์กึ่งไฟฟ้า พวกเขานั้นก็เริ่มก่อนชาวบ้านชาวช่องเช่นเดียวกัน ปัญหาหลาย ๆ อย่างในอดีตเริ่มได้รับการแก้ไข เช่น เรื่องของตัวแทนจำหน่ายที่เคยมีการระบุว่าพวกเขาให้โอกาสเกรย์มาร์เก็ตเข้ามามากเกินไป ในวันนี้ก็เริ่มชัดเจนว่ามีดีลเลอร์ที่จริงใจเหลืออยู่กี่รายที่พร้อมเดินหน้าไปกับองค์กรต่อ
นอกจากนี้ เอ็มจีเองยังเชื่อมั่นว่าการวางระดับราคาสินค้าของพวกเขานั้น เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยไม่ต้องจ่ายค่าตัวรถยนต์ในอัตราที่สูงกว่าในปัจจุบัน เพราะอย่างน้อย ในหลายเซกเมนต์เมื่อมองมา ก็จะเห็นรถยนต์ของเอ็มจี ยึดตำแหน่งราคาต่ำสุดของเซกเมนต์เอาไว้อย่างเหนียวแน่น แบบที่ของเล่นไม่เป็นรองใคร
"ที่ผ่านมา 6 ปี เราได้พิสูจน์แล้วว่าเราสามารถพัฒนาสินค้า บริการและการวางตำแหน่งราคาที่เหมาะสมกับลูกค้า และลูกค้าเองก็ให้การยอมรับในสินค้าที่เรานำเสนอ ทำให้เรามีลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่อีกเป้าหมายเราก็คือ ตอนนี้ลูกค้าใช้รถเรามา 6 ปีแล้ว ทำอย่างไร หากพวกเขาอยากเปลี่ยนรถ แล้วจะยังใช้รถของเอ็มจีต่อไป นั่นคือสิ่งที่เราอยากเห็น"
เหมือนจะเป็นคำถามง่าย ๆ ที่ดูไม่ค่อยมีความท้าทายเท่าไร แต่หากมองย้อนหลังกลับไปในวันเริ่มต้นบริษัท และบอกว่าพวกเขาจะขึ้นเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีก็ดี ด้านการวางราคาก็ดี หรือการนำสินค้าเซกเมนต์ใหม่ ๆ มาก็ดี เชื่อเถอะว่าถ้าพูดแบบนี้ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เราคงหัวเราะเยาะใส่หน้าคนที่คิดจะพูดประโยคนี้แน่นอน
และเอ็มจีนี่ล่ะ ที่เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้มีค่ายรถใหม่ ๆ ที่อยากเข้าเมืองไทยมากขึ้น เพราะมองว่าคนไทยนั้น พร้อมให้โอกาสแบรนด์ที่ดี มุ่งมั่น และพร้อมดูแลพวกเราเสมอ!!!